คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Highland : Thailand’s Marijuana Awakening ประวัติศาสตร์ ‘กัญชา’ ในไทย

ภาพ Youtube Video / Coconuts TV

“Welcome to Highland” คือคำกล่าวเริ่มต้นของมินิซีรีส์สารคดีเกี่ยวกับ “กัญชาในประเทศไทย” ที่ชื่อว่า “Highland : Thailand’s Marijuana Awakening”

คำว่า “Highland” มีทั้งนัยยะแสดงความหมายในเชิงพื้นที่ อันหมายถึง “บริเวณที่ราบสูง” ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งปลูกกัญชาของประเทศไทย และลาวตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม โดยที่อีกนัยหนึ่งคำว่า “High” ในความหมายของคำสแลงใช้เรียกอาการผู้ที่กำลังอยู่ในฤทธิ์สารเสพติด

ขณะเดียวกัน “Highland” ยังเป็นชื่อนิตยสารกัญชาฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้

คำว่า Highland จึงให้ความหมายไว้อย่างชัดแจ้งในตัวมันเอง

Advertisement

“Highland” เป็นมินิซีรีส์ที่ผลิตโดยสื่อดิจิทัล “Coconuts TV” ที่นำเสนอเรื่องราวเชิงลึกของกัญชาในไทย ตั้งแต่ความเป็นมาไปจนถึงแนวคิดการใช้กัญชาทั้งในฐานะกัญชาทางการแพทย์ และกัญชาเพื่อสันทนาการ

ตัวสารคดีเข้าไปเก็บรายละเอียดในจังหวัดภาคอีสานของประเทศไทยที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของกัญชาตั้งแต่อดีต ซึ่งเชื่อมโยงไปจนถึงฝั่งลาวด้วยเช่นกัน

มินิซีรีส์ที่มี 3 ตอน วางลำดับตั้งแต่ต้นกำเนิด การเติบโตอย่างช้าๆ ของกัญชาทางการแพทย์ และการมองถึงกัญชาเพื่อสันทนาการ

Advertisement

ในสารคดี “Highland” ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายด้านยาเสพติดที่คล้ายคลึงกับสหรัฐมาตั้งแต่อดีต 50 ปีก่อน กระทั่งการมาถึงนโยบายเกี่ยวกับกัญชา ก็มีจังหวะเวลาพัฒนาไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาที่สหรัฐเริ่มอนุญาตให้มีการใช้ “กัญชาทางการแพทย์” อย่างถูกกฎหมายในหลายรัฐมากขึ้น

ประเทศไทยก็ดูจะเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากการอนุญาตให้ตีพิมพ์นิตยสารกัญชาฉบับแรกของประเทศไทยที่ชื่อ “ไฮแลนด์” ซึ่งนิตยสารฉบับนี้ และเพจเฟซบุ๊กของทีมงานได้กลายเป็น “ชุมชน” ของผู้ที่สนใจเรื่องราวเชิงวิชาการของกัญชาทางการแพทย์ ไปจนถึงจัดสัมมนาให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้คนถึงเรื่องกฎหมาย

เขามีมุมมองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นกิจกรรมนี้จากที่คนไทยแทบไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับข้อมูลทางการแพทย์ของกัญชา ในที่สุดเรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อจนจุดประเด็นให้สังคมสนใจ และสื่อกระแสหลักก็หันมาตอบสนองด้วยในที่สุด

สารคดี Highland พาไปดูสถิติโทษของกฎหมายด้านยาเสพติดของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าเข้มงวดระดับต้นๆ ของโลก อาทิ ฟิลิปปินส์การครอบครองกัญชา 500 กรัม อาจถึงกับต้องติดคุกตลอดชีวิต หรือถ้าครอบครองระดับ 1 กิโลกรัมขึ้นไปก็อาจถูกโทษประหารชีวิตได้ในอินโดนีเซีย ด้านมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนมีกฎที่เคร่งครัดไม่แพ้กัน

สำหรับประเทศไทยดูจะเข้มงวดน้อยกว่า ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดอาจได้รับโทษประหาร แต่ร้อยละ 90 ของผู้ต้องหาได้รับการผ่อนผันและลดโทษ โดยโทษจำคุกคดียาเสพติดเฉลี่ยที่ 25-50 ปี ขณะที่โทษสูงสุดของกัญชา คือจำคุก 15 ปี และมีโทษปรับและอาจถูกอายัดทรัพย์สิน ขณะที่ประเทศที่มีการผ่อนผันกว่า คือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

และหากล้วงลึกไปใน “ประวัติศาสตร์กัญชา” ของภูมิภาคนี้ อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไทย” คือดาวเด่นในอดีตเลยทีเดียว ตั้งแต่ยุคที่ทหารอเมริกันเข้ามาในไทยอย่างมากตามจังหวัดภาคอีสาน ไปจนถึงฝั่งลาว ในช่วงสู้รบสงครามเวียดนามที่ยาวนานนับทศวรรษนั้น

