อาศรมมิวสิก : ดนตรีเป็นสมบัติอันล้ำค่า ของประชาคมอาเซียน : โดย สุกรี เจริญสุข

ปี 2562 เป็นปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ผู้นำฝ่ายเจ้าภาพ (ผู้นำไทย) โดยข้อตกลงที่จะเวียนกันเป็นประธานคือเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน การประชุมเพื่อหาทิศทางร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อตกลงในทุกกรณี แต่เนื่องจากไทยซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ประสบปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้ภาวะภายในรัฐบาลไม่นิ่ง จึงไม่มีเวลาที่จะจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นประชาคมอาเซียน คนไทยทั่วไปจึงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในฐานะประธานอาเซียนมากนัก

วันนี้ การเลือกตั้งจบลงแล้ว การเมืองภายในนิ่งมากขึ้น รัฐบาลน่าจะมีเวลาและมีสมาธิมากพอที่จะคิดกิจกรรมในฐานะที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานอาเซียน แม้รัฐบาลใหม่จะยังไม่มี แต่ก็มีข้าราชการประจำที่จะช่วยประคองงานไปก่อน อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นแม่งานรับผิดชอบโดยตรง ก็อาจจะช่วยเหลือประเทศในฐานะของเจ้าภาพได้ในระดับหนึ่ง

ประชาคมอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 10 ประเทศด้วยกัน ประกอบด้วย กัมพูชา ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา
ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งประชาคมอาเซียนมีประชากรรวมกัน 651 ล้านคน โดยที่ประเทศไทยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เพราะมีพื้นที่ตั้งอยู่ใจกลางของอาเซียน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนโดยรอบ

นับถึงปัจจุบัน ประชาคมอาเซียนมีอายุได้ 52 ปี ประชาคมอาเซียนมีความร่วมมือกันในมิติต่างๆ ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม แต่ประชาคมอาเซียนก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงจิตใจผู้คนของกันและกันได้มากนัก ไม่สามารถหลอมรวมจิตใจชาวอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวได้ เพราะประชาคมอาเซียนมีความแตกต่าง มีความหลากหลาย ทั้งด้านวิถีชีวิต ภาษา ศาสนา ความเชื่อ มิติของสังคม และอาเซียนมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมาก

Advertisement

โดยความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างและหลากหลายนั้น ถือเป็นจุดแข็งของประชาคมอาเซียนด้วยซ้ำไป

เพลง ดนตรี และเครื่องดนตรีประจำชาติของประชาคมอาเซียน เป็นสมบัติอันล้ำค่าและเป็นมรดกที่สำคัญทางวัฒนธรรมของชาวอาเซียน เป็นจุดเด่นและสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพียงแต่ชาวอาเซียนและรัฐบาลอาเซียนยังไม่ได้ใช้จุดแข็งทางวัฒนธรรมดนตรีเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ดนตรีอาเซียนเป็นความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เป็นพลังละมุน (Soft Power) ซึ่งสามารถใช้ในการประสานจิตใจคน เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นหนึ่ง ท่ามกลางความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

“ดนตรีสร้างความสามัคคีของปวงชน” คำสอนของขงจื๊อ

อาเซียนเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งด้านภาษาและดนตรี วิถีชีวิตชาวอาเซียนยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอาไว้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่แข็งแกร่งของประชาคมอาเซียน เพราะมีพื้นที่กว้าง มีหมู่เกาะมากมาย ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ วิถีชีวิต มีความหลากหลายภาษา มีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมดนตรีที่แตกต่าง ทำให้พื้นที่อาเซียนเป็นขุมทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกที่สำคัญของมนุษยชาติ

ในมิติของเพลงและดนตรี ประชาคมอาเซียนยังไม่ได้ใช้พลังของเสียงเพลงและดนตรีเท่าใดนัก แค่ใช้เพื่อความบันเทิงของสังคมพื้นๆ เท่านั้น เพลงและดนตรีของอาเซียนไม่ได้ถูกใช้ในฐานะเสียงที่เป็นพลังและอำนาจที่สามารถจะหลอมรวมจิตใจของชาวอาเซียนไว้ด้วยกัน ทั้งๆ ที่เพลงและดนตรีเป็นวัตถุดิบที่สำคัญและมีอำนาจมาก หากได้นำวัตถุดิบที่เป็นเพลงและดนตรีอาเซียนมาแปรให้เป็นพลังร่วม ทำอย่างสากลหรือการจัดหีบห่อใหม่ เพื่อนำเสนอต่อวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกโลก เพื่อพัฒนาให้เป็นหุ้นส่วนของชีวิต เพื่อการศึกษา สืบทอด เผยแพร่ และสร้างคุณค่าใหม่ ให้เป็นมรดกดนตรีของประชาคมอาเซียนที่มีมูลค่า ทั้งมิติของการศึกษา การเผยแพร่วัฒนธรรม และสร้างการยอมรับในบทบาทของความแตกต่างของวัฒนธรรมดนตรีในประชาคมโลก

