เจาะลึกโซเชียลเทรนด์ คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

คนไทยใช้สื่อโซเชียลไม่แพ้ใครในโลก ทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, ยูทูบ หรือแม้แต่ “ไลน์” ซึ่งมีหลากหลายแอพพลิเคชั่น ครอบคลุมตั้งแต่แอพพ์แชต, แอพพ์รับส่งสินค้ายัน แอพพ์ฟังเพลง และดูทีวี

ถ้าจะบอกว่าคนไทยยุคดิจิทัลเสพติด “สื่อโซเชียล” ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก

และไม่ใช่แค่คนเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนในต่างจังหวัดด้วย ไม่เช่นกันบรรดาเพลงลูกทุ่งทั้งหลายคงไม่มียอดวิวบน “ยูทูบ หรือไลน์ทีวี” เป็นหลักล้านอย่างแน่นอน

จากการเก็บข้อมูลของ “ไวซ์ไซท์” บริษัทเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เปิดเผยว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยในปี 2561 นี้ ยังคงเติบโตในอัตราเร่งที่รวดเร็ว และก้าวกระโดดต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก

Advertisement

โดยได้มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ปริมาณข้อมูลบนโซเชียลมีเดียจะมีมากถึง 10,000 ข้อความ/นาที หรือสูงถึง 5,300 ล้านข้อความ/ปี เพิ่มขึ้นถึง 47% จากปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณข้อมูลอยู่ที่ 3,600 ล้านข้อความ

ที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล “ไวซ์ไซท์” พบด้วยว่า ผู้ใช้งานชาวไทยต่างมีส่วนร่วมกับโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์, คอมเมนต์ แชร์, ติดแฮชแท็กต่างๆ โดยเฉลี่ยในแต่ละวันมากถึง 2.9 ล้านครั้ง

ตอกย้ำให้เห็นว่าคนไทยมีความสนใจใคร่รู้เรื่องราวต่างๆ ในโซเชียลจนเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่มากมาย เช่น หลังไมค์, เปิดวาร์ป, ล่อเป้า, ปูเสื่อ, สีข้างถลอก รวมทั้งการมีแฮชแท็กฮิตๆ ทั้งหลาย อาทิ #เผือกดารา, #หมดPassion เป็นต้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลงไปในการใช้งานแต่ละโซเชียลมีเดียพบความเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย โดยในปีนี้ “ทวิตเตอร์” (Twitter) มาแรงที่สุด ในแง่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้หน้าใหม่ที่เติบโตขึ้นมากกว่า 34% มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานทะลุ 16 ล้านคนไปแล้ว และในจำนวนนี้ มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 7.02 ล้านคน

สวนทางกับยักษ์โซเชียลมีเดียโลก “เฟซบุ๊ก” (Facebook) ที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นแค่ 4-5% ขณะที่ “อินสตาแกรม” (Instagram) มีผู้ใช้งานลดลง 1.5%

แม้ “เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม” จะกำลังเข้าสู่โหมด “อิ่มตัว” แล้ว แต่ก็อย่างที่เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ทำให้การส่งต่อข้อมูลบนสื่อโซเชียลในบ้านเราลดน้อยถอยลงแต่อย่างใดเลย

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ อธิบายว่าปัจจุบันมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น การไลฟ์ (Live) ทำให้อินสตาแกรมเดิมจากที่เคยเป็นขวัญใจของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ลดความร้อนแรงลง แต่การเติบโตของผู้ใช้งานที่ลดลงนั้น ไม่ส่งผลต่อข้อมูลบนโซเชียลแต่อย่างใด เพราะยังคงเติบโตไม่หยุด

ทุกวันนี้ “โซเชียลมีเดีย” จึงมีอิทธิพลกับชีวิตคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ บันเทิง และสังคมทำให้การวิเคราะห์ และสกัดความรู้ที่ได้จากข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กร สังคม และประเทศในทุกด้าน

“ไวท์ไซท์” ยังพบด้วยว่า ข้อมูลในโซเชียล 1 ใน 10 เป็นเรื่องของแบรนด์สินค้า ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความบันเทิงต่างๆ จึงแนะนำว่า แบรนด์สินค้าทั้งหลายอาจคิดแคมเปญที่จะใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้

สำหรับธุรกิจในปัจจุบันที่มีการปรับใช้ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น มีตั้งแต่ธุรกิจธนาคาร, ธุรกิจความงาม, อสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานราชการบางแห่งเริ่มปรับใช้ข้อมูลวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการฟังเสียงทางสื่อโซเชียลบ้างแล้ว เพราะต้องการเข้าใจประชาชนผู้ใช้บริการมากขึ้น

ไม่ใช่แค่นั้น ยังเป็นไปได้มากที่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นช่องทางเข้าถึงประชาชนมากขึ้น หรือใช้เพื่อดูว่า ประชาชนคิดอะไร โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมาก อีกทั้งการเลือกตั้งหนนี้ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากประเทศไทย ไม่ได้มีการเลือกตั้งมาหลายปี

“เราเก็บข้อมูลโซเชียลไว้เยอะมากทำให้เห็นว่าทำแคมเปญอย่างไรถึงจะเวิร์ก องค์กรต่างๆ ควรรู้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อที่จะนำข้อมูลไปใช้ได้ เช่น การคอมเมนต์แย่ๆ ในโซเชียล ไม่ใช่เรื่องที่แบรนด์จะมองข้ามได้อีกต่อไป แม้ในอดีตแบรนด์ต่างๆ จะมองว่าไม่กระทบแต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะบางส่วนอาจมีการแชร์จนกลายเป็นไวรัล สร้างผลกระทบให้ธุรกิจได้”

ส่วนเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะได้เห็นในปีหน้า ผู้บริหาร “ไวท์ไซท์” มองว่าจะเป็น “วิดีโอแอด” ขนาดสั้น และแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจะมาแรงมาก โดยแต่ละแอพพลิเคชั่นจะมีฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้อยู่กับ

แอพพลิเคชั่นนั้นๆ นานขึ้นเพื่อจะได้ขายโฆษณาได้ เช่น มีวิดีโอแอดสั้นๆ ความยาว ประมาณ 6 วินาทีคั่นระหว่างชมวิดีโอในเฟซบุ๊ก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจะเริ่มเห็น “ออริจินอล คอนเทนต์” และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ แทรกขึ้นมาทำการตลาดให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย

“ในแง่การใช้งานของคนทั่วไป เทรนด์ที่เห็นตอนนี้ คือการแท็กเพื่อนโดยไม่คอมเมนต์ ซึ่งเราต้องทำหน้าที่ตีความให้กับแบรนด์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างไร”

ชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่ต้องรับฟัง และหากสามารถนำข้อมูลต่างๆ ที่มีมาวิเคราะห์แล้วนำไปใช้ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่น่าจะเป็นประโยชน์ได้มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image