เล่าเรื่องหนัง : Street Food ชีวิตอัน ‘แร้นแค้น’ ของคนขายอาหารริมทาง แต่ ‘รุ่มรวย’ ทางวัฒนธรรมการกิน

ท่ามกลางบทความ ข้อเขียน ของ “นักรีวิว” “บล็อกเกอร์” วิดีโอคลิปของเหล่า “ยูทูบเบอร์” มืออาชีพจนถึงมือสมัครเล่น ที่ล้วนร่วมกันผลิตคอนเทนต์ “รีวิว” แนะนำ

พาตะลอนชิม “อาหารริมทาง” หรือ “สตรีทฟู้ด” จนมีให้อ่าน ให้ดูกันมากมายก่ายกอง พวกเขาได้นำเสนอให้เราเห็นมุมภาพสุดแสนน่าอร่อยจนควรค่าแก่ตามรอยไปกิน

เห็นภาพบรรดานักชิม นักกิน อ้าปากเคี้ยวสำแดงสีหน้าสีตาที่บ่งบอกถึงรสชาติที่จะลืมไม่ลง ไปจนถึงสารพัดอากัปกิริยาที่เป็นหนึ่งในอวัจนภาษาของการรีวิวอาหารการกิน

ยิ่งหากเป็นการรีวิวที่เกี่ยวข้องกับอาหารริมทางแล้ว แน่นอนว่าเหล่าผู้คนยุคนี้ชื่นชอบที่จะดูคอนเทนต์ที่ได้เห็นกระบวนการ และวิธีปรุงในแบบฉบับของสตรีทฟู้ด ที่แม้จะเป็นเมนูที่เราเคยเห็นจนชินตา แต่โลกแห่งการรีวิวอาหารได้สร้างภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวที่ทำให้คนดูอย่างเราตื่นตาเร้าใจ เห็นเปลวไฟลุกโชน เห็นการพลิกย่างอาหารอย่างมีจังหวะน่ามอง ได้เห็นการตักนั่น หั่นนี่ โยนสิ่งละอันพันละน้อยไปในหม้อที่มีควันลอยคลุ้ง ได้ยินเสียงมีด ตะหลิว สารภี ช้อน ส้อม ตะเกียบ กระทบกันแข่งกับเสียงจอแจบนถนน

Advertisement

เป็นความบันเทิงที่ทั้งสนุกสนาน และชวนหิวอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งสื่อสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของสตรีทฟู้ดทั่วโลก และกลายเป็นเทรนด์มาหลายปีผ่านการเล่าเรื่องของนักรีวิว

อย่างไรก็ตามงานรีวิวอาหารริมทางส่วนมากมักนำเสนอ บอกเล่าถึงฉากหน้าอันมีสีสัน มากกว่าจะใช้เวลาสาธยาย “เบื้องหลัง” ชีวิตของคนทำอาหารในแบบเจาะลึก และถึงแม้จะได้เห็นหน้าค่าตาเจ้าของเมนูสตรีทฟู้ดนั้น เราก็มิอาจล่วงรู้ได้ถึงชีวิตที่ลึกไปกว่าลีลาการปรุงสูตรเด็ดนั้น

Advertisement

ในเมื่อคนขายสตรีทฟู้ดมีมากมายอยู่ริมทางจึงเป็นธรรมดาที่คอนเทนต์ “อาหารริมทาง” ส่วนมากต้องโฟกัสไปที่สีสันความน่ากินของอาหารนั้นๆ ซึ่งดูน่าตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าจะมาเล่าชีวิตอันแร้นแค้นแสนเศร้าของคนทำอาหาร

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องราวชีวิตอันน่าค้นหาของคนทำอาหารมานำเสนอ โลกนี้มีสารคดีเกี่ยวกับอาหารมากมายทั่วโลกที่บอกเล่าถึง “ชีวิต” และเบื้องหลังเรื่องราวของพวกเขา อาทิ สารคดีดังอย่าง “Chef”s Table” ที่เล่าเรื่องราวทั้งสวยงามและเจ็บปวดของผู้ได้ขึ้นชื่อว่า “เชฟ” ที่ต้องเผชิญมรสุมต่างๆ ก่อนจะมาถึงจุดสูงสุดแห่งรสชาติอาหาร

ไปจนถึงภาพยนตร์สารคดีที่เจาะชีวิตของเชฟที่ประสบความสำเร็จหลายคนทั่วโลก ซึ่งนำเสนอให้เห็นวินัยและความมุ่งมั่นที่สำคัญพอๆ กับพรสวรรค์ของเขาเหล่านั้น

แต่ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่ใคร่จะมีสารคดีที่พูดถึงชีวิต “คนทั่วไป” ที่ไม่ใช่เชฟ แต่เป็นคนที่ “ปรุงขายอาหารสตรีทฟู้ด” ในชีวิตประจำวัน ซึ่งซีรีส์สารคดีล่าสุดที่ชื่อ “Street Food” เข้ามาทำหน้าที่ขยายมุมมองนี้

ซีรีส์สารคดีความยาว 9 ตอน ตอนหนึ่งเฉลี่ย 30 นาที แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นอาหารริมทาง 9 เมือง จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

