ลมมรสุม ก่อบ้านสร้างเมือง ในประวัติศาสตร์สมัยแรกๆ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

พายุ "ปาบึก" แผลงฤทธิ์ ทะเลคลั่งซัดน้ำทะเลทะลักเข้าท่วม แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2562)

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ไม่คุ้นลมมรสุมและอื่นๆ เพราะเต็มไปด้วยสงครามวีรบุรุษ จึงไม่มีการค้าโดยเฉพาะการค้าทางทะเลดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ กับบ้านเมืองห่างไกลไปทางทะเลจีนและทะเลอันดามัน

ลมมรสุม เป็นลมพายุพัดพาตามฤดูกาล ทำให้มีทั้งคุณและโทษ ดังนี้

คุณอย่างเอนกอนันต์ ได้แก่ (1.) ฝน ลมมรสุมพัดพาฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จึงเจริญในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร เลี้ยงคนในชุมชนบ้านเมืองและราชอาณาจักร รวมทั้งมีประเพณีพิธีกรรม 12 เดือน (2.) การค้าทางทะเล ลมมรสุมพัดสม่ำเสมอตามฤดูกาล ผลักดันให้เกิดการคมนาคมการค้าทางทะเลกับนานาประเทศที่อยู่ห่างไกล แล้วแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้บ้านเมืองก้าวหน้าเติบโตเป็นรัฐและราชอาณาจักร

โทษมหันต์ เมื่อลมมรสุมแรงเกินขนาด ทำให้เกิดวาตภัย (ภัยจากลมพายุ) และอุทกภัย (ภัยจากน้ำท่วม) ดังล่าสุดกรณีพายุ “ปาบึก” ทำลายบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาเสียหาย

Advertisement

[ในอดีตเคยพบหายนะมาแล้วหลายครั้ง เช่น พายุแฮเรียต (ตุลาคม พ.ศ.2505) แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พายุเกย์ (ไต้ฝุ่นลูกแรกในไทยพฤศจิกายน พ.ศ.2532) รอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร]

เมืองโบราณภาคใต้ ต้องอยู่ลึกหลบพายุ

ภาคใต้เป็นบริเวณ คาบสมุทร ถูกกระหนาบด้วยทะเลสมุทร 2 ฟาก คือ ฟากอ่าวไทย เป็นทะเลจีนใต้ ส่วนฟาก อ่าวเมาะตะมะ เป็นทะเลอันดามัน

บ้านเมืองสมัยแรกๆ ต้องหลบภัยธรรมชาติด้วยการสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ลึกเข้าไปห่างชายฝั่ง เมืองโบราณ (ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ) ต้องอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน โดยมีลำน้ำใหญ่น้อยเป็นเส้นทางคมนาคมเข้าออกทะเลหลวง มีหลักฐานสำคัญ เช่น

Advertisement

เมืองปัตตานี อายุราวหลัง พ.ศ.1000 อยู่ริมแม่น้ำปัตตานี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

เมืองนครศรีธรรมราช อายุราวหลัง พ.ศ. 1800 อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช อาณัติ บำรุงวงศ์ (อดีต ผอ.สำนักศิลปากรที่นครศรีธรรมราช) กรุณาบอกข้อมูลความรู้ว่า เมืองนครฯ อยู่คลองท่าดี (ต้นน้ำจากเขาหลวง) ห่างจากทะเลอ่าวไทย ราว 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำจืด (น้ำเค็มขึ้นไม่ถึง) และลดความรุนแรงของพายุ มีปริมาณน้ำฝนพอเหมาะตั้งถิ่นฐาน

ตลอดแนวชายฝั่งทะเลสมุทรอ่าวไทย มีเมืองใหญ่ไม่มาก แต่มีชุมชน (ไม่เป็นเมืองท่าใหญ่) กระจายเรียงรายตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงปัตตานี เป็นชุมชนการค้าหรือสถานีการค้า หรือ ท่าจอดเรือ ชั่วคราว อาจโยกย้ายไปที่อื่นได้ ขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ของชุมชน

[มีคำอธิบายอีกมากในบทความเรื่อง “ภูมิวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม เมืองโบราณ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) หน้า 27-42]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image