สุจิตต์ วงษ์เทศ : อำนาจนิยม ในเครื่องแบบนักเรียน

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มทดลองให้เด็กนักเรียนในระดับชั้น ม.1-6 สามารถสวมชุดไปรเวตเข้าเรียนได้ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th)

อำนาจนิยมสิงสู่อยู่ในเครื่องแบบโดยคนทั่วไปจับต้องไม่ได้ และมองไม่เห็น

เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา เป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตา แต่ส่วนที่มองไม่เห็นด้วยตา คืออำนาจนิยมสิงอยู่ในเครื่องแบบเหล่านั้น แล้วควบคุมกระบวนความคิดของนักเรียนนักศึกษามิให้สร้างสรรค์อย่างเสรี

[บางมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนอย่างเดียวกับโรงเรียนมัธยม อาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่มเข้มงวดควบคุมนักศึกษาอย่างเดียวกับนักเรียนมัธยมต้น แต่หนักข้อกว่าคือห้ามอ่านหนังสือหรือความเห็นของคนอื่นที่คิดต่างจากผู้สอน]

นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบจะถูกครูบาอาจารย์ “ชี้นิ้ว” อบรมสั่งสอน ว่า “ความเป็นไทยไม่เหมือนใครในโลก” ไม่เหมือนแม้กระทั่งเพื่อนบ้านใกล้ชิดโดยรอบ

Advertisement

ใครคิดไม่เหมือนครูบาอาจารย์ถือเป็นพวก “แหกคอก” และ “นอกครู” ต้องรับโทษทัณฑ์ต่างๆ อย่างน้อยก็ถูกดุด่าว่ากล่าวเสียดสีเยาะเย้ยถากถาง หนักสุดคือสอบไม่ผ่าน

ความเป็นไทยแบบแหกคอกนอกครู “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” จะยกมาดังนี้

คนไทย ไม่ต่างจากคนอื่น

คนไทยเป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ ร้อยพ่อพันแม่ ล้วนมี บรรพชนร่วม และ วัฒนธรรมร่วม อยู่กับคนอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

1. ไม่มาจากอัลไต เพราะคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ ล้วนมาจากคนไม่ไทย ที่มีในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ม้ง-เมี่ยน, จีน, จาม พราหมณ์กุลา ฯลฯ

ต่อมาคนไม่ไทยเหล่านี้เลือกอยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แล้วกลายตนเองเป็นไทย

2. ไม่ต่างจากเพื่อนบ้าน เพราะมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว ทั้งผู้คนและดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์อย่างแยกออกจากกันมิได้ จึงมีบรรพชนร่วมกันจากนานาชาติพันธุ์

ไทยไม่เป็นมนุษย์ต่างดาว ซึ่งตรงข้ามกับที่ชอบพูดยกตนว่าไทยไม่เหมือนใครในโลก เท่ากับทำตนแปลกแยก (เหมือนมนุษย์ต่างดาว)

3. ไม่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ เพราะอุษาคเนย์พื้นที่มีมาก คนมีน้อย แต่ละบ้านเมืองต้องการคน เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นแรงงานผลิตอาหารและกำลังพลสู้รบในสงคราม

จึงมีประเพณีกวาดต้อนโยกย้ายถ่ายเทผู้คนอยู่เสมอ ให้เข้าสู่ระบบเกณฑ์แรงงาน ทำให้ประสมประสานมากขึ้นในหมู่นานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่

4. ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะคุ้นเคยคนแปลกหน้าจากนานาชาติพันธุ์ที่อยู่ทั้งใกล้และไกล คือ แขกกับเจ๊ก ได้แก่ อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), อาหรับ, และจีน

แล้วมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ โดยรับวัฒนธรรมจากคนกลุ่มนั้นๆ ประสมประสานกับประเพณีท้องถิ่น แล้วเกิดประเพณีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสนองวิถีชีวิตดีกว่าเดิม

ทั้งนี้สืบเนื่องจากไทยอยู่เกือบกึ่งกลางของอุษาคเนย์ มีพื้นที่ทั้งภาคพื้นทวีปและคาบสมุทรซึ่งขนาบด้วยทะเล จึงเป็นจุดนัดพบหรือสะพานเชื่อมโยงโลกตะวันตก-ตะวันออก ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image