คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทวารวดี เมืองศรีเทพ-ละโว้ ถึงกรุงศรีอยุธยา

“เมืองศรีเทพ ศูนย์กลางของทวารวดี” โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ พิมพ์สอดสีทั้งเล่ม ผมเพิ่งเห็นและเพิ่งอ่านเมื่อปลาย มีนา-ต้นเมษา 2562 นี้เอง หลังพรรคพวกคนหนึ่งกรุณายืมให้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

อ่านจบแล้วรื่นเริงบันเทิงมาก เลยไหว้วานพรรคพวกอีกคนไปซื้อหาอีกหลายเล่มจากร้านขายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างสนามหลวง) แจกจ่ายพรรคพวกหลายคนที่ติดตามชอบความรู้เรื่องทวารวดี

ทวารวดีเกี่ยวข้องเมืองศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) ผมเคยเขียนแล้ว 2 ครั้ง ในมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561 และฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 โดยไม่ได้อ่านหนังสือของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ถ้าอ่านก่อนจะไม่โง่และต้องสนับสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู

ศรีเทพ-ละโว้

เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) กับเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นเครือญาติกลุ่มเดียวกันบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก นับเป็นทวารวดีด้วยกัน [เมืองศรีเทพทุกวันนี้อยู่ อ. ศรีเทพ (ทางใต้สุดของ) จ. เพชรบูรณ์ เขตติดต่อ จ. ลพบุรี ที่ อ. ชัยบาดาล] สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีน

Advertisement

เกี่ยวดองถึงเมืองพิมาย ลุ่มน้ำมูล กับเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) โตนเลสาบ กัมพูชา รวมทั้งเครือข่ายการค้าทางทะเลสมุทรกับบ้านเมืองขอบอ่าวไทย ลงไปคาบสมุทรมลายู

เมืองศรีเทพกับเมืองละโว้ สืบมรดกตกทอดถึงกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา

“กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” เป็นชื่อในพิธีกรรมของกรุงศรีอยุธยา มีความหมายเป็นนัยยะว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงเทวดาชื่อทวารวดีของพระกฤษณะ สืบเนื่องถึงชื่อศรีอยุธยาของพระราม

[ไม่ใช่คำแปลตามรูปศัพท์ แต่เป็นนิยามความหมาย ซึ่งอาจมีผู้อื่นจะอธิบายเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้ ไม่อั้น]

พระกฤษณะ กับ พระราม เป็นอวตารของพระนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยมีอานุภาพต่างกัน ผมจำสาระสำคัญกว้างๆ อย่างง่ายๆ จาก คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตทับแก้ว นครปฐม) ว่า พระกฤษณะเป็น เทวดามหานิยม สนุกสนานบันเทิง ส่วนพระรามเป็น เทวดามหาราช เคร่งครัดจัดระเบียบมีวินัย

หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า

สมัยแรก ราว พ.ศ. 1000 เริ่มมีการค้าโลกกับอินเดีย-อิหร่าน-อาหรับ บรรดาคนชั้นนำพื้นเมืองอุษาคเนย์นับถือพระกฤษณะ “เทวดามหานิยม” เทพสถาปนากรุงทวารวดี (ศรีวิชัย) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ไม่ใช่พุทธ แต่ปนพุทธในอุษาคเนย์)

สมัยหลัง ราว พ.ศ. 1500 มีการค้าสำเภากับจีนอย่างเข้มข้น บรรดาคนชั้นนำท้องถิ่นเปลี่ยน (จากพระกฤษณะ) เป็นนับถือพระราม “เทวดามหาราช” เทพสถาปนา กรุงอโยธยาศรีรามเทพ หลังจากนั้นย้ายศูนย์กลางจากเมืองละโว้ลงไปอยู่อยุธยา เรียกชื่อกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยามแห่งแรกของไทย

นักปราชญ์ไทยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

พิริยะ ไกรฤกษ์ มีผู้บอกว่าท่านจบปริญญาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล (สหรัฐ)

งานวิชาการที่ได้รับสรรเสริญยกย่องอย่างยิ่ง พิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ.2517 เกี่ยวกับภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์จุลประโทณ (จ.นครปฐม) เรื่อง พุทธศาสนานิทานที่เจดีย์จุลปะโทน (เป็นภาษาอังกฤษ) แปลเป็นภาษาไทยโดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

พิริยะ ไกรฤกษ์ เคยสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่แนวคิดวิชาการไปกันไม่ได้ เลยโอนไปเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีงานวิชาการต่อเนื่องไม่หยุดจนได้รับยกย่องจากชุมชนวิชาการสากล ว่าเป็นนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image