มหาวิทยาลัย ก้าวไปพร้อมสังคม โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

สื่อโซเชียลทุกวันนี้ซึ่งมีหนังสือพิมพ์รายวันรวมอยู่ด้วย เต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูลและความรู้ทั้งเฟกและไม่เฟก ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง (ไม่ทุกแห่ง)

หนังสือพิมพ์ส่งผ่านข้อมูลและความรู้จากแหล่งต่างๆ สู่สาธารณะ เป็นภาระปกติตั้งแต่เริ่มมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในโลก กระทั่งฉบับแรกในสยามสืบจนทุกปัจจุบัน

แหล่งข้อมูลและความรู้มีหลากหลาย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย จึงพบงานวิจัยจำนวนมากของนักวิชาการครูบาอาจารย์ถูกสรุปให้ง่ายเป็นข่าวใหญ่น้อยในหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ส่งผลกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวทางก้าวหน้าต่อสังคมโดยรวม

สื่อมีส่วนกระตุ้นอนุรักษ์เมืองโบราณ

อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ราว พ.ศ. 2508 (50 กว่าปีมาแล้ว) นำนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกสำรวจด้วยทุนส่วนตัวของทุกคนลงขันร่วมกัน (สมัยนั้นไม่มีงบจากมหาวิทยาลัย) พบซากเมืองโบราณและซากโบราณวัตถุสถาน จึงเขียนรายงานการสำรวจแล้วส่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทำเป็นข่าวทุกครั้ง ก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์คูน้ำคันดินเมืองโบราณได้ระดับหนึ่ง สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

Advertisement

นักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นที่สนับสนุนข่าวสำรวจเมืองโบราณเท่าที่ผมนึกออกตอนนี้ ได้แก่ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ (หมอทรัพย์ สวนพลู), เทพ จุลดลย์, เสถียร จันทิมาธร ฯลฯ

โดยเฉพาะเสถียร จันทิมาธร [ขณะเรียนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)] ให้ความสำคัญงานวิจัยและบทความวิชาการจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นพิเศษ แล้วฉวยเนื้อหาสรุปเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์อยู่เสมอๆ ทำให้สังคมได้รับรู้ความก้าวหน้าวิชาการเหล่านั้นผ่านข่าวจากสื่อ

มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดยคณะผู้บริหารตั้งแต่อธิการบดีและคณบดี ลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกับบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อไม่นานมานี้ โดย มศว มอบหมายคณะสังคมศาสตร์ ผลักดันทิศทางศาสตร์รับใช้สังคมและหลายๆ ศาสตร์มีส่วนร่วมกับสื่อมวลชนในทางวิชาการ

Advertisement

แม้เป็นความพยายามเล็กๆ และคงไม่มีพลังเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้ทั้งหมด แต่ความร่วมมืออย่างนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ผู้บริหารมติชนเชื่อว่าถ้ามหาวิทยาลัยพัฒนาและผลักดันองค์ความรู้ก้าวไปพร้อมสังคม เชื่อว่าต่อไปสังคมจะตัดสินสิ่งใดโดยใช้ฐานข้อมูล, เหตุผล, และสติปัญญามากกว่าอารมณ์ [มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 25561 หน้า 9]

ย้อนอ่าน : ‘มศว-มติชน’ เซ็นเอ็มโอยู ร่วมพัฒนา ‘ความรู้-ข้อมูล-ข้อเท็จจริง’ มุ่งประโยชน์ส่วนรวม (คลิป)

การศึกษาในอนาคตของโลกไม่เหมือนเดิม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วทักท้วงถกเถียงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ห้องเรียนไม่มีความหมายนานแล้ว เพราะข้อมูลและความรู้มีแบ่งปันอยู่นอกห้องเรียน ทั้งใต้ดิน, บนดิน, และเหนือดินขึ้นไปในอากาศจักรวาล ใครจะฉวยไปเมื่อไรก็ได้ตามสะดวก

หวงข้อมูลความรู้

การศึกษาไทยสมัยที่แล้ว “หวงข้อมูลความรู้” กีดกัน “มิให้ไพร่ได้วิชา” จึงสร้างความศักดิ์สิทธิ์ปิดกั้นไว้ มีพยานคือหอสมุดแห่งชาติกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเป็นแหล่งหวงห้ามของผู้รู้และคนชั้นนำเท่านั้น ไม่ใช่ของสามัญชนคนทั่วไป

ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งในไทยทุกวันนี้ ยังมีทัศนคติอยู่ในสมัยที่แล้ว จึงหวงข้อมูลความรู้ แล้วตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสื่อมวลชนที่แบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะโดยไม่ปิดบังซ่อนเร้น

เพราะการแบ่งปันข้อมูลความรู้ของสื่อปัจจุบัน เท่ากับทลายความศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งตนเองของครูบาอาจารย์เหล่านั้น ซึ่งล้วนมีส่วนร่วมต่อต้านประชาธิปไตย สนับสนุนคนไม่เท่ากัน แล้วเชื้อเชิญการยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง ร่วมสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวจนทุกวันนี้ โดยปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและความคิดของนิสิตนักศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image