ไอคอนสยามคลองเตย คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

แปลกแต่จริง การท่าเรือบอกว่าจะทำไอคอนสยามที่คลองเตย

เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นข่าวสีสัน แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ต้องเกิดอยู่ดี ก็เลยหยิบมาชวนคุยขำๆ ค่ะ

สมัยสาวๆ เคยประจำการเป็นผู้สื่อข่าวสายพาณิชย์นาวี ดูจิปาถะบันเทิงตั้งแต่ธุรกิจชิปปิ้ง ตู้คอนเทนเนอร์ ธุรกิจกรรมกรในท่าเรือที่เรียกว่าสตีวีโดร์ และทำข่าวการท่าเรือแห่งประเทศไทยด้วย

เคยเขียนข่าวมากับมือเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว รัฐบาลยุคปี 2546-2547 บอกว่าจะทำแล้วนะโครงการ “พอร์ตซิตี้”

Advertisement

กิมมิกอยู่ตรงที่การท่าเรือฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนใหญ่ 2,300 กว่าไร่ย่านคลองเตย ตั้งแต่สี่แยกไฟแดงเชื่อมถนนพระราม 4 ไปจนถึงริมเจ้าพระยา

ในทางอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินผืนใหญ่ขนาดนี้เริ่มหาไม่ได้แล้วในย่านใจกลางเมือง เราเห็นคนแห่ไปปลูกตึกจนเต็มแน่นไปหมดในโซนสีลม สาทร

พอที่ดินเปล่าหมดเกลี้ยง ก็ต้องพากันไปซื้อตึกเก่าบ้าง ปั๊มน้ำมันบ้างเพื่อสร้างของใหม่ทดแทน

ดังนั้น ที่ดินผืนใหญ่ของการท่าเรือฯ จึงเป็นผืนใหญ่ที่ใหญ่สะใจจริงๆ ทำเลก็แหล่ม อยู่ตีนทางด่วนขั้นที่ 1 ในอดีตกาลรัฐบาลเคยบอกว่าจะสร้างรถไฟใต้ดินเพิ่มอีก 2 ก.ม.จากศูนย์สิริกิติ์เข้ามาจอดหน้าท่าริมแม่น้ำ

เวอร์ชันใหม่ รัฐบาล คสช.บอกสั่งให้กระทรวงคมนาคมไปทำแผนลงทุนทำรถไฟฟ้าโมโนเรลแทน การลงทุนคงจะเบากว่านั่นแหละ

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าสู่กันฟัง ตอนที่ประเทศไทยจะทำท่าเรือเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า มองหาทำเลที่ให้เรือเข้ามาจอดได้ เจอแล้วแต่ติดขัดนิดเดียวตรงที่มีวัดตั้งอยู่ ก็เลยมีการชะลอวัดธาตุทองจากริมแม่น้ำไปอยู่ติดสถานีบีทีเอสแทน

ในอดีต ถ้าจำไม่ผิดได้เจ้าพ่ออสังหาฯ บางยี่ห้อออกสะตังค์จ้างบริษัทที่ปรึกษาวางมาสเตอร์แพลน ได้เค้าลางออกมาว่าต้องเป็นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสเพราะพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เฉพาะที่พักอาศัยกับตึกสูงมีพื้นที่ 1.8-2 ล้านตารางเมตรกันเลยทีเดียว

ถ้าเราเปรียบเทียบกับอภิโครงการหัวมุมสวนลุมชื่อ “วัน แบ็งคอก” ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ เขาเช่าที่ดินระยะยาวจากสำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 100 ไร่เศษๆ มูลค่าลงทุนตก 1.2 แสนล้านเข้าไปแล้ว

ที่ดินท่าเรือคลองเตยหรือท่าเรือกรุงเทพใหญ่กว่า 20 กว่าเท่า วิวก็ไม่ได้ขี้เหร่ เพราะทางหนึ่งคือวิวเมือง อีกทางหนึ่งคือวิวบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา คนวงการอสังหาฯ หลายคนบอกว่าเห็นแล้วนำลายหก เพราะที่ดินสวยเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม เคยชวนคุยหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าที่เช่าของรัฐมักจะมีเจ้าที่หรือเจ้ากรรมนายเวรติดแปลงที่ดินมาเสมอ ในที่นี้หมายถึงมีผู้เช่าเดิม และอยู่อาศัยนาน 30 กว่าปี

