สุวรรณภูมิในอาเซียน : พลังสร้างสรรค์ถูกพิฆาต ความพินาศไม่มีวันเรียกคืน ‘อดีตรับใช้ปัจจุบันสร้างสรรค์อนาคต’

สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัฐราชการเผด็จการจะทำทางเลียบอย่างลวกๆ (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดมีกว้างขวางอย่างยิ่ง ในสังคมสั่งสมพลังสร้างสรรค์ด้วยกิจกรรมไม่ยุ่งยาก ได้แก่ “อดีตรับใช้ปัจจุบันสร้างสรรค์อนาคต”

พลังสำคัญอย่างหนึ่งที่ผลักดันความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มาจากการหล่อหลอมกลอ่มเกลาอันเกิดจากการสั่งสมของอดีต บรรดาศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้พลังบันดาลใจไม่น้อยมาจากสิ่งเหล่านี้ทั้งโดยรู้และไม่รู้ก็ตาม

ดังนั้นอดีตต้องไม่ถูกทำลายอย่างกักขฬะสะเปะสะปะ และไม่ถูกใช้อย่างงมงายครอบงำปัจจุบันจนโงหัวไม่ขึ้น มิฉะนั้นเท่ากับปิดกั้นการสร้างสรรค์อนาคต

เพราะมัวแต่ใช้เวลายาวนานมากโต้เถียงเรื่องรูปแบบหยุมๆ หยิมๆ ยายฉิมเก็บเห็ด โดยไม่สนใจเนื้อหาหลักการใหญ่ๆ ของเสรีภาพประชาธิปไตยสากล

Advertisement

ถ้าพลังสร้างสรรค์ถูกพิฆาต ความพินาศของอนาคตไม่มีวันแก้ไขเรียกคืนได้

กักเก็บน้ำเน่า ทางเลียบเจ้าพระยา

สังคมไทยแทบทุกภาคส่วนรุมแห่ค้านนานนับปี สำหรับโปรเจ็กต์ชื่อดูดีว่า ‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ ด้วยแนวคิดให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม

ทว่า กระบวนการต่างๆ กลับถูกตั้งคำถามหนักหน่วง ทั้งการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่นักวิชาการออกมาโวยว่าแม้กรุงเทพมหานครส่งเอกสารให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว แต่ยัง ‘ไม่ผ่าน’ แล้วจะดำเนินการงานอภิมหาอลังการอย่างนี้ต่อไปได้อย่างไร?

ไหนจะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกวิพากษ์ว่าคล้ายๆ ผักชีโรยหน้า ประกอบเป็นพิธีกรรมว่าทำแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงั้

กระทั่งเครือข่ายคัดค้านรวมตัวกันหอบเอกสารเฉียด 3,000 หน้าประกอบคำยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปลายปี 2561 ขอให้ระงับโครงการ เพราะหวั่นความเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืน ทั้งวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำ ชุมชนเก่าแก่ และโบราณสถานมากมาย

ภาพจำลองพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยภาครัฐเน้นย้ำว่าจะไม่มีการสร้างถนนให้รถยนต์สัญจร แต่เป็นทางเดินเท้าและทางจักรยาน

ล่าสุด กทม. มีเอกสารชี้แจงศาลปกครอง ยืนยันทำตามมติคณะรัฐมนตรี และบอกอีกว่าหากศาลสั่งระงับ อาจทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

ทางเครือข่ายคัดค้านฯ จึงเข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมโต้ กทม. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา

ตามมาด้วยงานเสวนาของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่จัดดีเบตเข้มข้นอีกรอบ ในวันที่ 2 พฤษภาคม ทำเอาอุณหภูมิที่ร้อนระอุอยู่แล้ว ยิ่งพุ่งปรี๊ด

งานนี้จบยาก แต่น่าสังเกตว่าฝ่ายค้านโครงการนี้มีมากมายมหาศาล ชนิดสามัคคีปรองดองชั่วคราวทั้งๆ เห็นต่างทางการเมือง เพราะด้วยความห่วงในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นที่รัก

