หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี นั่งห้อยพระบาทแบบ (ทวารวดี) นครปฐม โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ซ้าย) หลวงพ่อโต ยุคสุพรรณภูมิ วัดป่าเลไลยก์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี (กลาง) พระพิมพ์ดินเผา อายุหลัง พ.ศ.1300 บ้านวังสําเภาล่ม ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี (อ.ศรีศักร วัลลิโภดม พบอยู่ในครอบครองของชาวบ้าน ราว พ.ศ.2510 ภาพจากหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ของ ธิดา สาระยา สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) (ขวา) ลายเส้นให้เห็นชัด โดย ธัชชัย ยอดพิชัย (ศิลปวัฒนธรรม มติชน)

หลวงพ่อโต พระประธานปูนปั้น สูงราว 23 เมตร ในวิหารวัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี แสดงปางป่าเลไลยก์ตั้งแต่แรกสร้างครั้งรัฐสุพรรณภูมิ ราว พ.ศ.1700 พระหัตถ์ขวายกขึ้น พระหัตถ์ซ้ายหงาย ส่วนเบื้องล่างมีช้างกับลิง สืบเนื่องตามประเพณีที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ราว พ.ศ.1000 (หรือสมัยทวารวดี)

ครั้นนานไปก็ชํารุดปรักหักพังบางส่วน จึงมีผู้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วทําใหม่โดยแปลงพระหัตถ์วางเหนือหัวเข่าราวสมัย ร.4 ดังพบจนทุกวันนี้

ปางป่าเลไลยก์ พระพิมพ์ดินเผาเก่าสุด

ปางป่าเลไลยก์ พบหลักฐานเก่าสุดในไทยเป็นพระพิมพ์ดินเผาแผ่นใหญ่ อายุหลัง พ.ศ.1300 (ปัจจุบันเรียกสมัยทวารวดี) เชื่อว่าทําขึ้นในท้องถิ่นลุ่มน้ำท่าจีน พบที่บ้านวังสําเภาล่ม ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี

ดินเผาแผ่นใหญ่สลักรูปแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนกับส่วนล่าง

Advertisement

ส่วนบน เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นทําท่าจีบเสมอหน้าอก (พระอุระ) พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นเสมอสะดือ (พระนาภี)

ส่วนล่าง ทางขวารูปช้าง ทางซ้ายรูปลิง

สุนทรภู่กับเสมียนมี เห็นหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์

หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้เห็นเป็นปางป่าเลไลยก์ (เหมือนพระพิมพ์ดินเผาเก่าสุด) แม้จะปรักหักพังแล้วหลายส่วน

Advertisement

สุนทรภู่ ไปวัดป่าเลไลยก์ สมัยต้น ร.3 ราว พ.ศ.2384 เขียนบอกใน โคลงนิราศสุพรรณ เรียกแล้วว่า “พระป่าเลไลยก์” แสดงปางยกมือ นั่งห้อยพระบาท บอกไว้ในโคลง (บท 146) ว่า “ยอกรหย่อนบาท” โคลง (บท 147) ว่ามีรูปลิงเผือกกับช้างเผือกถวายของ

เสมียนมี ไปวัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณ (หลังสุนทรภู่ 3 ปี) ราว พ.ศ.2387 เห็นหลวงพ่อโต จึงพรรณนาไว้ใน กลอนนิราศสุพรรณ ว่า พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแขนหักทั้งซ้ายขวา มีลิงกับช้างหมอบข้างละตัว

คำอธิบายของทางการควรแก้ไขให้ตรงตามหลักฐานที่ยกมาบอกนี้

[มีข้อมูลเพิ่มอีก ดูเอกสารเรื่อง “คนไทยเริ่มแรกในอยุธยา จากสยามสุพรรณภูมิที่สุพรรณบุรี ต้นทางอยู่เมืองอู่ทอง และเมืองนครปฐม” ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ เผยแพร่วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2561]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image