เปลี่ยน…ให้ทันโลก คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

หลังยึดแชมป์เจ้าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือมาอย่างยาวนาน ในจังหวะเดียวกับที่ตลาดเริ่มเข้าสู่จุดที่เรียกได้ว่าอิ่มตัว “เอไอเอส” จึงต้องมองหาหนทางสร้างการเติบโตใหม่ เพื่อปูทางสำหรับอนาคต และรักษาที่ทางในฐานะผู้นำไว้ให้ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การรักษาตำแหน่งไม่ง่าย และไม่มีทางลัด อันนำไปสู่การประกาศวิสัยทัศน์ของ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” แม่ทัพ “เอไอเอส” เมื่อ 3 ปีก่อนที่บอกว่าจะขับเคลื่อนองค์กรจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปสู่ “ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส โพรไวเดอร์” พร้อมทั้งจะร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพัฒนาบริการร่วมกัน

ใน 4 ด้าน ตั้งแต่แพลตฟอร์มวิดีโอ, แพลตฟอร์มคลาวด์, แพลตฟอร์มโมบายมันนี่ และแพลตฟอร์มไอโอที (Internet of Things) เพื่อสร้างให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันในการผลักดันธุรกิจให้เติบโต และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

ครั้งนั้น “สมชัย” ระบุว่า “เอไอเอสขอประกาศตัวเป็นปลาใหญ่ที่จะนำพาปลาเล็กๆ ว่ายฝ่าคลื่น ?ดิจิทัล? นี้ไปให้ได้เพื่อสร้างการเติบโตไปในน่านน้ำใหม่ ๆ ด้วยกัน”

Advertisement

ล่าสุดถึงเวลาเปิดเกมรุกกับกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจบ้าง โดยประกาศว่าจะนำสิ่งที่ตนเองมีทั้งในแง่โครงข่าย, เทคโนโลยี และบุคลากรในเครือ ไม่ว่าจะเป็น CS Loxinfo, Teleinfo Media, Rabbit Line Pay และอื่นๆ รวมเข้ากับพันธมิตรด้านไอที อาทิ Microsoft, G-ABLE, SAP, VMware ฯลฯ เพื่อให้สามารถให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มและโซลูชั่นส์ต่างๆ ได้อย่างครบวงจร

ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่จัดหาอุปกรณ์, แพลตฟอร์ม, การออกแบบซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น

เรียกว่าพร้อมสนับสนุนองค์กรธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ให้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” ที่ถาโถมเข้ามาทุกทิศทุกทาง

“ในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่จาก Digital Disruption ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในวิถีชีวิตและกับทุกอุตสาหกรรม ซึ่งในแง่ขององค์กรนี่คือโอกาสใหม่ครั้งสำคัญที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง Transform องค์กรไปสู่ Innovation Organization”

เป็นการขยับขยายสยายอาณาจักรธุรกิจจากที่เคยปักหลักอยู่กับลูกค้าทั่วไปมายาว มายังกลุ่มองค์กรบ้าง โดยเฉพาะองค์กรขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ “เอไอเอส” เองด้วย

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น “เอไอเอส” มองว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องทำเปลี่ยนแปลงใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรใน 3 ส่วน ตั้งแต่ปรับกระบวนการทำงานหลัก, รูปแบบช่องทางการส่งมอบบริการให้ลูกค้า และการคิดค้นขยายองค์กรไปสู่รูปแบบบริการหรือธุรกิจใหม่ๆ โดยทุกสิ่งจะต้องเข้าสู่โหมด “ดิจิทัล”

และ 2.การยกระดับและให้ความสำคัญกับกระบวนการต่างๆ เพื่อลูกค้า ทั้งเข้าใจ และรู้จัก “ลูกค้า” อย่างลึกซึ้ง ผ่าน “บิ๊กดาต้า” และการสร้างนวัตกรรมด้วยความรวดเร็ว

“ที่ผ่านมา เอไอเอสปรับองค์กรไปสู่การเป็น Digital Life Service Provider ทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็น Digital Infrastructure, Digital Service และ Culture Transformation ทำให้มีความพร้อมที่จะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรทุกกลุ่ม ในทุกอุตสาหกรรมด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้าน ICT เพื่อองค์กรครบวงจร”

ทั้งหมดจะทำภายใต้แบรนด์ “AIS Business”

“ในอดีต 100 ปีที่แล้ว ใครมีโรงงานที่แข็งแรงเป็นผู้นำโลกได้ 70 ปีก่อน ถ้ามีระบบจัดการและการบริหารที่ดี เป็นผู้นำในโลกได้ แต่ตอนนี้ใครมีแพลตฟอร์มที่ดีจะครองโลก เช่น อาลีบาบา ที่กลายเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่มีห้างสรรพสินค้าจริงๆ”

จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก และการอยู่ในคอมฟอร์ตโซนเป็นเรื่องง่าย แต่หากต้องการอยู่รอด การอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรไม่ได้ และการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งคัญ

“เอไอเอสทำมาแล้วหลายปีทำให้ในวันนี้ เราพร้อมสนับสนุนองค์กรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ด้วยความพร้อมด้านโครงข่าย ทั้งเครือข่ายมือถือ, อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์, เครือข่าย IoT ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการมีนวัตกรรม และดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ”

โดยในกลุ่มลูกค้าองค์กร มีความต้องการบริการที่หลากหลายทั้งโทรศัพท์มือถือ, อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์, คลาวด์ และไอโอที เป็นต้น จึงมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดจากความตื่นตัวในการทรานส์ฟอร์มองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม “เอสเอ็มอี”

ปัจจุบัน แม้ว่า “เอไอเอส” จะมีรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรคิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 10% ของรายได้รวม แต่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคต

“สมชัย” ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ไม่ได้หมายความว่า “ใครเป็นผู้นำตลาดในวันนี้ จะยังคงเป็นอยู่ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่อาจหายไปเมื่อไรก็ได้ เพราะจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีกมาก เช่น เอไอ, วีอาร์ และบล็อกเชน หรืออาจมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่านี้เกิดขึ้นอีก

“บริษัทต่างๆ หนีการดิสรัปต์ไม่ได้ สิ่งสำคัญจึงต้องอย่าคิดว่า ตนเองเก่ง และเป็นผู้นำ เพราะไม่มีอะไรอยู่ได้ตลอดไป”

ในมุมมองของ “สมชัย” ธุรกิจต่างๆ จะอยู่รอดได้ต้องมองไปที่ “ลูกค้า” เป็นตัวตั้ง และต้องคิดว่าจะตอบสนองลูกค้าในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างไร เพราะทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงต้องสร้างองค์กรให้แข็งแรง โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กร ด้วยการดึงคนเก่ง และคนดีให้อยู่กับองค์กร

และเหนือสิ่งอื่นใด องค์กรต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ แม้จะไม่รู้ว่า “อนาคต” จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

หน้า 14

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image