คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

ในสถานการณ์ที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง สื่อมวลชนเป็นหนึ่งในจำนวนองค์กรที่ต้องปรับตัว

การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น หลายคนคงซึมซับกันเรื่องเทคโนโลยีแล้ว

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง การเสพข่าวผ่านสื่อเปลี่ยนไป

สื่อมวลชนก็ต้องปรับตัว

Advertisement

ขณะนี้หลายสื่อในประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัว

สำหรับสื่อในประเทศไทย นอกจากจะต้องปรับตัวให้ทันต่อโลกแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องรับมือให้ทัน

นั่นคือความใหม่ของกฎระเบียบในประเทศนี้

อย่าลืมว่าเมื่อปี 2557 ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง

การฉีกรัฐธรรมนูญเท่ากับการทำลายกฎกติกาของประเทศฉบับเดิม

เมื่อฝ่ายทหารตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับประเทศไทยมีกติกาฉบับใหม่

เป็นกติกาที่กำหนดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เป็นกติกาที่กำหนดรูปแบบการปกครอง

การได้มาซึ่งผู้มีอำนาจ และองค์กรอื่นๆ ที่เป็นโครงสร้างการบริหารประเทศ

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องกำหนดกฎระเบียบอื่นๆ กันใหม่ด้วย

เมื่อกฎระเบียบเปลี่ยนแปลง พลเมืองภายในชาติก็ต้องปรับตัว

นักการเมืองต้องปรับตัว ข้าราชการต้องปรับตัว นักธุรกิจต้องปรับตัว ประชาชนต้องปรับตัว

รวมทั้งสื่อมวลชนไทยก็ต้องปรับตัวด้วย

นอกจากการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องปรับตัวให้ทันกับกฎระเบียบใหม่

ก่อนหน้านี้มติชนได้ติดต่อหัวหน้าพรรคและแกนนำคนสำคัญของพรรคการเมือง 9 พรรค

ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาชาติ

หวังว่าจะเปิดเวทีเพื่อให้แต่ละพรรคได้ฉายภาพ “สิ่งที่จะทำ” หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปมีอำนาจหลังวันที่ 24 มีนาคม

พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ต้องรับมาด้วยความยินดี ทางมติชนได้ติดต่อสถานที่เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังแบบสบายๆ

จองโรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม.

กำหนดเวลาวันที่ 30 มกราคม เวลา 08.30 น. ไปจนถึงเที่ยง

มี นายสรกล อดุลยานนท์ และ นายอดินันท์ เหมือนยัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

แต่ภายหลังจากมี พ.ร.ฎ. ประกาศให้เลือกตั้ง กกต.กำหนดให้มีเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

กฎกติกาหลายอย่างในการหาเสียง ซึ่งเป็นกติกาใหม่ก็เริ่มแผลงฤทธิ์

การให้หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรค 9 พรรคขึ้นเวทีพูดเรื่องนโยบาย อาจถูกร้องเรียน

กกต.ในฐานะผู้กำหนดกฎเกณฑ์ไม่รับประกันว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกหรือขัดกฎหมาย

หากมีเรื่องร้องเรียนก็ต้องมีการสอบสวน

กฎกติกาใหม่ๆ เช่นนี้ ไม่เคยมีคำตัดสิน ไม่เคยมีการสอบสวน

ดังนั้น ทุกคนที่ขึ้นเวทีจึงตกอยู่ในสถานภาพ “เสี่ยง”

เมื่อจะทำให้ทุกพรรคตกอยู่ในสภาพ “เสี่ยง” ต่อการกระทำขัดกฎหมายเลือกตั้ง

ในที่สุดมติชนจึงต้องขอเปลี่ยนแปลงวิทยากร

จากแกนนำพรรคการเมือง ให้มาเป็น นักวิชาการ

เปลี่ยนแปลงเฉพาะวิทยากรที่จะขึ้นไปเสวนาเท่านั้น ส่วนกำหนดการและสถานที่อื่นยังคงเหมือนเก่า

หัวข้อการเสวนายังคงเป็น “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย”

สถานที่จัดงานยังคงเป็น โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม.

เวลาการจัดงานยังคงเป็น 08.30 น.ถึงเที่ยง

และผู้ดำเนินรายการยังคงเป็น นายสรกลและนายอดินันท์

ระยะเวลาการปรับเปลี่ยนมีไม่มาก เพราะทราบว่ามีความเสี่ยงในวันที่ 23 มกราคม ขณะที่กำหนดการจัดงานคือ 30 มกราคม

แต่เมื่อจะเดินหน้าแล้วก็ต้องเดินหน้าไปให้สุด

ในที่สุด มติชนก็ได้รับการตอบรับจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาขึ้นเวทีในวันที่ 30 มกราคม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เข้าใจในเหตุและผล

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

ประเทศไทยที่อยากเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ก็ด้วยเหตุเดียวกัน

ประเทศชาติที่น่าจะพัฒนาไปไกล แต่ยังพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหนก็เป็นไปด้วยเหตุเดียวกัน

ข้อครหา ข้อวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความอ่อนด้อยของประเทศก็ล้วนมีมาแต่เหตุ

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

ผู้ที่สนใจการเมืองและอยากทราบผลจากการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ยังสามารถจับจองที่นั่งภายในงานได้

ช่องทางเปิดรับสำรองที่นั่งยังเป็นเหมือนเดิม

เนื้อหาสาระยังคงจัดเต็ม เพียงแค่เสียงดายที่ไม่ได้ยินจากปากผู้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ

เสียดายโอกาสที่ประชาชนจะได้รับฟังก่อนเลือกตั้ง

แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกฎนี้

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image