คอลัมน์ โลกสองวัย : วันแรงงาน ‘แรงงานสร้างโลกจริงหรือ’

ผ่านมาถึงอีกปีหนึ่งของผู้ใช้แรงงานคือวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อก่อนประเทศไทยเรียกว่า วันกรรมกร ภาษาอังกฤษ หรือชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษยังคงเรียกว่า “May Day”

เหตุที่ทุกประเทศใช้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงาน หรือวันของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและบวงสรวงให้ปลูกพืชได้ผลดี และขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

ขณะที่ทางภาคเหนือของยุโรปมีการจัดงานรอบกองไฟ ประเทศอังกฤษยังมีสืบทอดมาถึงทุกวันนี้

เมื่อแรกเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศถือเป็นวันหยุดตามประเพณี มีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจประเทศ

Advertisement

เมื่อ พ.ศ.2433 มีการเรียกร้องของประเทศในแถบตะวันตก ให้ถือวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันแรงงานสากล มีการฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรก สืบทอดมาถึงทุกวันนี้

ส่วนประเทศไทยเมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกร มีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น พ.ศ.2475 จึงเริ่มจัดการบริหารแรงงานเป็นการจัดสรร พัฒนาแรงงาน และคุ้มครองดูแลสภาพการทำงานเพื่อสร้างรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

วันที่ 20 เมษายน 2475 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงาน จัดประชุมพร้อมกันด้วย มีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกแรงงานไทย มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมมกรแห่งชาติ ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ

Advertisement

พ.ศ.2500 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานวันแรงงานแห่งชาติด้วย ขณะนั้น ปัญหาแรงงานมีอีกหลายปัญหา ทำให้พระราชบัญญัติฉบับนั้นใช้ได้เพียง 18 เดือน มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทน ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงานและกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่ไม่มีการเฉลิมฉลอง

จน พ.ศ.2517 จึงให้เฉลิมฉลองกันตามสมควร มอบให้กรมแรงงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นที่สวนลุมพินี

ต่อมา วันที่ 25 กรกฎาคม 2536 มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีหน้าที่หลัก 5 ประการ คือ 1.การจัดหางาน 2.งานแนะแนวอาชีพ 3.การพัฒนาแรงงาน 4.การคุ้มครองแรงงาน และ 5.งานแรงงานสัมพันธ์

นอกจากนั้น ส่วนของผู้ใช้แรงงาน ยังมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอีกหลายร้อยกลุ่ม และมีการจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น รวม 3 สภา ได้แก่ 1.สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย 2.สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย และ 3.สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

คำว่า “แรงงาน” หรือ “กรรมกร” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างมาก เช่นในหลายประเทศยังมีการจัดตั้งพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคที่มีความเข้มแข็งพอสมควร เช่น พรรคแรงงานในประเทศอังกฤษ หัวหน้าพรรคมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

ส่วนประเทศไทย เคยมีทั้งพรรคแรงงาน และพรรคกรรมกร แม้จะมีบทบาทพอสมควร แต่สมาชิกพรรคยังไม่เคยได้รับเลือกตั้งในจำนวนที่มากพอ หรือจำนวนหนึ่งที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่ผู้นำทางแรงงานเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ถึงขนาดผู้นำทางการเมืองทั้งในยุคประชาธิปไตย และยุคเผด็จการคอยติดตามพฤติกรรมและความเคลื่อนไหวเป็นประจำ ทั้งผู้นำแรงงานบางคน ถูก “อุ้ม” หายตัวไปจากสังคมก็มี

แม้ว่าแรงงานมีความหมาย ถึงกับมีคำขวัญว่า “แรงงานสร้างโลก” แต่ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับการมีบทบาทร่วมทางการเมือง ทั้งยังคิดว่าเป็นปรปักษ์กับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image