คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Knock Down the House ก๊อกๆ! ประชาชนจะขอบุกสภาแล้วนะ

“Knock Down the House” เป็นหนังสารคดีการเมืองที่พาเราไปตามติดเบื้องลึกเบื้องหลังของกลุ่ม “นักการเมืองหน้าใหม่” ในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.กลางเทอมสหรัฐเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่คองเกรสมีผู้หญิงเข้าสภามากขึ้นเป็นประวัติการณ์

โดยพวกเธอเหล่านี้จะต้องผ่านด่าน “เลือกตั้งขั้นต้น” หรือระดับไพรมารีเพื่อจะได้เป็น “ตัวแทนพรรค” ของเขตนั้นๆ ไปแข่งกับพรรคตรงข้าม

ความยากลำบากที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญอย่างสำคัญคือ ก่อนจะมีสิทธิได้ “ตั๋ว” ไปสู้ระดับพรรคต่อพรรค พวกเขาต้องสู้ให้ได้รับการเลือกตั้งขั้นต้นเป็นตัวแทนพรรคให้ได้ก่อน และมันก็ไม่ง่าย เพราะพวกเขาเป็น “หน้าใหม่” ทางการเมืองที่ต้องสู้กับสมาชิกพรรคเดียวกันที่เป็น ส.ส. ส.ว. เจ้าของพื้นที่ที่มีคะแนนนิยมมั่นคงมาอย่างยาวนานหลายสมัย

หนำซ้ำพวกเขายัง “ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง” ไม่มีฐานเสียง ไม่มีเงินทุน และเป็นผู้หญิงที่ในทางการเมืองมักถูกประเมินอย่างเสียเปรียบ แต่สิ่งที่พวกเขามีคือ “ความตั้งใจแรงกล้า” ที่จะไปเป็นตัวแทนจากผู้คนที่ถูกละเลย อาทิ เป็นตัวแทน “ชนชั้นแรงงาน” ที่แท้จริง เป็นตัวแทนของ “ชาวบ้านที่ถูกละเลยจากภาครัฐ” และต้องรับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมในเขตที่อยู่อาศัยจนมีผลต่อสุขภาพ เป็นต้น

Advertisement

แต่เส้นทางก่อนจะเข้าไปสู้ศึกเพื่อชัยชนะเข้าไปใน “สภาคองเกรส” ได้นั้น ล้วนปูไปด้วย “หนาม” และ “ตะปูเหล็ก” มากมาย

“Knock Down the House” ตามไปดูจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบของเส้นทางนี้ว่า แต่ละคนเตรียมตัว ต่อสู้และพยายามกันอย่างไรจนถึงบทสรุป โดยตามติดเบื้องหลังการทำงานของ “ผู้สมัครหญิง 4 คน” จาก “พรรคเดโมแครต” 4 พื้นที่ คือ “พอลลา จีน สเวรินจิน” ที่ลงแข่งระดับไพรมารีในเวทีวุฒิสภา “เอมี่ ไวเลล่า” ลงแข่งระดับ ส.ส.ที่รัฐเนวาด้า “คอรี่ บุช” จากรัฐมิสซูรี และ “อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ” ผู้สมัครอายุน้อยสุดคือ 29 ปี กับการต้องสู้กับตัวแทนพรรคเดียวกันที่เป็น ส.ส.เขต 14 นิวยอร์กหลายสมัย

Advertisement

สารคดีแนะนำให้เรารู้จักที่มาของการเสนอ “คนหน้าใหม่” มาลงเล่นการเมืองเพื่อ “ล้างระบบการเมือง” แบบเก่าที่พวกเขามองว่าเละเทะนั้น เริ่มต้นมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่ชื่อ “จัสติส เดโมแครต” และ “แบรนด์นิวคองเกรส” ที่มีลักษณะการดำเนินการแบบ “กลุ่มรากหญ้าระดับประเทศ” จัดประชุม สัมมนาชักชวนผู้สมัครนอกวงการมาลงแข่งกับนักการเมืองที่มีตำแหน่งมั่นคง

เรียกว่าเวทีนี้ ยิ่งกว่าเป็น “มวยรอง” เลยก็ว่าได้

เราจะได้เห็นบรรยากาศการเตรียมตัว ตั้งแต่การวางแผนรับมือการ “ถูกเล่นงาน” ทางการเมือง การต้องพูดในที่สาธารณะอย่างซื่อตรงและสื่อสะท้อนความจริงใจอันแรงกล้าของตัวเองออกไปให้ถึงผู้คน การต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำไม” ผู้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนใจมาเลือกพวกเธอให้เป็นตัวแทนพรรคไปลงแข่งขันระดับพรรคต่อพรรค

ที่สำคัญพวกเธอเหล่านี้ ใช้วิธีหาเสียงที่ “รื้อระบบ” และ “ปฏิเสธธรรมเนียม” แบบที่นิยมทำกันมาคือ การใช้เงินทุนจากบริษัท และภาคธุรกิจสนับสนุน ซึ่งผู้สมัครเหล่านี้ปฏิเสธเงินทุนของกลุ่มบริษัททั้งหมด และใช้เงินบริจาคจากภาคประชาชนคน “รากหญ้า” ล้วนๆ