ซึ่งไม่ได้มีแค่สายน้ำ หากแต่รายล้อมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้มค่าต่อการสูญเสียจากวาทกรรมคำว่า “พัฒนา” โดยขาดการศึกษารอบด้าน

ปัญหาหมักหมมริมฝั่งเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งนักวิชาการมองว่า การสร้างทางเลียบเจ้าพระยา นอกจากไม่ช่วยแก้ไขแล้ว ยังจะเป็นการซ้ำเติมและสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก (ภาพจากกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ)

ประวัติศาสตร์มีชีวิต ถูกทำให้ไม่มีชีวิต

หลังการต่อสู้นาน 25 ปีเต็ม ชุมชนป้อมมหากาฬ (เชิงสะพานผ่านฟ้า ริมคลองโอ่งอ่าง) ก็ถูกทำลายลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 เมษายน 2561 เพื่อสร้างสวนสาธารณะตามแผ่นแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกว่า 50 ปีก่อน

เรือนไม้เก่าแก่หลังกำแพงป้อมมหากาฬ อันเป็นชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกกรุงเทพมหานครเข้ารื้อจนหมดสิ้น ทั้งที่นักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศร่วมกันคัดค้านสุดกำลัง

พื้นที่ราว 4 ไร่ถูกไถจนราบเรียบ มีการปูหญ้า และติดไฟสนาม ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีผู้เข้าใช้งาน อีกทั้งถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความปลอดภัย

ชุมชนป้อมมหากาฬขณะถูกรื้อถอนเมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 ปิดฉากชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์

ป้ายข้อมูลบอกชื่อสถานที่ประวัติศาสตร์ถูกนำมาติดตั้งทั้งที่เบื้องหน้าคือความว่างเปล่า อาทิ ตรอกพระยาเพชรปาณี จุดกำเนิดวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมมีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่ 2 ฟาก นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาตินิยมแวะเวียนเข้าเยี่ยมชมและศึกษาไม่ขาดสาย กระทั่งถึงวันล่มสลายที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ราชบัณฑิตยสถานยังรีบมาเก็บข้อมูลเป็นครั้งสุดท้าย

กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับของขวัญที่ภาครัฐหยิบยื่นให้คนกรุงเทพฯ และสังคมไทย ด้วยการทำลายลงอย่างไม่เหลือดีต่อสิ่งล้ำค่าในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์

สวนสาธารณะหลังกำแพงป้อมมหากาฬ ปักป้ายอธิบายประวัติศาสตร์โดยไร้ผู้คน และถูกตั้งคำถามจากสังคมตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

ไร้ญาติ ขาดมิตร ‘ติดคุก’ ที่วัดกัลยาณมิตร

นับเป็นคดีประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อพระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ถูกพิพากษาติดคุก 3 ปี โดยรอลงอาญาไว้ 1 ปี จากกรณีทุบทำลายโบราณสถานในวัดกัลยาณมิตร (ปากคลองบางหลวง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ได้แก่ ศาลาราย 2 หลัง และกุฏิ 1 หลัง ด้วยการเข้าแจ้งความโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2558 ก่อนที่บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น จะบุกถึงวัดพร้อมเจ้าหน้าที่ถือค้อน สั่งทุบศาลารายหลังใหม่ตามคำสั่งศาลปกครอง เพราะวัดทุบของเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเนรมิตหลังใหม่ขึ้นมาโดยไม่ปรึกษาใครทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่โบราณสถานเพียงชุดเดียวที่ถูกวัดทำลายลงอย่างน่าเสียดาย แต่ยังมีสิ่งล้ำค่าอีกมากมายที่สูญสิ้นไปด้วยความไม่เข้าใจของทางวัด ทั้งที่กรมศิลปากรพยายามเข้าพูดคุยตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 12 ปี แม้แต่เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าจอมมารดาแช่ม ในรัชกาลที่ 5 อีกทั้งญาติวงศ์สายสกุลประวิตร ก็ยังถูกรื้อทิ้งอย่างไม่ไยดี จนทายาทต้องออกมาประกาศกอบกู้เกียรติยศบรรพบุรุษ ฟากชาวบ้านรอบวัดก็ถึงขนาดออกมาร่วมชูป้ายแสดงข้อมูลแจ่มชัดว่าทางวัดทำลายโบราณสถานอะไรไปบ้าง

บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ลุยวัดกัลยาณมิตร ทุบศาลารายหลังใหม่ที่วัดสร้างทับโบราณสถานสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2558

คำตัดสินของศาลในคดีความครั้งนี้ ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่วงการผ้าเหลืองต้องหันมาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนกับสิ่งที่จะกระทำต่อโบราณสถานในวัด เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติส่วนตัว แต่เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติที่มีกฎหมายรองรับ

ทว่า แม้ผู้ทำลายได้รับโทษ และสร้างใหม่ให้เหมือนของเดิมขนาดไหนก็ไม่สามารถทดแทนของแท้ดั้งเดิมที่ถูกสร้างด้วยมือปู่ย่าตายายบรรพชนไทยในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจย้อนเวลาหวนคืน

ชาวบ้านรอบวัดกัลยาณมิตร (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์) โวยวัดทำลายโบราณสถานมากมายจนสุดทน ทำแผ่นป้ายข้อมูลโชว์สื่อ
เขาถมอรัตน์ เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีสำคัญที่พังพินาศ เพราะคนร้ายสกัดพระพักตร์และเศียรพระพุทธรูป อีกทั้งพระโพธิสัตว์ขายฝรั่ง เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน

ความพินาศของศิลปกรรม ถ้ำเขาถมอรัตน์ จ. เพชรบูรณ์

เป็นความพินาศครั้งประวัติศาสตร์ของวงการโบราณคดีไทย เมื่อมีการลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์อายุกว่าพันปีในถ้ำเขาถมอรัตน์ อ. ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน

โดยใน พ.ศ. 2503 คนร้ายปีนป่ายเขาถมอรัตน์ขึ้นไปสกัดพระพักตร์ประติมากรรมในถ้ำออกขายนักค้าของเก่าในกรุงเทพฯ อีก 2 ปีต่อมา กรมศิลปากรสืบพบว่าถูกเก็บซ่อนไว้ที่ซอยเกษมสันต์ 2 ในบ้านฝรั่งนาม เจมส์ ทอมป์สัน จึงเข้าแจ้งความที่ สน. ปทุมวัน แต่เจ้าตัวเล่นแง่ทางกฎหมาย ทางการไทยจึงขยับตัวแจ้งไปยังกองปราบ

สุดท้ายขอจบเรื่องโดยส่งจดหมายถึง ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แล้วแอบส่งคืนอย่างเงียบๆ โดยแอบนำไปกองทิ้งไว้หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร

ทุกวันนี้ แม้จะได้โบราณวัตถุชุดดังกล่าวกลับคืนมา โดยจัดแสดงอยู่ที่ พช. พระนคร (ปัจจุบันปิดซ่อมอาคารชั่วคราว) ทว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจย้อนเวลาไปเยียวยาแก้ไขให้คงสภาพเดิม เศียรและพระพักตร์งดงามที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ อย่างน่าเสียดาย ไม่เพียงย่ำยีมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า หากแต่นับเป็นการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีที่สร้างบาดแผลลึกมาถึงทุกวันนี้

แผนผังสังเขปภาพสลักบนผนังในถ้ำพระบนเขาถมอรัตน์ [จากบทความเรื่อง “ความพินาศของภาพจำหลัก ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลสระกรวด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูร” ของ นิคม มูสิกะคามะ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 12 เล่ม 3 (กันยายน 2511) หน้า 55-72]
เศียรพระพุทธรูป จากถ้ำเขาถมอรัตน์
เศียรพระโพธิสัตว์ จากถ้ำเขาถมอรัตน์

 

พระพุทธรูปจำหลักในถ้ำเขาถมอรัตน์ ซึ่งถูกลักลอบสกัดทำลาย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image