จำนวนไม่ต่ำกว่า 1.2-1.3 หมื่นราย หรือ 1.2-1.3 หมื่นครัวเรือน ทางการท่าเรือฯคำนวณแบบคูณ 4 เท่ากับเป็นผู้เช่าเฉียด 5-6 หมื่นคน

…นี่ก็เป็นเรื่องแปลกอีกเรื่อง เวลาคำนวณประชากรต่อครัวเรือน ถ้าเอกชนคำนวณเพื่อนับจำนวนหัวผู้พักอาศัยในคอนโด จะบอกว่าคูณ 2 ก้อละกัน มี 1,000 ห้องก็ทึกทักว่ามีคนอาศัย 2,000 คน

แต่เวลาเป็นภาครัฐ เวลาคูณจำนวนหัวมักจะใช้สูตรคูณ 4 เข้าใจว่าเผื่อไว้หลวมๆ สำหรับการตั้งงบประมาณดำเนินการด้านต่างๆ เช่น การดูแลเรื่องการขนย้าย การชดเชยต่างๆ การจัดหาสถานที่แห่งใหม่รองรับ เป็นต้น

เข้าใจตรงกันนะ (ฮา)

สูตรการอพยพผู้เช่าเดิมทางการท่าเรือฯ หรืออีกนัยหนึ่งในฐานะหน่วยงานภาครัฐทั่นต้องดูแลประคบประหงมเป็นอย่างดีเลิศอยู่แล้ว เรื่องนั้นไม่น่าห่วง

เรามาพูดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตกันดีกว่า โครงการพอร์ตซิตี้ยุครัฐบาล 4.0 หน้าตาควรเป็นแบบไหน ใครได้ประโยชน์บ้าง

มีคำแนะนำจากโบรกเกอร์อสังหาฯ ชื่อดัง “ซีบีอาร์อี” ปกติคบแต่ลูกค้าแพงๆ เขาถนัดหลายอย่าง ประมูลขายที่ก็ขายได้แพงๆ ตัวอย่างแรกๆ เท่าที่จำได้คือเป็นคนประมูลขายที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาทของสถานทูตอังกฤษในปี 2549 นั่นไง

แต่สำหรับโครงการพอร์ตซิตี้ (ยุคนี้ให้เรียกว่าสมาร์ตซิตี้) ทางซีบีอาร์อีเมนต์เข้าท่าหลายเรื่อง เช่น ให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ถ้าเป็นไปได้ ครึ่งหนึ่งเลยได้ไหม หรืออย่างน้อย 300-400 ไร่ไปเลย

การทำพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในโครงการขนาดใหญ่ เป็นเทรนด์ของโลกทั้งใบ ทำไปแล้วกลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการทั้งโครงการ

ต่อมา เป็นเรื่องการดูแลชุมชนที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน เสนอให้ดูแลพัฒนาตั้งแต่ราคาหลังละต่ำล้านบาท ไปจนถึงห้องละ 2-5 ล้านบาท

หลังจากนั้นจะเอาที่ดินโซนไพร์มแอเรีย อาจจะหน้าท่า-ริมแม่น้ำไปต้มยำทำแกงขายแพงๆ ก็ไม่มีใครว่ากัน เพราะรัฐบาลก็หวังรายได้จากการให้เช่าที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศอีกต่อหนึ่ง

ความจริงโซนริมแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำโขอยู่ เคยกะด้วยสายตาความกว้างไม่น่าต่ำกว่า 300-500 เมตร ในอดีตมองการพัฒนาโดยเลียนแบบโอเปร่าเฮ้าส์ของประเทศออสเตรเลีย หรือจะเป็นแลนด์มาร์กริมน้ำจากทั่วโลก

ยุคนี้ มีตัวอย่างชั้นดีจากการเปิดให้บริการไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร มีความดีงามถึงขนาดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่ทาง “ททท.-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ใช้เป็นจุดนับถอยหลังต้อนรับปีใหม่ 2562 มาแล้ว

คิวต่อไปเป็นที่ดินริมน้ำ ย้ำอีกครั้งว่าการท่าเรือบอกว่าจะเนรมิตให้เป็น “ไอคอนสยาม คลองเตย” ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image