ซึ่งการเมืองสหรัฐอเมริกาถูกวิจารณ์จากคนในประเทศอย่างมากถึงประเพณีการเมืองที่เรียกว่า “กองทุนอิสระ” ที่รู้จักกันในชื่อ “Super PACS” ย่อมาจาก Super Political Action Committee ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามว่าทำให้การเมืองสหรัฐกลายเป็นการเมืองฉ้อฉลใช้เงินมหาศาลเพื่อชัยชนะผ่านเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีสหรัฐที่ไหลเข้าระบบการเมือง และพวกเขาย่อมมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งได้

“เราลงสมัครเพื่อจัดระเบียบ เราลงสมัครเพื่อให้นิยามใหม่แก่ภูมิทัศน์การเมือง” อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ผู้เสนอตัวเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตกล่าว

เธอบอกด้วยว่า ชาวอเมริกันชนชั้นแรงงานไม่ได้ขออะไรมาก พวกเขาแค่พยายามใช้ชีวิตอยู่ให้รอด และพวกเขาก็กำลังขอให้นักการเมืองกล้าพอที่จะช่วยให้พวกเขารอดไปได้

“Knock Down the House” ค่อยๆ เล่าเรื่องให้เราเห็นสิ่งที่ผู้สมัครหญิงเหล่านี้ดำเนินการก่อนเข้าสู่วันเลือกตั้งไพรมารีเพื่อขอตั๋วเป็นตัวแทนพรรค คือการตระเวนปราศรัยพบผู้คน และจัด “แคมเปญระดับรากหญ้า” ยืนหยัดให้ผู้ชนชั้นแรงงานเพื่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆ

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวนี้ก็ปรากฏเป็นข่าวที่กลุ่มผู้หญิงและคนผิวสีจำนวนมากที่อยู่นอกแวดวงการเมืองเริ่มต้นออกไปเปลี่ยนแปลงสภาคองเกรส ที่กว่า 81% เป็นนักการเมืองผู้ชาย และส่วนมากเป็นคนผิวขาวและเศรษฐีเงินล้าน ซึ่งบรรดาผู้สมัครหน้าใหม่ทางการเมือง เชื่อว่านักการเมืองในคองเกรสส่วนใหญ่คิดแต่จะรักษาตำแหน่งเพื่อชนะเลือกตั้งหนหน้ามากกว่าจะเข้ามาช่วยผลักดันเปลี่ยนแปลงปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัญหานักโทษล้นคุกสหรัฐ และปัญหาใหญ่อื่นๆ ซึ่งหากได้ตัวแทนของชนชั้นแรงงานเข้าไปได้จะช่วยเปลี่ยนวิธีการมองปัญหา และมองการเมืองในอีกบริบทหนึ่งได้

โดยเป้าหมายใหญ่ คือความหวังที่จะกำจัดอิทธิพลเสื่อมทรามของเงินมหาศาลที่มีเบื้องหลังคือกลุ่มธุรกิจและล็อบบี้ยิสต์ในการเมืองออกไป โดยหวังจะเสนอเส้นทางเลือกใหม่แทน ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ทั้งบวกและลบบนหน้าสื่อ

ในสารคดีจะพาไปดูความพยายามจนถึงบทสรุปสุดท้ายว่า พวกเธอเหล่านี้ฝ่าด่านเข้าไปได้ตั๋วสู้สนามใหญ่กี่คน ซึ่งแน่นอนว่า วันนี้คองเกรสมี ส.ส.หญิงอายุน้อยสุด 29 ปี ในฐานะ “ผู้ล้มยักษ์” “อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ”

ไม่ใช่แค่เพราะสถิติอายุน้อยสุดเท่านั้น แต่ความเป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่มุ่งมั่นจะมาเป็นปากเสียงให้ชนชั้นแรงงาน และเธอก็ทำได้สำเร็จ

ปัจจุบันนี้หากติดตามข่าวการเมืองในสหรัฐ เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของ “คอร์เตซ” มีบทบาทเสนอประเด็นก้าวหน้าที่เข้าไปเขย่าความอนุรักษนิยมของผู้ใหญ่ในพรรคเดโมแครตได้พอสมควร รวมทั้งการพยายามอภิปราย และเสนอมาตรการ-กฎหมายที่จะช่วยเหลือชนชั้นแรงงานด้วย แม้จะเป็นเสียงเล็กๆ แต่สื่อก็เปิดพื้นที่ให้ ส.ส.หน้าใหม่คนนี้สม่ำเสมอ

“Knock Down the House” ฉายเปิดตัวครั้งแรกที่ “เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์” เมื่อต้นปีนี้ และเพิ่งฉายแบบสตรีมมิ่งบนเน็ตฟลิกซ์วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถหาชมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การเมืองไทยกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image