คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : เกาะติดเทรนด์เทคโนโลยี

อย่างที่รู้กันว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของ “เฟซบุ๊ก” จากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นเร็วมากในหลายปีที่ผ่านมา แม้ปีสองปีมานี้การเพิ่มขึ้นจะลดเหลือแค่เลขตัวเดียว แต่การใช้งานไม่ได้ลดลง ทั้งระยะเวลาโกออนไลน์ของคนไทยยังมีโอกาสทะลุ 9 ชั่วโมงต่อวันไปได้อีกมากในบางช่วงอายุ ถ้าเป็นจริง คงไม่ดี เพราะมากเกินความจำเป็น

ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทำให้เราเริ่มกลับมาพิจารณาถึงแง่มุมต่างๆ ในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม ครอบครัวและระดับปัจเจกบุคคล

“บียอน ทาล แซนเบิร์ก” หัวหน้าศูนย์วิจัยเทเลนอร์ กล่าวว่า ผู้คนในสังคมต่างกลับมาพิจารณาถึงหลักประกันต่อการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ชาญฉลาด และสร้างสรรค์ ทำให้นักพัฒนา ผู้กำหนดนโยบาย และเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น “ศูนย์วิจัยเทเลนอร์” เปิดเผยว่า เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเป็นปรากฎการร์สำคัญในปี 2562 มีดังนี้

1.ดีพเฟค (Deepfake) หรือรูปแบบของข้อมูลปลอมที่แพร่กระจายทางโซเชียลมีเดียจะกระจายตัวมากขึ้น

Advertisement

การใช้ประโยชน์ทางลบของโซเชียลมีเดีย และ AI ได้รับการจับตามองจากสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เนื้อหาประเภท “ดีพเฟค” มีโอกาสแพร่กระจายมากขึ้นในปีหน้า และจะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งจะเข้ามาปั่นปวน และให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชน

ในปี 2562 มหาอำนาจ 2 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีกำหนดจัดการเลือกตั้ง และเริ่มรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดี (ไม่แน่ว่าปรากฏการณ์นี้อาจลามมาถึงบ้านเราด้วยก็ได้) ดังนั้น จึงจะเริ่มเห็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต โอเปอเรเตอร์ และหน่วยงานกำกับดูแลเอาจริงเอาจังกับการกำจัด และสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อกรกับเนื้อหาข้อมูลประเภท “ดีพเฟค” มากขึ้น

2.การกำหนดกรอบจริยธรรมมีผลต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI)

Advertisement

ปี 2562 จะมีการตรวจสอบการใช้ AI จากสาธารณะมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดตั้งกรอบธรรมาภิบาล และจริยธรรมในการใช้ AI เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสาธารณะในการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง โปร่งใส ติดตามได้ และมั่นคง

เห็นได้จากการพัฒนาระบบนิเวศของ AI เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอเมริกา และจีน ขณะที่ในภูมิภาคที่มีการกำกับอย่างยุโรปพัฒนาช้ากว่า

แนวโน้มที่ 3.เกิดเมืองจำลอง 5G ขึ้นทั่วโลก

หลายปีที่ผ่านมา มีการพัฒนา และทดสอบเทคโนโลยี 5G ต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบคลาวด์เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีทดสอบคลื่น 5G การพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก 5G และในปี 2562 จะเห็นเมืองจำลองที่ใช้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดลองการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตะวันออกไกล

ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ หนุนให้เกิด 5G อย่างเต็มศักยภาพในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ รถบัสควบคุมทางไกล การทำประมงด้วยระบบอัตโนมัติ การผ่าตัดทางไกลทำให้โครงการนำร่องต่างๆ ที่เเสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ 5G จะเกิดในปีหน้าเพื่อเตรียมเข้าสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2563

แนวโน้มที่ 4.คือ IoT (อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์) ปฏิวัติอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี IoT จะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจาก “ห้องทดลองสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์” ด้วยเครือข่ายการสื่อสารแบบไร้สายทางไกลพลังงานต่ำ รองรับการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (M2M) เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใหญ่ขึ้น เช่น บริหารเมืองอัจฉริยะ ภาคอุตสาหกรรม และแอพพลิเคชั่นเชิงพาณิชย์อย่างการติดตามระบบขนส่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ การทำประมง และการควบคุมจราจร

5.”แชทบอท” จะเป็นผู้ช่วยคนต่อไปในบ้าน

มีการพัฒนา และใช้ “แชทบอท” ผ่านระบบการสั่งการด้วยเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ในบ้านทำให้การใช้ชีวิตในบ้านง่ายขึ้น และเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์ที่สั่งการผ่านแชทบอทจะกลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ในบ้านทั่วโลกในปีหน้า

แนวโน้มที่ 6.”โทรศัพท์ฝาพับ” จะกลับมา

กระแส “เขตปลอดการใช้มือถือ” จะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม เช่น ห้ามใช้มือถือระหว่างรับประทานอาหารกับครอบครัวหรือเพื่อน และการงดใช้มือถือระหว่างประชุม ทำให้โทรศัพท์แบบฝาพับจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยจะรองรับได้ 2 ซิม ทั้งซิมที่เน้นเฉพาะดาต้าสำหรับเล่นอินเตอร์เน็ต และซิมที่เน้นการโทร

เทรนด์สุดท้ายที่ “ศูนย์วิจัยเทเลนอร์” คาดว่าจะได้เห็น คือ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยี หรือ Green tech ที่จะแรงขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่

ด้วยว่าคณะทำงานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ออกโรงเตือนถึงความร่วมมือในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้ความกังวลและการรับรู้ของผู้คนในสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงขึ้น เช่น ที่นครออสโล นอร์เวย์ ผู้นำการพัฒนา และอาศัยศักยภาพเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

เช่นกันกับการใช้สินค้า และบริการของเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างการใช้แอพพลิเคชั่น Too Good To Go แพลตฟอร์มช่วยลดปริมาณขยะอาหาร (food waste) การแบ่งรถยนต์ใช้ (car sharing) หรือแม้แต่การใช้บริการส่งอาหารที่ใช้จักรยานเท่านั้น

การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นผลมาจากความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้บริโภค และแรงกดดันจากสังคม ก่อให้เกิดกระแส Green tech ที่นอร์เวย์

ในบ้านเรา แนวโน้มใดจะเกิดขึ้นได้บ้างคงต้องตามดูกันไป แต่ที่แน่ๆ คนไทยเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่แพ้ชาติใดในโลก และจะดี และเป็นประโยชน์กว่ามาก หากมีการนำมาใช้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image