ข้อมูลที่สารคดีชุดนี้อ้างถึงคือ จังหวัด “นครพนม” ได้กลายเป็น “ศูนย์กลางผลิตกัญชา” ในอดีตช่วง “สงครามเวียดนาม”

คาดกันว่าทหารอเมริกันถึงร้อยละ 75 ในเวียดนาม สูบกัญชาเป็นประจำ ขณะที่หนักหนากว่านั้นคือ จำนวนไม่น้อยติดเฮโรอีน และฝิ่น โดยเป็นช่วงแห่งทศวรรษนี้เองที่ทหารช่างบางคนเริ่มลักลอบขนยาเสพติดกลับไปยังสหรัฐอเมริกา จึงทำให้เกิด “ยุคทองของกัญชา” ในพื้นที่ เช่น นครพนม ที่ถูกระบุว่าเป็นจังหวัดที่ผลิตกัญชาที่แรงและมีราคาแพงที่สุดในโลกขณะนั้น

“ริชาร์ด นิกสัน” ประธานาธิบดีสหรัฐในยุคนั้น เริ่มต้นประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติดในปี 1971 ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงมาถึงเรื่องราวกัญชาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เป็นความ “ทับซ้อน” กับทั้ง “นโยบายต่อต้านยาเสพติดของสหรัฐ” และยังเชื่อมโยงกับ “ยุคสมัยสงครามต้านคอมมิวนิสต์” ในภูมิภาคอาเซียน

การประกาศสงครามยาเสพติดของสหรัฐ ส่งผลให้ “15 จังหวัดภาคอีสาน” ของไทย เป็นแนวหน้าป้องกันการค้ายาอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงยังเป็นแนวต้านของกลุ่มคอมมิวนิสต์ไปด้วยในตัว ซึ่งรัฐบาลไทยขณะนั้นให้ความร่วมมือ ส่งทหารที่ฝึกฝนโดยสหรัฐเข้าไปยังพื้นที่เพื่อสู้รบกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้านหนึ่งยังหวังผลทำลายพื้นที่ปลูกกัญชาในหมู่บ้านต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนคอมมิวนิสต์ด้วย

สารคดีลงพื้นที่หมู่บ้านที่ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกกัญชาในอดีต พูดคุยกับชาวไร่ที่เคยมีประสบการณ์ปลูกกัญชาในยุค 60-70

ช่วง “ยุคทองของกัญชา” ที่ “นครพนม” ชาวไร่ชาวนาบางคนมีประสบการณ์เป็นทั้งผู้ปลูก และ “พ่อค้าคนกลาง” ขายกัญชาให้กับผู้ซื้อชาวตะวันตก ซึ่งกัญชาจะถูกส่งทางเรือไปยังยุโรปและสหรัฐ

ชาวไร่บอกว่า สมัยนั้นกัญชาขายได้ราคาดีกว่าข้าว แต่ละคนปลูกกัญชาได้สองถึงสามไร่ บางคนที่ปลูกเยอะก็ต้องจ้างคนมานอนเฝ้าไร่

เป็นอดีตที่ชาวไร่ชาวนา เล่าถึงความอิสระในการปลูกกัญชากว่าครึ่งศตวรรษก่อน ขณะที่สำหรับคนรุ่นใหม่คงเป็นเรื่องยากกว่านั้น

จากไทยประวัติศาสตร์ปัจจุบัน เปลี่ยนไปสู่ “ลาว” สารคดี Highland ระบุว่า กัญชาส่วนใหญ่ในไทยนั้นปลูกในลาว ความต้องการอย่างมากจากไทยเป็นตัวกระตุ้นการผลิตกัญชาจากลาว ซึ่งในอดีตลาวก็เป็นอีกพื้นที่ปลูกกัญชาจำนวนมากเช่นกัน ขณะที่กฎหมายในลาวมองกัญชาไม่ได้เข้มงวดมากนัก

สำหรับ “กัญชาทางการแพทย์” ในไทย สารคดีลงพื้นที่คุยกับแพทย์ไทยที่สนับสนุนเรื่องนี้ และบรรดาพ่อแม่และผู้คนที่ใช้ส่วนผสมกัญชาในการรักษาญาติพี่น้องและตัวเอง ขณะที่ตอนสุดท้ายของเรื่องราว คือการพูดถึง “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ที่แอบลอบมองบรรดาผู้ใช้กัญชาในบริบทผ่อนคลายที่ดูจะไปไกล ในระดับที่ยังไม่เข้าใกล้สิ่งที่ไทยจะยอมรับได้ในเร็ววันนี้เมื่อเทียบกับทางการแพทย์

เป็นบางเสี้ยวของสารคดี Highland : Thailand’s Marijuana Awakening ที่แกะรอยเรื่องราว “กัญชาในประเทศไทย” ไว้ได้ละเอียดพอสมควร แม้จะผ่านมุมมองจากคนทำสื่อต่างประเทศ แต่ก็ทำให้เราได้เห็นหลายมิติที่น่าไตร่ตรอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image