สุวรรณภูมิในอาเซียน : พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี 2,000 ปี แลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์ วัฒนธรรมหินใหญ่-หินตั้ง

เขาถวายพระเพลิง (ด้านล่างของภาพ) มีบันไดแก้วขึ้นทางด้านตะวันตก บนยอดเขามีมณฑปครอบหินใหญ่-รอยพระพุทธบาท (ด้านบนของภาพ) มีวิหารครอบหินใหญ่-พระแท่น (ภาพจากโดรน มติชนทีวี พฤษภาคม 2562)

พระแท่นดงรัง มีเขาถวายพระเพลิงเป็นแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์ 2,000 ปี ย่านแม่น้ำแม่กลองตอนบน บริเวณชุมทางเส้นคมนาคมเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.1000

เส้นทางคมนาคมบริเวณพระแท่นดงรัง กระตุ้นให้เกิดมีบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มของลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ได้แก่ เมืองอู่ทอง (จ.สุพรรณบุรี) และเมืองนครปฐม (จ.นครปฐม)

แม่น้ำแม่กลอง เส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย ทะเลจีนใต้

จากเมืองท่าในพม่า ผ่านช่องเขาด่านเจดีย์สามองค์ (หรือช่องเขาอื่นๆ ในละแวกนั้น) ลงแควน้อย-แม่กลอง ไปออกอ่าวไทย

Advertisement

แม่น้ำแม่กลองตอนบน (พื้นที่สูงทางตะวันตก ลาดเอียงลงทางตะวันออก) จากท่าม่วง, ท่าเรือ มีลำน้ำแยกไหลไปทางตะวันออกหลายสาย กระตุ้นให้เกิดบ้านเมืองสมัยเริ่มแรกหลายแห่ง

ท่าม่วง ริมแม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีลำน้ำทวนแยกขึ้นทางเหนือ ผ่าน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เชื่อมลำน้ำจรเข้สามพัน กระตุ้นมี เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แล้วไหลงลงแม่น้ำท่าจีน (อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี)

ท่าเรือ ริมแม่น้ำแม่กลอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ใกล้พระแท่นดงรัง มีลำน้ำท่าสาร แยก 2 สาย ได้แก่ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement
แม่น้ำแม่กลอง ช่วงที่ไหลผ่านชุมชนสถานีการค้าพงตึก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

สายตะวันออก กระตุ้นมี เมืองกำแพงแสน (อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม) แล้วไหลไปลงแม่น้ำท่าจีนที่บางปลา (อ.บางเลน จ.นครปฐม)

สายตะวันออกเฉียงใต้ กระตุ้นมี เมืองนครปฐม (อ.เมืองฯ จ.นครปฐม) แล้วไหลไปลงแม่น้ำท่าจีน ที่บางแก้ว (อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม)

ท่ามะกา ริมแม่น้ำแม่กลอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ไม่ห่างมากนักจากพระแท่นดงรัง มี “พงตึก” ชุมชนสถานีการค้าของอินเดีย-อิหร่าน

[ได้ข้อมูลจากงานค้นคว้าวิจัยที่สำคัญมาก ชื่อ เมืองอู่ทอง ของ มานิต วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือโบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2509 หน้า 71-101 และ ลุ่มน้ำแม่กลอง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง (อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี) พ.ศ.2536]

ความเก่าแก่ของพระแท่นดงรังและเขาถวายพระเพลิง พบหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนหลายอย่าง มีในข้อเขียนของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

แผนที่แสดงลำน้ำเชื่อมแม่กลอง-ท่าจีน [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ พฤษภาคม 2562]

พระแท่นดงรัง
วัฒนธรรมหินใหญ่-หินตั้ง 2,000 ปีมาแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

บนเนินพระแท่นดงรัง เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว มีร่องรอยการสร้างหินตั้งประเภท Cairn (นักโบราณคดีคนสำคัญอย่าง ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ควงศัพท์เป็นไทยว่า เนินหิน แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก) เนื่องจากเป็นจุดหมายตา (landmark) และยังมีหินใหญ่ (Megalith) ซึ่งเป็นก้อนหินธรรมชาติ ที่ถูกนับถือว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ ประกอบกับการที่มีตาน้ำอยู่ที่เนินแห่งนี้

แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏเหลือหินตั้งอยู่แล้ว เพราะหินเหล่านั้นได้ถูกรื้อนำไปสร้างเป็นฐานวิหารพระแท่นดงรังในสมัยหลัง

