สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท้องถิ่นทำเองได้ ต้องกระจายอำนาจ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าชมพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี วันที่ 14 เมษายน 2561 (ที่มา : facebook Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

มิวเซียม หรือพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องทางการศึกษาอย่างเสมอภาค เพราะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียมของคนทุกระดับและเป็น ที่รู้กันทั่วไปในประเทศก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีและการเมือง

นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าในคราวเดียวกัน

แต่ไทยไม่เคยมีมิวเซียมในแนวคิดหรือนโยบายการเมืองระดับประเทศ จึงไม่เคยได้ยินออกจากปากนักการเมืองเรื่องมิวเซียม ไม่ว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่น

มิวเซียมในโลกมีหลายแบบ แต่สังคมไทยถูกกีดกันจากโลกกว้างให้รู้แบบเดียวของทางการเท่านั้น ซึ่งท้องถิ่นไม่ควรจำนน

Advertisement

มิวเซียมท้องถิ่น

ข้อมูลความรู้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทางการไทยไม่สนองความต้องการของคนสังคมปัจจุบันในโลกไม่เหมือนเดิม

เพราะพิพิธภัณฑ์ทางการไทยเหล่านั้นอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ภายใต้วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายใช้อำนาจรวมศูนย์ของคนไม่เท่ากัน

ท้องถิ่นถ้ามีโอกาสจัดการด้วยตนเอง จะได้มิวเซียมร่วมคิดร่วมทำของคนเท่ากัน ผมไม่เคยดูมิวเซียมอุดรธานี จ.อุดรธานี แต่มีผู้ส่งให้อ่านจะยกมาโดยย่อต่อไปนี้

Advertisement

อุดรธานี มีมิวเซียมพลังท้องถิ่น

“…ผมไปที่จังหวัดอุดรธานี ผมไปเห็นพิพิธภัณฑ์อุดรธานี

พิพิธภัณฑ์อุดรธานีน่าสนใจมาก แล้วผมกล้าพูดเลยว่า ในฐานะคนที่เคยไปดูพิพิธภัณฑ์มาหลายประเทศทั่วโลก ผมกล้าพูดว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ประจำเมืองที่ไม่น้อยหน้าพิพิธภัณฑ์ไหนในโลก”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดถึงพิพิธภัณฑ์อุดรธานี และเรื่องเล่าท้องถิ่น ในการปราศรัยใหญ่ (ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562 แล้วบอกอีกว่า

“พิพิธภัณฑ์นี้มีการใช้ Visual Arts และ Visual Effect มีการใช้รูปจำลอง มีการปั้นหุ่น เพื่อมานำแสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอุดรธานีจากสายตาและมุมมองของคนอุดรธานีเอง ไม่ใช่สายตาของกรมศิลปากร กรุงเทพฯ (เสียงคนปรบมือสนั่น)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พิพิธภัณฑ์นี้ออกแบบบริหารและสร้างโดยเทศบาล ไม่ใช่โดยกรมศิลปากร ทำให้เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอุดรธานี ไม่ว่าประวัติศาสตร์ก่อนสมัยใหม่ ไม่ว่าเรื่องของเศรษฐกิจอุดรที่เติบโตมาจากเมืองค้าขาย เป็นเศรษฐกิจ GI เศรษฐกิจยุคทหารอเมริกัน มีเรื่องเล่าแบบนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างออกแบบ หรือกำกับดูแลโดยกรมศิลปากร

สิ่งที่จะเห็นก็คือประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าอุดรธานีที่ผ่านสายตารัฐที่กรุงเทพฯ…”

“ถ้าคนต่างๆ เหล่านี้ได้รับโอกาสได้รับเงินทุน ได้มีอำนาจ ประเทศไทยจะไปได้ไกลอีกเท่าไร ถ้ามีคนที่มองเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ คุณค่าของวิถีชีวิต แล้วเอาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตมาเล่าเรื่องราว กลายเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างอุดรเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ประเทศไทยเราจะไปได้ไกลอีกเท่าไร”

นี่ไง “คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก” ท้องถิ่นทำเองได้ ต้องกระจายอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image