สารคดีพาไปรู้จักร้านอาหารริมทางหลายร้านที่เป็นที่รู้จัก และขายดีในหมู่ผู้คนท้องถิ่น โดยมีวิธีนำเสนอให้เห็นถึง “ชีวิต” ของเจ้าของร้านอาหารริมทางเหล่านี้ ว่าแต่ละคนมีที่มาอย่างไร ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร และพาไปสัมผัสชีวิตที่ผูกพันในย่านค้าขายของตัวเอง เพื่อให้คนกินได้เห็นมิติต่างๆ เสริมมากขึ้น นอกจากรับรู้เพียงว่า นี่คือร้านสตรีทฟู้ดที่ขายดีและควรมาลองชิม แต่กลับไม่รู้จักชีวิตพื้นเพของคนปรุงอาหารรสชาติเด็ดถูกใจเราเอาเสียเลย แม้ตัวสารคดีจะดูดราม่า และขับเน้นตัว “บุคคล” อย่างมากจนอาจทำให้คนดูที่แม้จะเห็นภาพอาหารน่ากินตรงหน้าและรู้สึกหิวตาม ก็ยังมีบางช่วงบางตอนที่ถึงกับมีน้ำตาซึมออกมา

เพราะชีวิตคนทำอาหารริมทางขายนั้นล้วนมาจากความยากลำบาก แร้นแค้น และต้องหา “หนทาง”

ที่มาที่ไปของพวกเขา มีตั้งแต่เมื่อชีวิตถึงทางตัน สิ่งที่คิดทำเลี้ยงชีพได้ คือ อาหารบางเมนูที่ได้รับการสั่งสอนฝึกทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อแม่ถึงรุ่นตัวเอง อาหารที่ทั้งชีวิตทำเป็นอยู่อย่างเดียวนั้นเองก็พาให้รอดตาย หรือบางคนที่มีความใฝ่ฝันจะมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองด้วยน้ำพักน้ำแรงเงินเก็บไม่มากมาย ทำได้คือการเปิดแผงร้านเล็กๆ ขายริมทาง บ้างก็พัฒนาเมนู บ้างก็ยึดสูตรบรรพบุรุษ อาหารริมทางบางเมนูที่โด่งดัง บ้างก็มาจาก “ข้อจำกัด” บางอย่างทำให้คิดค้นเมนูเด็ดโดนใจมาได้

ขณะเดียวกัน ตัวสารคดียังสอดแทรก ข้อมูลความรู้ด้านวัฒนธรรมอาหารริมทางหลายเมนู เช่น สตรีทฟู้ดในอินเดียที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็น “นิฮาริ” หรือแกงสตูเนื้อ “ซีกข์เคบับ” เนื้อแกะบดผสมเครื่องเทศนำมาย่าง ไปจนถึง “อลูติ๊กกี้” มันฝรั่งบดผัดไส้ด้วยถั่ว “โชเลบะตูเร” ถั่วลูกไก่ต้มกับเครื่องเทศกินกับขนมปังฟู เหล่านี้เป็นเมนูที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของประวัตศาสตร์ในอดีตของอินเดีย บางเมนูนั้นย้อนไปได้ถึงจักรวรรดิโมกุล ซึ่งอาหารริมทางอินเดียนั้นมีความเก่าแก่สูงมาก สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และอารยธรรมที่หล่อหลอมผ่านอาหารการกินของผู้คนในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ในตอนของประเทศไทย ขับเน้นไปที่เรื่องราวและชีวิตของ “เจ๊ไฝ” เจ้าของร้านอาหารริมทางคู่ย่านประตูผี ที่เปิดมานานเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งเจ๊ไฝก็เหมือนเจ้าของร้านสตรีทฟู้ดอีกหลายล้านคนบนโลกนี้ที่ “สู้ชีวิต” ด้วยตัวเองอย่างไม่ยอมแพ้

เราจะได้ฟังเรื่องเล่าในอดีต ขนานไปกับการเสนอภาพ หญิงวัยกว่า 70 ปี ที่ยังมีพละกำลังแรงแขนที่จะกระดกกระทะอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อเลี้ยงไฟ ทอดไข่เจียวปู เมนูอันมีชื่อเสียงของเจ๊ไฝให้คงมาตรฐาน

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คนดูอย่างเราจะรู้สึกแค่อยากชิมเมนูของเจ๊ไฝ เพราะการันตีด้วยมิชลินสตาร์ 1 ดาว เท่านั้น แต่คนดูยังแทบจะสัมผัสได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของคนทำงานหน้าเตาที่ทุ่มเท และรักษามาตรฐาน “รสมือ” ด้วยความตั้งอกตั้งใจในทุกวันด้วย

เนื้อหาในซีรีส์สารคดี “Street Food” สามารถสร้างพลังใจถึงคนดูได้ไม่มากก็น้อย

บรรดาเจ้าของสตรีทฟู้ดเหล่านี้มีความเป็นตัวของตัวเอง และเข้าใจสิ่งที่ทำมากพอ

เช่นที่ “โทโยะ” พ่อครัวร้านอิซากายะริมทางชื่อดังแห่งโอซากา บอกไว้ว่า “คุณต้องแข็งแกร่งพอที่จะสร้างกระแสน้ำของตัวเอง เพราะคุณคาดหวังให้ผลออกมาดีไม่ได้ ถ้าแค่ว่ายไปตามน้ำ ซึ่งผมเตรียมพร้อมทุกความท้าทายอย่างไม่ลังเล”

แน่นอนว่าบรรดาคนทำอาหารริมทางที่ประสบความสำเร็จ เขาเหล่านั้นต่างมี “กระแสน้ำ” ของตัวเองเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image