หนังสือพิมพ์มติชน 41 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง คอลัมน์ โลกสองวัย

นับจากวันที่ 9 มกราคม 2521 ถึงวันนี้ 7 มกราคม 2562 ครบรอบปีที่ 41 ของหนังสือพิมพ์มติชน จากหนังสือพิมพ์กระดาษ เข้าสู่ยุค “แห่งการเปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ เป็นหนังสือพิมพ์คลื่นบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

น้องหนูที่ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์มติชนมาตั้งแต่ฉบับแรก อาจเริ่มอ่านตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521 ถึงวันนี้ 7 มกราคม 2562 อายุอานามอย่างน้อย 56-57 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ของโลกและของประเทศไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมืองไม่น้อยกว่า 40 ปี ได้รู้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมานับไม่ถ้วน ซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านั้นมีการปฏิวัติรัฐบาลของตัวเองที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติที่เรียกตัวเองว่า หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์สุดกู่ ทุกรูปแบบ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชื่อ นายดุสิต ศิริวรรณ ซึ่งเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกของนายกรัฐมนตรี ผู้จัดรายการวิทยุต่อต้านคอมมิวนิสต์ กับนายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม้เบื่อไม้เมากับหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ และประกาศให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยตามขั้นตอน 12 ปี

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2520 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ กับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการ ยึดอำนาจ พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจากนั้น

Advertisement

หลังการปฏิวัติไม่ถึง 3 เดือน หนังสือพิมพ์มติชนกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกกลางสภาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 ทหารผลักดันให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้น มีบารมีกับกองทัพ และได้รับการสนับสนุนจากนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 7 เป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเริ่มมีการขุดหาน้ำมันและแก๊สในอ่าวไทย และได้รับการเรียกขานว่า เป็นยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ทำให้กระแสการเงินหมุนเวียน ทั้งยังประกาศให้ประเทศไทยเป็นปีแห่งการท่องเที่ยว “Amazing Thailand”

Advertisement

ระหว่างนั้นมีความต้องการยึดอำนาจจากทหารอีก 2-3 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ผู้ยึดอำนาจต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี มีการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงเดือนเศษ เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ต้องเชิญให้นายอานันท์ ปัณยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ถึง 2 ครั้ง

ประเทศไทยระหว่างนั้นมีการเลือกตั้งอีก 2-3 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีอีก 2-3 คน คือนายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ และนายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด รวมตัวกับพรรคการเมืองบางพรรค ยกให้ร้อยตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งได้รับเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรก ปี 2548

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากนั้นรุนแรง มีการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการยุบพรรคเพื่อไทย เกิดพรรคเพื่อประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ยุ่งเหยิงทางการเมืองรุนแรง ยุบพรรคเพื่อประชาชน ต้องเลือกตั้งใหม่

เกิดพรรคเพื่อไทย ได้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สุดของที่สุด เหตุทางการเมืองถึงมีการปะทะระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดง ขณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวร้อยตำรวจโท ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 6 เมษายน 2560 กำหนดการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 24 มีนาคม 2562 หนังสือพิมพ์มติชนขึ้นสู่ปีที่ 42 มะรืนนี้ 9 มกราคม 2562 มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เกิดนวัตกรรมใหม่ หนังสือพิมพ์กระดาษต้องเข้าสู่ยุคหนังสือพิมพ์คลื่นบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือด้วยระบบดิจิทัลในที่สุด 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image