ฟองสบู่ 2561 “ตื้บเรียลดีมานด์” คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

ดีเวลอปเปอร์พูดเสียงดัง แบงก์ชาติฟัง แต่หูดับ 1 ข้างก็เลยได้ยินครึ่งเดียว

อันนี้ไม่ใช่คำปรารภ แต่เป็นการวิเคราะห์มาตรการสกัดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย)

บังเอิญอำนาจแบงก์ชาติมีจำกัด ควบคุมได้แต่เรื่องการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว อยากสกัดฟองสบู่ก็เลยต้องสกัดทางอ้อมผ่านคนถือเงิน

มาตรการชัดๆ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคเราๆ ท่านๆ อย่าคิดว่าไกลตัวเด้อ

Advertisement

คนซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก หรือสัญญาแรก (หมายถึงอยู่ระหว่างผ่อนเงินกู้ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมเป็นสัญญาแรก) รอดตัว ยังใช้เกณฑ์เงินดาวน์เดิม แบ่งเป็นกู้ซื้อบ้านดาวน์ 5% กู้ซื้อคอนโดดาวน์ 10%

ถ้ากู้ซื้อหลังที่ 2 แบงก์ชาติเกิดพุทธิไอเดีย ใช้เงื่อนไขการผ่อนสัญญาแรกเป็นตัวตั้ง โดยมีตัวชี้ขาดอยู่ที่ “ผ่อนก่อน-ผ่อนเกิน” 3 ปี วงเงินดาวน์ไม่เท่ากัน

กล่าวคือ ถ้าเงินกู้สัญญาแรกผ่อนไม่เกิน 3 ปี ริอยากซื้อหลังที่ 2 จะตีหน้าแอ๊บแบ๊วยังไงก็ถูกเหมาเข่งมีโอกาสซื้อเก็งกำไร เพราะฉะนั้น ต้องวางเงินดาวน์ 20% แต่ถ้าสัญญาแรกผ่อนมานานเกิน 3 ปี ผ่อนผันให้ดาวน์ 10%

Advertisement

ส่วนหลังที่ 3 เป็นต้นไป เงินดาวน์ 30% ซึ่งตรงนี้แก้ตัวยังไงก็เป็นการซื้อเกินจำเป็น ดาวน์สูงหน่อยก็ถือว่าพองาม ไม่น่าเกลียด

แต่ประเด็นหลังที่ 2 นี่สิ มีคนบอกว่าอยากจะขำกลิ้ง นโยบายอยากสกัดฟองสบู่เดิมซื้อคอนโดห้องแรกก็ดาวน์ 10% อยู่แล้ว ผ่อนสัญญาแรกเกินสามปี แบงก์ชาติให้ดาวน์คอนโดห้องที่ 2 เท่าเดิมคือ 10%

แต่ที่ไม่เท่าเดิมคือการซื้อหลังที่ 2 ลองเปลี่ยนใจมาซื้อบ้านแนวราบ เช่น ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด บ้านเดี่ยว

ปกติบ้านหลังแรกได้ดาวน์ 5% ถ้าเงินกู้สัญญาแรกผ่อนเกินสามปีและต้องการซื้อหลังที่ 2 แบงก์ชาติอยากสกัดเก็งกำไรก็เลยให้เพิ่มวงเงินดาวน์บ้านเป็น 10% แต่ถ้าผ่อนสัญญาแรกไม่เกินสามปีแบงก์ชาติให้ดาวน์บ้านหลังที่ 2 เป็น 20%

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง แบงก์ชาติอยากสกัดเก็งกำไรอสังหาฯ ก็เลยให้เพิ่มวงเงินดาวน์บ้านแนวราบหลังที่ 2 ตั้งแต่ 10-20%

เท่าคอนโดเป๊ะ เป๊ะ

ก่อนหน้านี้ ดีเวลอปเปอร์พยายามบอกข้อมูลว่า สินค้าที่อยู่อาศัยที่มีการเก็งกำไรยอมรับก็ได้ว่าคือคอนโดเป็นหลัก เพราะมีทั้งลูกค้าซื้ออยู่จริงกับซื้อไว้ลงทุนปล่อยเช่า-ลงทุนเก็งกำไร

ส่วนโครงการแนวราบหรือบ้านจัดสรร แทบจะ 100% เป็นลูกค้าเรียลดีมานด์ หมายความว่าซื้ออยู่อาศัยจริง

นี่คือข้อวิเคราะห์ที่ว่า ดีเวลอปเปอร์พูด แบงก์ชาติได้ยินครึ่งเดียว

ข้อเท็จจริงต่อมา ซื้อหลัง 2 เพราะเพลินหรือเพราะจำเป็น

ลองฟังดูมีเหตุผลขึ้นมั่งมั้ย สมมุติว่าคนต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพฯ ลืมตาอ้าปากได้ก็ไปซื้อบ้านหลังแรกให้พ่อแม่อยู่ในต่างจังหวัด

พอตัวเองย้ายมาทำงานต่างถิ่น ไม่อยากเช่า เห็นมีคอนโดหรือบ้านแนวราบราคาใกล้เคียงการเช่า ตัดสินใจซื้อดีกว่า เข้านิยามเป็นบ้านหลังที่ 2

สมมุติซ้อนสมมุติ มีเงินเดือน 4-5 หมื่นบาท ซื้อบ้าน 2 ล้านบาท ถ้าเข้านิยามเป็นหลังที่ 2 ก็จะโดนเงินดาวน์ 20% (เลือกเขียนตัวเลขสูงๆ จะได้ดูใจร้ายมากหน่อย-ฮา) ตัวบ้านใช้เวลาสร้าง 6 เดือนเท่ากับมีเวลาดาวน์ 6 งวด

เงินดาวน์ 20% ของราคา 2 ล้านคือ 4 แสนบาทภายในเวลา 6 เดือน เท่ากับเดือนละ 6.6 หมื่นบาท อืมม์ จะรอดไหมเนี่ย…

จะว่าไปแล้วชักเริ่มสงสารรัฐบาล คสช. ทั่นอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปชวนคนต่างชาติมาลงทุนโซน EEC (มี 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) หวังจะให้คนไทยมีงานทำเยอะๆ

แต่ในเมืองไทย คนกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดที่ถูกย้ายเข้าไปทำงานใน EEC ถ้าจะซื้อบ้านอยู่เพราะไม่อยากเช่า โดนเบรกหัวทิ่มหัวตำเพราะต้องมีเงินดาวน์ 10-20% เนื่องจากฟันธงได้เลยว่าเป็นการซื้อหลังที่ 2 ไม่ใช่หลังแรก

ลูกค้าเรียลดีมานด์ที่ซื้อหลังที่ 2 เพราะความจำเป็นมีอยู่จริง จะหาทางออกกันยังไงล่ะทีนี้ และเห็นหรือยังว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว

วงการลูกค้าเรียลดีมานด์คงได้แต่งงๆ ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติบอกให้ตรูดาวน์ 5% ตอนนี้ไหงมาลงโทษให้ตรูดาวน์ตั้ง 10-20% แถมอีนังคอนโดที่เป็นตัวการซื้อเก็งกำไร นั่งลอยหน้าลอยตาเฉิบๆ มันอะไรกั๊น (อันนี้นึกเบาๆ ในใจก็พอ)

สุภาษิตเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความยุติธรรมไม่มีอยู่ในโลก รู้ยัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image