บนเขาถวายพระเพลิง อยู่ในปริมณฑลเดียวกัน ก็เป็นจุดหมายตาสำคัญอีกแห่งหนึ่งของพื้นที่บริเวณนี้ เพราะเป็นพื้นที่สูงที่สุดในอาณาบริเวณโดยรอบ และมีร่องรอยการสร้างหินตั้งประเภท Cairn ที่ถูกรื้อไปก่อเป็นกำแพงปรับระดับพื้นที่มณฑปพระพุทธบาทในสมัยหลังเช่นกัน

โดยน่าจะเคยมีบูชาหินใหญ่ เช่นเดียวกับที่เนินพระแท่นดงรัง ดังมีร่องรอยอยู่ในลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรี ของกรมหมื่นศักดิพลเสพ (ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ) ซึ่งเรียกรอยพระพุทธบาทที่ถูกสรัางขึ้นมาในสมัยหลังว่า “อาสน์จำหลัก” แสดงให้เห็นถึงร่องรอยว่าเคยมี “อาสน์” หรือ “พระแท่น” คือหินใหญ่ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรังมาก่อน

บันไดแก้ว บนเขาถวายพระเพลิง สร้างขึ้นในยุคทวารวดี หลัง พ.ศ. 1000 เพื่อใช้ขึ้นไปสักการะหินตั้ง หรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ในยุคทวารวดี ขั้นบันไดกรุขึ้นจากอิฐแบบทวารวดี ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ส่วนพนักบันไดเตี้ยๆ ทั้งสองข้างนั้นกรุขึ้นจากหินควอตซ์ ที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายเป็นแวววาวเมื่อต้องแสงดวงจันทร์ ดังปรากฏความในนิราศพระแท่นดงรัง ทั้งฉบับของสามเณรกลั่น, เสมียนมี และกรมหมื่นศักดิพลเสพ
หินควอตซ์เหล่านี้เป็นแร่ธาตุสำคัญ และคงถูกนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ เพราะถูกนำมาใช้สร้างเป็นหินตั้งบนเขาถวายพระเพลิง และเนินพระแท่นดงรัง

บนเขาถวายพระเพลิงยังมี “บันไดแก้ว” ลานลาดเป็นทางขึ้นสู่ยอดเขา อันเป็นที่ตั้งของหินตั้ง และหินใหญ่ ลานลาดดังกล่าวมีร่องรอยว่าเคยถูกปูลาดไว้ด้วยหิน ในทำนองเดียวกับที่วัดสะพานหิน จ.สุโขทัย (ซึ่งนักมานุษยวิทยาระดับปรมาจารย์อย่าง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยอธิบายไว้ว่า เป็นร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งเช่นกัน) และที่หมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซียอีกหลายแห่ง นักโบราณคดีเรียกหินตั้ง-หินใหญ่ ประเภทนี้ว่า Micro-Megalith แต่ยังไม่มีผู้ควงศัพท์เป็นคำไทย

เขาถวายพระเพลิงยังเป็นแหล่งหินควอตซ์ (Quartz) ที่สวยงาม จนถูกพรรณนาไว้ในนิราศหลายเล่ม และคงถือว่าวัตถุที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการนำเอาหินประเภทนี้มาใช้ก่อเป็นหินตั้ง และบันไดแก้วบนเขาถวายพระเพลิงเอง และที่เนินพระแท่นดงรังด้วย

วิหารพระแท่นดงรัง ยุครัชกาลที่ 4 สร้างครอบทับพระแท่นดงรัง คือหินใหญ่ ที่ถูกนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ
ที่ฐานของวิหารยังมีร่องรอยของหินควอตซ์ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหินตั้งมาแต่เดิม ถูกปรับเปลี่ยนเป็นฐานชั้นล่างสุดสำหรับรองรับวิหาร ในขณะที่บริเวณกำแพงแก้วบางส่วนที่ปูนถูกกะเทาะออกนั้น ก็เผยให้เห็นว่าก่อขึ้นจากอิฐเก่ายุคทวารวดี แสดงว่ามีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในยุคทวารวดีปลูกทับหินตั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากนั้นในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จึงได้นำอิฐเก่าทวารวดีเหล่านี้มาใช้สำหรับก่อสร้างวิหารขึ้นมาใหม่

หินตั้งในศาสนาผี
เปลี่ยนเป็นวัดในศาสนาพุทธ-ทวารวดี

มีการนำพุทธประวัติเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เข้ามาสวมทับคติการบูชาหินดั้งเดิม ในศาสนาผีพื้นเมือง เมื่อได้รับศาสนาพุทธจากชมพูทวีปเข้ามาหลัง พ.ศ.1000 ตรงกับยุคที่นักโบราณคดีเรียกว่า ทวารวดี

