คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ยุคท้าทาย

รางวัลพระปกเกล้าปีนี้เริ่มต้นพิจารณา “ตัวชี้วัด” กันแล้ว

ตัวชี้วัดมีความสำคัญ เพราะจะเป็นกลไกที่คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เจ๋ง

เจ๋งในด้านการมีส่วนร่วม และโปร่งใส

หรือเจ๋งในด้านการส่งเสริมเครือข่าย

Advertisement

หรือเจ๋งในด้านส่งเสริมสมานฉันท์

ที่ประชุมนำโดย อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ผนวกกับองค์กรต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช. สตง. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านท้องถิ่น รวมไปถึงคณาจารย์ในสถาบันพระปกเกล้าที่คลุกคลีกับการกระจายอำนาจ ได้ร่วมกันวางกรอบ

สรุปออกเป็นตัวชี้วัด 7 ประการ

Advertisement

หมวดที่ 1 การจัดแผนพัฒนาท้องถิ่น หมวดที่ 2 การจัดทำโครงการและบริการสาธารณะ หมวดที่ 3 การบริหารการเงินการคลังท้องถิ่น

หมวดที่ 4 กระบวนการกิจการสภาท้องถิ่น หมวดที่ 5 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หมวดที่ 6 การเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของประชาชน

หมวดที่ 7 โครงการที่โดดเด่นเป็นเลิศด้านที่นำเสนอ

ในหมวดที่ 7 นี้มีความหมาย เพราะที่ผ่านมาตัวชี้วัดหมวดนี้จะเป็น “หมัดเด็ด” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มัดใจกรรมการ

เพราะกระบวนการคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมารับรางวัลพระปกเกล้านั้นมีหลายขั้น

เริ่มจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครเข้ามาที่สถาบันพระปกเกล้า

จากนั้นรับเอกสารไปแล้วกรอกรายละเอียดในแบบสอบถามเพื่อส่งให้นักวิจัย

นักวิจัยจะนำไปเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเบื้องต้น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนทำคะแนนในรอบส่งเอกสารได้ดีก็จะผ่านเข้ารอบ 2 โฟกัสกรุ๊ป

รอบที่ 2 นี้นักวิจัยจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า เอกสารที่ส่งมานั้นจริงหรือเท็จประการใด

ความพอใจจากโครงการที่ทำมีมากหรือน้อย ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลโดดเด่นแค่ไหน

เมื่อประเมินแล้วสรุปผลส่งคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา

การพิจารณานอกจากจะอิงเกณฑ์ตามที่นักวิจัยลงไปสำรวจแล้ว คณะกรรมการยังต้องลงพื้นที่

ไปฟังให้ได้ยินกับหู ไปดูให้เห็นกับตา

ตอนที่คณะกรรมการลงพื้นที่นี่แหละที่ “หมวดที่ 7” จะได้สำแดงฤทธิ์

เพราะความโดดเด่นที่นำเสนอ จะชักนำให้กรรมการเห็นกระบวนการที่ได้ทำมา

การมีส่วนร่วม-ความโปร่งใส การสร้างเครือข่าย-โปร่งใส การสร้างความสมานฉันท์-โปร่งใส

และผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น

หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดมีกระบวนการที่ชาวบ้านเข้ามาร่วมทั้งคิด ทำ ประเมินผล และต่อยอด

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็มักจะได้รับโล่

ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดที่อาจจะพลาดในรอบสุดท้าย มีผลงานไม่ถึงเกณฑ์

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้่นก็รับใบประกาศเกียรติคุณจากสถาบันพระปกเกล้าไปแทน

การพิจารณารางวัลพระปกเกล้าครั้งนี้มีการปรับตัวชี้วัด

คณะกรรมการได้เพิ่มความเข้มของตัวชี้วัด

ขับเน้น “การส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของประชาชน” ให้เด่นชัด

คณะกรรมการให้ความสำคัญกับผลงานที่ตอบสนอง “ความท้าทายใหม่”

และให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

แย้มตัวชี้วัดเฉพาะ “ความท้าทายใหม่” ต้องพิจารณาในแต่ละรางวัล

เช่น โครงการที่ทำให้กับผู้ด้อยโอกาส โครงการรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โครงการรับมือความท้าทายเฉพาะพื้นที่

การอนุรักษ์ภูมิปัญญา การปรับตัวเข้ากับประชาคมอาเซียน เป็นต้น

การกำหนดตัวชี้วัดเรื่อง “ความท้าทาย” นี้เข้ากับยุคสมัย ทั้งนี้ เพราะทุกวันนี้โลกทั้งใบหมุนเร็วขึ้นมาก

สิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงมาก

สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงเร็ว

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความท้าทายให้แก่ทุกประเทศทั่วโลก

และความเปลี่ยนแปลงนี้ก็สร้างความท้าทายให้แก่ทุกท้องถิ่นทั่วไทย

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงอยู่ในยุคท้าทาย

แม้แต่รางวัลพระปกเกล้าก็เป็นหนึ่งในความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งไหนมีผลงานระดับรับโล่รางวัลได้ ต้องปรบมือให้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่ไม่ได้โล่ แต่ได้ประกาศเกียรติคุณก็ถือว่าเยี่ยม

ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้ามา แต่ไม่ผ่านการประเมิน ก็จะมีนักวิชาการบอกสาเหตุที่ไม่เข้ารอบไปให้

การสมัครเข้าประกวดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในผลงานที่ท้องถิ่นทำ

ยิ่งปีนี้ คสช.ปลดล็อกทางการเมือง เลือกตั้ง ส.ส.กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีกำหนดเลือกตั้งเหมือนกัน

ปีนี้จึงเป็นปีที่เหมาะสมที่ท้องถิ่นต่างๆ จะแสดงผลงานที่ได้ทำเพื่อประชาชน

ผลงานที่ทำให้ประชาชนมั่นคง มั่งคั่ง มีความสุข

ผลงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคภูมิใจ

ยิ่งสร้างผลงานได้ในยุคที่ทุกอย่าง คือ ความท้าทาย ยิ่งภาคภูมิใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image