คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ทีวีออนไลน์

ชีวิตคนรุ่นใหม่ผูกติดกับโทรศัพท์มือถือจนแทบแยกไม่ออก ในฐานะศูนย์รวมทุกสิ่งทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน และหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร รับข้อมูลข่าวสาร และการทำธุรกรรมเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้า และบริการต่างๆ โดยมีสารพัด “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เป็นตัวกลาง

ทุกวันนี้เราทำได้แทบจะทุกสิ่งผ่านหน้าจอมือถือตั้งแต่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ, เรียกแท็กซี่, ส่งเอกสาร, พัสดุ, จองตั๋วหนัง, สั่งอาหาร เรื่อยไปจนถึงการท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งจองที่พัก, ซื้อตั๋วเครื่องบิน และอีกสารพัน

แม้แต่การเสพความบันเทิงในปัจจุบันยังย้ายจากหน้าจอ “ทีวี” มายัง “มือถือ” มีให้เลือกทั้งดูฟรีทีวีปกติผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น เอไอเอสเพลย์, ทรูไอดี และอีกมากมาย รวมถึงบรรดาวิดีโอสตรีมมิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์, ไอฟลิกซ์, เอชบีโอโก หรือแม้แต่ “ไลน์ทีวี” (LINE TV) ที่ถือว่ามาแรงมาก หากดูยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ทะลุ 20 ล้านครั้ง ไปแล้วเรียบร้อย รวมเข้ากับเม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังเปิดบริการเข้าปีที่ 4 แล้ว

“ไลน์ ประเทศไทย” เปิดเผยว่าปัจจุบัน LINE TV เป็นอันดับหนึ่งของช่องทางรับชมรายการทีวีย้อนหลัง (รีรัน)

Advertisement

ไม่ใช่แค่นั้น จากยอดการเข้าถึงข้อมูลเมื่อเทียบกับสื่อโทรทัศน์ กลุ่มผู้ใช้ยังเป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงข้อมูลสูงมากทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมถึงธุรกิจในรูปแบบเดียวกันหันมาให้ความสนใจ LINE TV ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ซึ่งล้วนแล้วแต่รับชมทีวีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นหลัก

ปัจจุบันมีผู้ชมรายการทีวีผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ อยู่ที่ 49% และมียอดการเข้าชมถึง 60% จากฐานผู้ชมโทรทัศน์ปกติ 55 ล้านคน ทั้งมีการใช้เวลารับชมต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 2.43 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็น 75% ของระยะเวลาในการรับชมบนทีวี

กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ชอง LINE TV มีอายุเฉลี่ย 25-35 ปี แต่กลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมยังเป็นคอนเทนต์ไทยเป็นหลัก โดย 47% ดูละคร 39% ฟังเพลง และ 33% ดูรายการประเภทเกมโชว์

“กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์” ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย พูดถึงเป้าหมายของบริษัทว่าต้องการเป็นผู้ให้บริการ “ทีวีออนไลน์” เพื่อคนไทย ผ่านการนำเสนอทั้งการรับชมทีวีย้อนหลัง และคอนเทนต์ที่มีการนำเสนอเฉพาะบนแพลตฟอร์ม LINE TV เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมฟรีในทุกที่ทุกเวลา ทั้งละคร รายการบันเทิง รายการวาไรตี้โชว์ รวมทั้ง “ออริจินอลคอนเทนต์” ต่างๆ ที่ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ และผู้ผลิตชั้นนำของประเทศ

มากกว่านั้น LINE TV ยังมีเป้าหมายในการเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาชั้นนำสำหรับนักการตลาดอีกด้วย โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา สถิติโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE TV มีอัตราการเข้าชมสูงขึ้น 2 เท่า รวมถึงความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบในภาพรวมมูลค่าโฆษณาที่ลงทุนกับ LINE TV ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จเฉลี่ยถึง 100% ต่อปีนับตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นมา

