คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : บ่มเพาะอนาคต

เสาร์ที่เพิ่งผ่าน เป็นวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของเด็ก

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

อนาคตของชาติคือเด็กๆ ที่กำลังเจริญเติบโตและจะรับผิดชอบสังคมนี้ต่อไป

ขณะที่หลายรัฐบาลมีความพยายามจะปฏิรูปการศึกษา ส่วนสำคัญคือการบ่มเพาะเด็กๆ ให้มีทักษะ

Advertisement

ทักษะความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งมีทักษะชีวิตด้วย

ปัญหาที่คนไทยรุ่นนี้ประสบ ส่วนหนึ่งคือการไม่ยอมรับความเห็นต่าง และมักจะใช้วิธีรุนแรงแก้ปัญหา

กลายเป็นความบาดหมางจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังคงมีรอยแผล

Advertisement

เหตุที่ไม่ยอมรับความเห็นต่าง อาจเกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย รวมทั้งปัจจัยเรื่องการบ่มเพาะในวัยเด็กด้วย

ในวัยเด็ก เมื่อระบบการบ่มเพาะทำให้ต้องคิดเหมือนๆ กัน ต้องแต่งตัวแบบเดียวกัน ไม่มีความแตกต่าง

ในระบบที่ใครทำตัวแปลกแยกแตกต่างกลายเป็นคนผิด

ใครมีความคิดเป็นของตัวเองอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับ

ในระบบที่การทำโจทย์เลขให้ถูกต้องนั้นมีเพียงวิธีเดียว ใครทำวิธีอื่นแม้จะได้คำตอบเดียวกันก็อาจผิด

ผิดเพราะทำไม่เหมือนกับที่เรียน

ในระบบแบบนี้ ทำให้มองเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องใหญ่

มองเห็นความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องซีเรียส ยอมไม่ได้

วันก่อนเพื่อนจากต่างแดนแวะเวียนมาทักทาย บอกเล่าความเป็นไปของครอบครัว

เรื่องหนึ่งคือเรื่องการเรียนการสอนที่ประเทศของเขา

บอกว่า ที่นั่นเน้นให้เด็กมีความคิดเห็นของตัวเอง

การเรียนคณิตศาสตร์ เมื่อมีโจทย์เลขก็จะบอกคำตอบที่ถูกต้อง

จากนั้นปล่อยให้เด็กลองหาวิธีทำ ทำแล้วได้คำตอบที่ถูกต้อง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กสามารถหาวิธีการของตัวเองได้จริงๆ ด้วย

เป็นวิธีที่แตกต่างกัน แต่ได้คำตอบเหมือนกัน

วิชาอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกันคือเปิดทางให้เด็กๆ ได้คิด คิดกันตั้งแต่เล็กๆ

คิดไปหลายๆ ปีเข้าในที่สุดก็ “คิดเป็น”

“คิดเป็น ทำเป็น” คือเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาที่ประเทศไทยอยากเห็นใช่ไหม

หลายปีที่บ่นเรื่องการศึกษา เหตุหนึ่งเนื่องจากเด็กยังไม่สามารถคิดเองได้

ที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านการปฏิรูปด้านการศึกษามาหลายหน แต่ก็ยังไม่พอใจ

ถ้าเป็นเช่นนี้ลองมาทบทวนวิธีการบ่มเพาะเด็กๆ ดูสักทีดีไหม

ทำให้เด็กไทย “คิดเป็น” ไม่แพ้ต่างประเทศที่สามารถทำให้เด็ก “คิดเป็น” ได้

ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กคิดแตกต่าง และยอมรับความคิดที่แตกต่างนั้นๆ

เมื่อไม่กี่วันก่อนจะถึงวันเด็กแห่งชาติ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ดำเนินการโครงการ “ปลดล็อกชุดนักเรียน”

เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวตเข้าเรียนได้สัปดาห์ละ 1 วัน

เด็กนักเรียนตื่นเต้น กำลังจะได้เลือกชุดของตัวเอง กำลังจะได้เลือกอะไรที่แตกต่าง

ได้ยินข่าวนี้แล้วรู้สึกยินดีว่า การศึกษาไทยกำลังให้เด็กสัมผัสกับความแตกต่าง

และยอมรับว่าทุกคนต่างกัน

แม้จะเป็นการทดลองเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ

ต่อไปหากมีการพัฒนาไปสู่การยอมรับในความคิดว่าแต่ละคนอาจมีความเห็นที่แตกต่าง

แต่ก็ใช่ว่าเขาและเธอไม่ดี

คนแต่ละคนอาจจะมีวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายแตกต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายที่เหมือนกันได้

เป็นเป้าหมายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของส่วนรวม

เหมือนกับการทำโจทย์เลขที่ได้คำตอบเดียวกัน แต่อาจใช้วิธีคิดคำนวณแตกต่างกัน

นี่ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยอมรับในแนวทางการสอนเด็กด้วยการเปิดโอกาสให้ซึมซับด้วยการปฏิบัติ

เพิ่มเติมเสริมจากวิธีการพร่ำสอนแบบเดียว แต่น่าจะช่วยให้เด็กเริ่มได้คิด

เด็กในวันนี้ ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า จะได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง โดยปราศจากความเกลียดชัง

นี่ถ้า คสช.ร่วมผลักดันให้การบ่มเพาะเด็กๆ เป็นเช่นนี้ได้

การปฏิรูปการศึกษาที่อยากให้เด็ก “คิดเป็น” ก็เริ่มเห็นแนวทาง

เห็นแนวทางการบ่มเพาะเด็กด้วยวิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่วิธีการพูด การฟัง หรือการยกตัวอย่างเพียงอย่างเดียว

หากแต่เป็นการบ่มเพาะด้วยการดำเนินชีวิต

ทำให้การเรียนไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในห้องเรียน แต่เป็นการใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละเป็นห้องเรียน

ไอเดียของผู้บริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ครั้งนี้น่าชื่นชม

แม้การดำเนินการอาจจะถูกสั่งเบรก หรือสั่นคลอนจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา

แต่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่อยากปฏิรูปการเรียนการสอน

ปฏิรูปการบ่มเพาะอนาคตของประเทศ

ทำให้เด็กในวันนี้ เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า

เป็นเด็กที่ “คิดเป็น ทำเป็น” และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ “คิดเป็น ทำเป็น”

และพร้อมที่จะยอมรับว่าโลกใบนี้ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แม้จะมีความแตกต่างกัน.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image