คอลัมน์ แดดเดียว : หนักแผ่นดิน

พูดถึงเพลงการเมือง คนรุ่นใหม่ๆ จะรู้จัก “ประเทศกูมี” อันเป็นเพลงสำหรับเจเนอเรชั่นนี้อย่างแท้จริง เพราะใช้ดนตรีสไตล์ฮิพฮอพ เน้นจังหวะมากกว่าทำนอง

ส่วนเนื้อเพลง ใช้วิธีแร็พ ร้องเป็นถ้อยคำคล้องจอง ลงจังหวะ ฟังแล้วสนุกสนานคึกคักและเร้าใจ

ออกมาตอนแรก เจ้าหน้าที่จะเอาใจรัฐบาล พลิกกฎบัตรกฎหมายจะเอาเรื่อง ทำให้เพลงยิ่งดัง สุดท้ายยอมถอยไป

ตอนนี้ยอดวิว “ประเทศกูมี” ทะลุหลักหลายสิบล้าน และกลายเป็นตำนานเพลงการเมืองยุคใหม่ไปแล้ว

Advertisement

ส่วน “หนักแผ่นดิน” ไม่เชิงเป็นเพลงการเมือง แต่เป็นเพลงแนวปลุกจิตปลุกใจให้รักชาติ ที่แต่งเมื่อปี 2518 เปิดอยู่ตามวิทยุของทหารและทางราชการ

ขณะนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516

ประชาธิปไตยทำให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเต็มที่ ออกมาชุมนุมประท้วงบ้าง ถกเถียงปัญหาบ้านเมืองพร้อมกับศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ที่เคยถูกปิดกั้น

Advertisement

ก่อนหน้า 14 ตุลาฯ แนวคิดสังคมนิยม แนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับสังคมไทย มี พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ห้ามเอาไว้

ประเทศสังคมนิยมเบ้อเริ่มเทิ่มอย่าง สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เป็นประเทศต้องห้าม ถือว่าเป็นอีกค่ายหนึ่ง ส่วนไทยเราอยู่อีกค่ายที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่

ขณะที่ในป่าเขา ทางเหนือ อีสาน ใต้ แม้กระทั่งภาคกลาง มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพรรคผิดกฎหมาย เคลื่อนไหวสะสมกำลังเพื่อจะชิงอำนาจรัฐ

ยิ่งทำให้แนวคิดที่ออกไปทางซ้ายดูเป็นเรื่องที่ห้ามเผยแพร่พูดจาในบ้านเมืองเรา

พอเกิด 14 ตุลาฯ กระแสของเสรีภาพที่เข้ามาพร้อมกับการลี้ภัยออกไปของ 3 ทรราช ทำให้ประชาชนตื่นตัวศึกษาแนวคิดใหม่ ทั้งสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เรื่องของเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำจีน, เรื่องของ คาร์ล มาร์กซ์, เลนิน, นักปฏิวัติอย่างเช เกวารา ฯลฯ ไปจนกระทั่งจิตร ภูมิศักดิ์ อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาฯ ที่เข้าป่าและไปถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตในป่า

มีการตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นมา ลงเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลายที่นั่ง

ทางรัฐไทย ทั้งระบบราชการ ฝ่ายความมั่นคง เริ่มหวาดผวาว่า แนวคิดของฝ่ายซ้ายจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเริ่มปฏิบัติการต่อต้าน

ระยะนั้น ขบวนการนักศึกษาที่ได้เครดิตอย่างสูงจากการขับไล่ 3 ทรราช กำลังเฟื่องฟู ประชาชนเดือดร้อน จะวิ่งไปหา มีการจัดกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม

วิธีคิดของนักศึกษาที่เห็นว่าบ้านเมืองไม่เป็นธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และมีกลุ่มประชาชนเห็นด้วย ทั้งชาวนา กรรมกร และอีกหลายกลุ่มอาชีพ ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองผวาว่า นักศึกษาจะให้บ้านเมืองเปลี่ยนไปทางไหนกัน

