เลือกตั้งสกปรก ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“พิบูล, เวชยันต์, บริภัณฑ์, ลัดพลี, พรหมโยธี, บัญญัติ, สวัสดิ์, เดช, รักษ์”

คำคล้องจองไม่เคร่งครัดยกมานี้ เป็นชื่อผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2500 (สมัยนั้นเรียก จังหวัดพระนคร) มี ส.ส. 9 คน พรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งตั้งขึ้นเฉพาะกิจสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ชื่อผู้สมัคร 9 คน ถูกคัดสรรอย่างสั้นให้คล้องจอง เป็นที่รู้กัน (สมัยนั้น) จากชื่อจริงบ้าง ชื่อบรรดาศักดิ์บ้าง เขียนป้าย (คัตเอาต์) ขนาดใหญ่ติดตั้งเชิงสะพานผ่านฟ้า และที่อื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ผมอ่านทุกวันสมัยนั้นจนจำได้ไม่ลืมถึงทุกวันนี้ เพราะต้องเดินผ่านป้ายผ่านฟ้าไปโรงเรียน

Advertisement

การเลือกตั้ง พ.ศ.2500 เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า การเมืองไทยเลือกตั้งสกปรก มีกลโกงมโหฬารพันลึกทั้ง “พลร่ม” และ “ไพ่ไฟ”

ในที่สุดมี “รัฐประหาร” พ.ศ.2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วทำซ้ำหนักกว่าเก่าในปีรุ่งขึ้น เป็น “ปฏิวัติ” พ.ศ.2501

สหรัฐ เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยคราวนี้ มีนักวิชาการไทยและเทศเขียนอธิบายไว้มาก แต่ผมไร้เดียงสาเกินไปที่จะเข้าถึง เพราะแม้เห็นเหตุการณ์ในท้องถนนทั้ง 2 คราว (17 กันยายน 2500 และ 20 ตุลาคม 2501) แต่เป็นเด็กน้อยเรียนมัธยม 3 (เทียบปัจจุบันแค่ ม.1) โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ตรงสะพานมัฆวาน ที่เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างทหารกับขบวนประท้วงเลือกตั้งสกปรก

Advertisement

เล่าสู่กันฟังได้แค่นี้ เนื่องจากอ่านแล้วชอบบทนำของไทยรัฐ (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2561 หน้า 3) สรุปว่าการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ แล้วรักษาอำนาจนั้น ซึ่งก็คือการสืบทอดอำนาจให้ยั่งยืนสืบไปอย่างมีความชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับทั้งจากสังคมภายในและจากภายนอก (คือ ประชาคมโลก)

รักษาอำนาจโดยการสืบทอด จาก พ.ศ.2500-2501 ด้วยความหวังอำนาจอยู่ยาวอย่างยิ่ง แต่แล้ว พ.ศ.2516 ก็เกิด 14 ตุลาคม อำนาจเหล่านั้นเปลี่ยนไปเป็นของกลุ่มอื่นดังที่รู้กัน

ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอย แต่มักซ้ำแนวทางวิธีคิดและวิธีทำ จนถึงซ้ำการหมดอำนาจอย่างไม่น่าสมเพช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image