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในที่ประชุมประชาคมอาเซียนปีนี้ ยังไม่สายที่จะต้องคิดกิจกรรมเพื่อรวมจิตใจของประชาคมอาเซียนไว้ด้วยกัน โดยใช้พลังของดนตรีและเสียงเพลงของแต่ละประเทศ ใช้เสียงเพลงและดนตรีร้อยดวงใจคนอาเซียนให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นการยกย่อง นำร่องสร้างผลงานขึ้นใหม่บนร่องรอยของอดีต นำดนตรีอาเซียนมาบันทึก แสดง และเผยแพร่ เพื่อให้ผู้นำและประชาคมอาเซียนทั้งหลายได้ชื่นชม

การแสดงบทเพลงและดนตรีของอาเซียน โดยการรวบรวมเพลงชาติและเพลงประจำชาติที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน นำบทเพลงมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงด้วยวงออเคสตรา ทั้งเพลงชาติ เพลงประจำชาติ และเครื่องดนตรีประจำชาติ แล้วบันทึกเสียงใหม่ด้วยวงออร์เคสตราของไทย

ไทยในฐานะเป็นประเทศเจ้าภาพ จะได้ใช้บทเพลงชาติและเพลงประจำชาติเป็นของขวัญที่ระลึก โดยมอบเพลงชาติและเพลงประจำชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน บรรจุบทเพลงสำคัญประจำชาติทั้งหลายเป็นแผ่นซีดี มอบให้แก่ผู้นำแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นของขวัญที่ล้ำค่ามาก

วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็เพื่อรักษาบทเพลงสำคัญประจำชาติในประเทศอาเซียนเอาไว้ ในรูปแบบเพลงที่ทันสมัยและสามารถยืดอายุเพลงให้ยืนยาวยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรักษามรดกทรัพย์สินและเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชาติอาเซียนเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน ในฐานะผู้มีรสนิยม เป็นการเปิดโอกาสในการรักษาและเผยแพร่เพลงชาติและเพลงประจำชาติ โดยนำเพลงที่สำคัญของชาติในอาเซียนมาสืบทอดยืดอายุ ในมิติที่บทเพลงเป็นตัวแทนประชาชนที่สำคัญของมนุษยชาติในระดับสากล

บทบาทสำคัญที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ให้ความสำคัญด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย สนับสนุนและยกย่องวัฒนธรรมดนตรีซึ่งเป็นพลังละมุน ดนตรีเป็นมิตรไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร และเป็นการรักษาความหลากหลายและความแตกต่างของดนตรีในประชาคมอาเซียน รักษาวิถีชีวิตของผู้คน ความแตกต่างของสังคมเคียงคู่เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง การปกครอง และคุณภาพชีวิตของประชาคมด้วย

การบันทึกรักษาและเรียบเรียงดนตรีใหม่โดยอาศัยรากเหง้าของวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ละประเทศในฐานะสมาชิกของประชาคมอาเซียน ต่างก็ได้ศึกษา สืบทอด รักษา และเผยแพร่ ในระบบการศึกษาของตนภายในประเทศอยู่แล้ว แต่การดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่นอกเหนือความสามารถที่มีอยู่เดิม

เป็นการนำเพลงดนตรีที่เป็นของดีมีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เกิดงานในมิติใหม่

ในการคัดเลือกบทเพลงสำคัญของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (ประเทศละ 4 เพลง) ทั้งนี้ มีทั้ง
เพลงร้อง เพลงบรรเลง และบทเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีประจำชาติด้วย โดยที่สำนักนายกรัฐมนตรีและกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งคณะทำงาน

การนำบทเพลงของประชาคมอาเซียนที่ได้รับคัดเลือกแล้ว มาเรียบเรียงเสียงประสานให้เป็นเพลงแบบสากล โดยอาศัยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ซึ่งเป็นวงออเคสตราอาชีพ คัดเลือกนักเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงที่สำคัญๆ ของอาเซียน อาทิ พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ (ชาวไทย) ดร.ฮึม โสภี (กัมพูชา) หรือหวูเหยิดเติน (เวียดนาม) เป็นต้น

นอกจากนี้ คัดเลือกนักดนตรีคนสำคัญของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพิ่มเติม อาทิ กงไน (เจรียงจาเป็ย) อุ๊จ ซาวี นักร้องจากกัมพูชา อาลุนา ถาวรสุข แซม อินทรพิทักษ์ จากลาว นอริสัน ซาอิฟ (กัมบุส) จากมาเลเซีย ตาโซ นักร้อง ดร.ซูซาซา (นักพิณพม่า) จากเมียนมา ไหเฟือง (จัง) ฝ่ามถิเหวะ (พิณถี่บ่า) จากเวียดนาม เป็นต้น

เพลงชาติของประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยเพลงชาติและเพลงประจำชาติ บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีประจำชาติ มีศิลปินคนสำคัญของแต่ละชาติ ห่อหุุ้มบทเพลงโดยวงออเคสตราไทย ซึ่งจะเป็นเลิศหรูสร้างรสนิยมใหม่

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ หากไทยตัดสินใจใช้วัฒนธรรมนำ ใช้เพลงดนตรีประจำชาตินำประชาคมอาเซียน เชื่อว่าเสียงดนตรีจะสามารถสร้างความสามัคคีของปวงชนในประชาคมอาเซียนได้ ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของประชาคมอาเซียนเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image