คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ยังทันสมัย

เมษายนมีวันหยุดยาวๆ แบ่งเป็นห้วงๆ

ล่วงเลยจากสัปดาห์นี้ก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ในสัปดาห์หน้า

ใครยังไม่มีที่หมายว่าจะแวะเวียนไปพักผ่อนที่ไหน ลองไปเที่ยวที่นี่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร !

Advertisement

ใครที่เป็นโรคกลัวของเก่าอย่าเพิ่งถอยห่าง เพราะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนี้

แม้จะรวมของเก่าแต่ก็มีความใหม่

ใครเคยชมวีดิทัศน์ที่ คุณใหม่ หรือ คุณสิริกิติยา เจนเซน นำเสนอแล้วคงซาบซึ้ง

Advertisement

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นตั้งอยู่บนพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล

หรือตั้งอยู่บนพื้นที่ของ “วังหน้า” นั่นเอง

ความสำคัญของวังหน้าคงไม่ต้องเอื้อนเอ่ยมากความ เพราะที่นั่นคือวังของมหาอุปราช

สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นคราวเดียวกับวังหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.2325

เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทั้ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1

ทั้ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 2

ทั้ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ สมเด็จพระปิตุลาธิราชในรัชกาลที่ 3

รวมถึง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 4

และ สมเด็จพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในรัชกาลที่ 5

ใครที่เข้าไปชื่นชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงจะซึมซับศาสตร์ต่างๆ ที่มีการนำเสนอ

เปิดคลิปวีดิทัศน์ฟังบรรยายที่ตั้ง ทราบว่าวังหน้าตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์วังหลวง

วังหน้าและวังหลวงกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ตามตำราพิชัยวังหน้าตั้งอยู่ในจุดของ “หัวพญานาค” ส่วนวังหลวงตั้งอยู่บริเวณส่วน “ท้องพญานาค”

ขณะเดียวกันศิลปกรรมของวังหน้าก็มีลักษณะแตกต่างจากวังหลวง

แตกต่างกันเพื่อป้องกันการเทียบชั้นพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์

หลังคาของวังหน้าจึงมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสีเหมือนกับกระเบื้องมุงหลังคาวังหลวง

กรอบหน้าจั่วหลังคาของวังหน้า จะประดับช่อฟ้าปากปลา ใบระกา นาคปัก และซุ้มบันแถลง

ส่วนวังหลวงจะประดับช่อฟ้าปากนก นาคสะดุ้ง และหางหงส์

แล้วยังมีอื่นๆ อีกหลายประการ

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีทั้งสถาปัตยกรรมของวังหน้า

และมีทั้งสถาปัตยกรรมที่สร้างในวังหลวงแล้วนำมาไว้ในพิพิธภัณฑ์

ทำให้เราสามารถมองความแตกต่างได้

ดูแล้วเพลิน

นอกจากนี้ในพระที่นั่ง หมู่พระวิมาน อาคาร รวมถึงโรงราชรถ ต่างก็มีของล้ำค่าที่มีคุณค่าของไทย

อาทิ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน แสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์และศิลปกรรม

เข้าไปแล้วได้สัมผัสถึงความงามของพระพุทธรูป เทวรูป สมัยต่างๆ

ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ล้านนา สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์

ท้ายห้องแสดงนิทรรศการมีพระเศียรพระพุทธรูปที่พบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

สันนิษฐานและถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นพระพุทธรูปวัดพระศรีสรรเพชญ์หรือเปล่า

สนใจอ่านหนังสือพระศรีสรรเพชญ์ ของสำนักพิมพ์มติชน เขียนโดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จะเพิ่มอรรถรส

หรือใครจะกราบพระพุทธสิหิงค์ก็แวะเข้าไปในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ที่มีความสวยงาม

สวยงามทั้งพระพุทธรูปเบื้องหน้า และสถาปัตยกรรมภายใน

ส่วนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารแบบยุโรปที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสร้างนั้น

จะทำให้เราได้เห็นอาณาเขตของพระราชวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 เปรียบเทียบกับสถานที่จริงในปัจจุบัน

ได้เห็นอิฐที่ใช้ก่อสร้างอาคารแห่งนี้ตั้งแต่สมัยนั้น

และทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงโปรดเครื่องดนตรีแคน และทรงประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็ก

อีกสถานที่หนึ่งที่มิอาจพลาดนั่นก็คือ หมู่พระวิมาน 

ในหมู่พระวิมานมีพระที่นั่งหลายพระที่นั่ง สมัยนั้นได้สร้างพระที่นั่งแบบ 3 ฤดู

พระที่นั่งวสันตพิมาน ใช้ในฤดูฝน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ใช้ในฤดูหนาว และพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ใช้ในฤดูร้อน

ปัจจุบันแต่ละพระที่นั่งได้แสดงนิทรรศการหลากหลายเรื่องราวที่ทรงคุณค่าของไทย

และยังคงแสดงเครื่องที่ประทับไว้ที่พระที่นั่งวสันตพิมานด้านบน

อีกส่วนที่สร้างความประทับใจ คือ เครื่องถ้วยชามในราชสำนัก เครื่องโลหะศิลป์ เครื่องมุกและอื่นๆ

อย่างการทำถ้วยชามสังคโลกนั้นไปดูใกล้ๆ แล้วรู้สึกมหัศจรรย์

จากดินขึ้นรูปปั้นแล้วเผา แล้วนำจากเตามาลงสี แดง เหลือง ดำ ขาว และเขียว แต่งแต้มด้วยน้ำทอง และนำไปเผาอีกรอบ จนกลายเป็นถ้วยชามที่มีลวดลายสวยงาม

ลวดลายบนเครื่องชามสังคโลกก็มีเป็นยุคเป็นสมัย มีชื่อมากมาย ดูแล้วเพลิดเพลินตาจริงๆ

ความประทับใจจากการชื่นชมพิพิธภัณฑ์นี้ นอกจากจะได้เห็นของจริงแล้ว ยังมีวีดิทัศน์ให้ดู

แถมยังมีคนมาอธิบายให้ทราบในบางจุดบางที่

ที่สำคัญคือทุกที่ทุกทางแม้จะเป็นของเก่า แต่สถานที่สะอาด มีเทคโนโลยีประกอบ

ช่วยขับเน้นความล้ำค่าของไทยให้เปล่งประกายออกมา

หยุดยาวครั้งนี้อย่าลืมแวะเวียนไปชื่นชม

เข้าไปดูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เก็บของล้ำค่าเก่า

ของเก่าแต่ยังทันสมัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image