สุจิตต์ วงษ์เทศ : ฟ้อนรำงานศพ ไม่มีข้อจำกัดทางเพศ

หมอขวัญหมอแคน และหมอฟ้อนในพิธีศพ 2,500 ปีมาแล้ว ล้วนเป็นผู้หญิงหรือกะเทยก็ได้ เพราะไม่ระบุเพศ ร่วมกันขับลำคำคล้องจองทำนองง่ายๆ แล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบพิธีทำขวัญสู่โลกหลังความตาย (ในภาพ) ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม

งานเผาศพในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน พิธีกรประกาศโดยอ้างอิงชาดก ว่านางรำหน้าไฟในงานศพต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ ห้ามกะเทยรำ ถ้ากะเทยรำหน้าไฟ วิญญาณผู้ตายจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์

เห็นนางรำ 2 คน ยืนรอรำหน้าไฟงานศพ แต่จบข่าวแค่นั้นเลยไม่รู้นางรำเป็นกะเทย หรือสาวพรหมจรรย์? แล้วได้รำหรือไม่?

ผมดูข่าวจากทีวีช่องหนึ่งราว 11.20 น. วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2562

เผาศพและวิญญาณจากอินเดีย

เผาศพ เป็นประเพณีใหม่รับมาพร้อมศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดีย ไม่มีร้องรำทำเพลง ไม่มีมหรสพ

Advertisement

ความเชื่อเรื่องวิญญาณมีดวงเดียวในคนทุกคน ตายแล้วไปจุติใหม่ เรียกเวียนว่ายตายเกิด รับจากอินเดียมากับศาสนาพุทธ-พราหมณ์

ขวัญและฟ้อนรำงานศพของพื้นเมือง

การละเล่นสนุกทุกชนิดในงานศพ (เป็นพิธีกรรมหลังความตาย) ไม่ว่าร้องรำทำเพลง หรือมหรสพต่างๆ ได้แก่ โขน ละคร โนรา ลิเก ภาพยนตร์ ดนตรีลูกทุ่ง จนถึงหมอลำซิ่ง ฯลฯ บรรดาวัฒนธรรมป๊อปทั้งหลาย

ล้วนเป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบันจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูมิภาคอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

Advertisement

ประเพณีนี้สืบเนื่องอยู่ในบ้านเมืองสองฝั่งโขงเรียกต่อมาว่า “งันเฮือนดี” หมายถึงในงานศพต้องมีมหรสพคบงันเพื่อเรียกขวัญส่งขวัญคนตาย

ทั้งหมดมีเหตุจากความเชื่อพื้นเมืองเรื่องขวัญ (ไม่มีในอินเดีย) ไม่ใช่วิญญาณซึ่งรับจากอินเดีย

รำหน้าไฟงานศพ เป็นสิ่งสืบเนื่องจากประเพณีเรียกขวัญคนตายคืนร่างแต่ไม่คืนจึงส่งขวัญคนตายไปเมืองบนเมืองฟ้า หรือไปไหนก็ไม่รู้ในโลกหลังความตาย โดยประสมประสานการเผาศพรับจากอินเดีย

ไม่เคยพบข้อความรำหน้าไฟในงานศพว่าต้องเป็นสาวพรหมจรรย์และห้ามกะเทยรำหน้าไฟ

วัฒนธรรมดั้งเดิมไม่พบข้อห้ามทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องสาวพรหมจรรย์ซึ่งเป็นอคติของคนชั้นนำสร้างวัฒนธรรมใหม่สมัยล่าเมืองขึ้นเพื่อเหยียดทางเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image