ในงาน NEXPLOSION 2019 “LINE TV” ได้ประกาศวิสัยทัศน์ธุรกิจสำหรับปี 2562-2564 โดยพูดถึงกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญในการขึ้นเป็น “แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ของคนไทย” ว่าอยู่ที่การนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้ชมทั่วประเทศ โดยจะมีการปรับให้เข้ากับความชอบของแต่ละบุคคล

และเพื่อเสริมความแข็งแรงด้านผู้นำแพลตฟอร์มการชมรายการทีวีย้อนหลัง (รีรัน) จึงขยายความร่วมมือไปยังพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เช่น ช่อง 8 และ PPTV รวมเข้ากับการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับพาร์ตเนอร์เดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่องวัน 31, จีเอ็มเอ็มทีวี, กันตนา, นาดาวบางกอก และช่อง 3 เป็นต้น ในการนำเสนอคอนเทนต์พิเศษที่หลากหลายให้เข้ากับฐานผู้ชมที่เติบโตขึ้น

พร้อมกันนั้นยังเตรียมคอนเทนต์ใหม่ๆ สำหรับ LINE TV Originals จากความร่วมมือกับผู้ผลิตต่างๆ ทั้ง “Great Men Academy” ซีรีส์จากนาดาวบางกอก และ “Infinite Challenge Thailand” รายการบันเทิงยอดนิยมจากเกาหลีใต้ในเวอร์ชั่นไทยจากเวิร์คพอยท์ และนำเสนอคอนเทนต์แอนิเมชั่นใหม่ๆ เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มผู้ชมเพศชาย และทำคอนเทนต์จับกลุ่มแฟนเพลงศิลปินลูกทุ่ง เพื่อเจาะกลุ่มแมสให้มากขึ้นด้วย

ผลสำรวจโดย Kantar Milward Brown ในปี 2562 ระบุว่า LINE TV คือ “ทีวีออนไลน์อันดับหนึ่งในใจ” ของคนไทย ส่งผลให้เกิดการรับชมโฆษณาที่มีรูปแบบเช่นเดียวกับการรับชมผ่านทีวีในอดีต อีกทั้ง “การรับชมต่อเนื่อง” ส่งผลให้มียอดรับชมโฆษณาเพิ่มเป็น 2 เท่า ทั้งในแง่ของการตั้งใจรับชม และโอกาสในการรับชม

ปี 2561 ที่ผ่านมา มีแบรนด์ระดับโลกทั้งผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ลงงบโฆษณากับ LINE TV เป็นมูลค่าเพิ่มถึง 100% จากปี 2560 ตามด้วยผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี และอีคอมเมิร์ซ ด้วยยอดเติบโต 40% และมียอดโฆษณาทาง LINE TV สูงสุดในไตรมาส 4/2561 เติบโตถึง 400% จากไตรมาส 4 ของปีก่อน

และยอดรับชมโฆษณาหลังจบเนื้อหาช่วยเพิ่มยอดวิวถึง 20% เมื่อเทียบกับโฆษณาประเภทอื่นจึงตอบสนองความต้องการของนักการตลาดที่อยากดึงความสนใจจากผู้ชมในจำนวนมากขึ้นได้

ไม่เฉพาะแต่ LINE TV ที่กระโดดเข้าสู่ตลาดโฆษณาออนไลน์ ค่ายมือถืออย่าง “เอไอเอส” ซึ่งกำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการ “ดิจิทัลเซอร์วิส” ก็เข้าสู่สนามนี้เช่นกัน

โดย “เอไอเอส” กำลังพัฒนา “แอดเวอร์ไทซิ่ง แพลตฟอร์ม” เชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 4 ล้านราย ที่ใช้แอพพลิเคชั่น “เอไอเอส เพลย์” (AIS Play) ซึ่งเป็นช่องทางในการออกอากาศฟรีทีวีกับช่องฟรีทีวีต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ “ฟรีทีวี” ที่ออกอากาศบน “เอไอเอสเพลย์” นำเสนอโฆษณาได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการหารายได้จากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อผู้บริโภคในปัจจุบันใช้ชีวิตคู่ขนานในโลกออฟไลน์และออนไลน์อย่างแทบแยกกันไม่ออก ธุรกิจต่างๆ จึงต้องขยับขยายไปยัง “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image