การต่อต้านจึงเริ่มรุนแรง ผู้นำนักศึกษา ผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกร ถูกยิงเสียชีวิตไปหลายคนในเวลานั้น

ส่วนหนึ่งของการต่อต้าน ก็คือ การทำเพลงออกมาประณาม พอเปิดเพลงเหล่านี้มากๆ เข้า จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดเวทีอภิปรายด่านักเคลื่่อนไหวเหล่านี้ ถ่ายทอดทางวิทยุของทางราชการ

สื่อหลายสำนักก็เล่นกับเขาด้วย เขียนหน้า 4 เขียนข่าวด่าผู้นำนักศึกษาว่าเป็นพวกรับแผนต่างชาติมาทำลายบ้านเมืองตัวเอง

ปั่นกันอย่างเป็นระบบ จากคนที่แค่คิดต่างไปจากฝ่ายรัฐ เลยกลายเป็นคล้ายๆ ผู้ก่อการร้ายไป

สุดท้าย เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นักศึกษาส่วนหนึ่งเสียชีวิต แต่ส่วนที่มากกว่า หนีเข้าป่าไปจับปืนร่วมกับ พคท.

นั่นคือสภาพแวดล้อมที่เพลง “หนักแผ่นดิน” เกิดขึ้นมา เวลาผ่านไป 50 กว่าปี เพลงนี้กลับมาอีกครั้ง

วันก่อน นักการเมืองงัดนโยบาย ตัด “งบทหาร” ขึ้นมาพูด แล้วนายทหารคนสำคัญไม่พอใจ เลยไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”

กลายเป็นเรื่องเป็นราวพูดกันมาหลายวัน

“…ส่วนหนึ่งของการต่อต้าน ก็คือ การทำเพลงออกมาประณาม
พอเปิดเพลงเหล่านี้มากๆ เข้า จัดกิจกรรมต่างๆ
อาทิ การจัดเวทีอภิปรายด่านักเคลื่่อนไหวเหล่านี้
ถ่ายทอดทางวิทยุของทางราชการ…”

บางคนพยายามบอกว่าเป็น “มุข” หรือเปล่า ที่จริงท่านจะไล่นักการเมืองคนนั้นให้ไปลดน้ำหนัก ตัวจะได้เบาๆ ไม่หนักแผ่นดิน

วิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายทิศหลายทาง แต่สรุปแล้ว ไม่เป็นผลดีกับใครเลย

เพราะบรรยากาศบ้านเมืองตอนนี้ เป็นบรรยากาศของการเลือกตั้ง เป็นช่วงของการหาเสียง

นักการเมืองหาเสียง ควรเสนอแนวนโยบายได้ จะดีไม่ดี จะกระทบใครบ้าง สุดท้ายชาวบ้านจะเป็นคนตัดสินเอง

ถ้าเสนอนโยบายนี้แล้ว ชาวบ้านซื้อ เข้าคูหาไปโหวตให้ เข้าสภาไป พรรคนั้น บุคคลนั้นต้องไปทำ ไม่ใช่ไปทำแบ๊ว ไม่รู้ไม่ชี้

พรรคที่สนับสนุนกองทัพ ไม่ควรยอมน้อยหน้า ควรรีบออกมาประกาศโดยไวว่า งบทหารยังน้อยเกินไป ประชาชนไม่อุ่นใจ เดี๋ยวข้าศึกบุกมาประชิด จะให้เอาดาบหอกแหลนหลาวไปสู้ จะเหมือนรบมือเปล่า

ควรสู้กันแบบนี้ ประชาชนจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น

ตอนนี้เป็นช่วงปลายเดือน ก.พ. เดี๋ยวปลายเดือนหน้า ก็ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งกันแล้ว

ฝ่ายที่ชูเพลงหนักแผ่นดินจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ อีกไม่นานได้รู้กันชัดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image