ดังนั้นจึงมีการสร้างอาคารคลุมก้อนหินใหญ่ โดยได้มีการปรับแต่งรูปทรงของหินก้อนนี้ให้มีลักษณะคล้ายพระแท่นบรรทม เพื่อให้สอดคล้องกับคติการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่อาคารที่ถูกสร้างขึ้นในยุคทวารวดีนั้นได้ถูกอาคารในยุคหลังสร้างทับจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว เหลือเพียงแต่อิฐสมัยทวารวดีจำนวนมากเป็นประจักษ์พยานที่เหลืออยู่

คติเรื่อง “พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน” ดูจะเป็นที่นิยมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มาตั้งแต่ยุคทวารวดีแล้ว โดยเป็นการสมมติว่าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำนี้เป็นเมือง “กุสินารา” ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน จึงปรากฏมีความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนอน พบหลักฐานสำคัญคือปูนปั้นยุคทวารวดี รูปพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานที่ใต้ต้นรังคู่ ที่ถ้ำฝาโถ เขางู จ.ราชบุรี

หินตั้งประเภท Cairn จากแหล่งโบราณคดี Myotha ทางตอนล่างของแม่น้ำชินด์วิน ประเทศพม่า

และยังปรากฏมีชื่อสระโกสินารายณ์ ซึ่งเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า กุสินารา ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ในขณะที่ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรี และนิราศฉบับต่างๆ ก็เรียกพื้นที่บริเวณสระโกสินารายณ์ และรวมไปถึงพระแท่นดงรังว่า เมืองโกสินราย ซึ่งก็คือคำที่เพี้ยนมาจาก กุสินารา เช่นกัน

บนเขาถวายพระเพลิงก็มีสร้างอาคารสมัยทวารวดีขึ้นแทนหินตั้ง แต่อาคารที่ถูกสร้างขึ้นในยุคทวารวดีนั้น ได้ถูกอาคารในยุคหลังสร้างทับจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว เหลือแต่ร่องรอยคืออิฐยุคทวารวดีเช่นเดียวกับที่เนินพระแท่นดงรัง

พื้นที่บริเวณบันไดแก้ว มีการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้อิฐแบบทวารวดีกรุเป็นขั้นบันได และใช้หินควอตซ์กรุเป็นพนักบันไดเตี้ยๆ ตลอดทั้งแนวตั้งแต่เนินเขาจนเกือบถึงยอด

นอกจากพื้นที่บริเวณเนินพระแท่นดงรัง และเขาถวายพระเพลิงจะเป็นจุดหมายตาสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้แล้ว ยังเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีต้นรังขึ้นอยู่มาก สอดรับกับคติเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานที่ใต้ต้นรังคู่ได้เป็นอย่างดี

หินกรวดโรยราดบนเนิน (Micro-Megalithic) ที่เกาะ Usukan ในเขตรัฐซาบาห์ ประเทศอินโดนีเซีย

คติพระแท่นดงรังยังสำคัญ
สืบเนื่องถึงยุคอยุธยา-รัตนโกสินทร์

คติเรื่องพระพุทธเจ้าปรินิพพานที่พระแท่นดงรังยังคงได้รับความสำคัญสืบมาจนถึงยุคอยุธยา ดังนั้นที่บริเวณเนินพระแท่นดงรัง จึงมีการก่อสร้างวิหารและเจดีย์ขึ้นใหม่แทนอาคารยุคทวารวดี โดยใช้อิฐของอาคารทวารวดีเดิมมาใช้ในการก่อสร้าง

ที่สำคัญคือพบพระพุทธบาทไม้ประดับมุก ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นงานช่างยุคพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนที่มีการสร้างมณฑปพระพุทธบาทบนยอดเขาถวายพระเพลิง จนทำให้หินใหญ่ที่เคยมีตั้งอยู่บนยอดเขาได้ถูกสร้างทับ หรือสูญหายไป

วิหารพระแท่นดงรัง (อยู่กลางภาพ) สร้างสมัยหลัง (ภาพจากโดรน มติชนทีวี พฤษภาคม 2562)

แต่คติเรื่องรอยพระพุทธบาทที่ถูกนำมาประดิษฐานใหม่นั้นก็ดูจะไม่ได้รับความนิยม เท่าคติเรื่องพระพุทธเจ้าปรินิพพานที่มีมาแต่เดิม เพราะในลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่า เมืองกาญจนบุรีนั้น กรมหมื่นศักดิพลเสพก็ยังเรียกรอยพระพุทธบาทในมณฑปบนเขาถวายพระเพลิงว่า “จำลองอาสน์จำหลัก” คือ “พระแท่นถวายพระเพลิง” ใน “มรฑป ที่พระบรมศพศาสดา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ต่อมามีการสร้างวิหารใหม่ทับสิ่งปลูกสร้างเดิม ทั้งบนเนินพระแท่นดงรัง และเขาถวายพระเพลิงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีการซ่อมแซมครั้งสำคัญอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image