คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ทางวิบากมังกรจีน ‘หัวเว่ย’

กว่าจะสร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่การรักษาความสำเร็จไว้ให้ได้อาจยากยิ่งกว่ามาก นาทีนี้ ยักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน “หัวเว่ย” น่าจะรู้ซึ้งถึงคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

เพราะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายจากหลายเหตุการณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่หนักหนาสาหัสมากทีเดียว และที่น่าจะลุกลามบานปลายไปกันใหญ่ ไม่เฉพาะต่อตัวบริษัทเองเท่านั้น เป็นกรณีล่าสุดอันเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ส่งผลกระทบมาถึงบริษัทโดยตรง

เมื่อกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มชื่อมังกรจีน “หัวเว่ย” ให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล (Entity List) ทำให้ 1 ในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของอเมริกันอย่าง “กูเกิล” ต้องออกมาปฏิบัติตามคำสั่งในทันที ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ไม่สามารถเข้าถึงบริการบางอย่างของ “กูเกิล” ได้ ในอนาคตอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นจีเมล์, กูเกิลแมป หรือยูทูบได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันแทบทั้งสิ้น แต่กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ยังคงใช้งานได้ เนื่องจากเป็นระบบเปิดในโครงการ Android Open Source Project (AOSP)

Advertisement

พลันที่เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว “หัวเว่ย” ออกแถลงการณ์ในทันทีว่า “ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของสำนักงานด้านอุตสาหกรรมและความปลอดภัย (BIS) กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา และว่า การตัดสินใจนี้ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น และยังสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อบริษัทอเมริกา ซึ่งหัวเว่ยทำธุรกิจด้วย รวมถึงตำแหน่งงานอีกหลายหมื่นตำแหน่ง อีกทั้งขัดขวางความร่วมมือที่ดำเนินอยู่และความไว้วางใจซึ่งกันและกันในระบบซัพพลายทั่วโลกอีกด้วย”

และว่า “หัวเว่ย” จะหามาตรการเยียวยาโดยทันที รวมถึงหาทางออกในเรื่องนี้ โดยจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

ต้องยอมรับว่าในตลาดสมาร์ทโฟนโลก รวมถึงในบ้านเราเอง “หัวเว่ย” เป็นแบรนด์ที่มาแรงเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดเจนในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยสามารถทำยอดขายไต่อันดับโลก และในบ้านเราขึ้นมาเรื่อยๆ

Advertisement

ปัจจุบันขึ้นมาถึงอันดับ 2 ของโลกแล้วเรียบร้อย จะเป็นรองก็แค่ “ซัมซุง” ที่สำคัญสามารถแซงหน้ายักษ์ “แอปเปิล” ของสหรัฐอเมริกา ไปได้แล้วในปีที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไม่ใช่แค่ “หัวเว่ย” เท่านั้น แต่อาจกล่าวได้ว่า “สมาร์ทโฟนแบรนด์จีน” กำลังยึดครองส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกด้วยเช่นกัน เพราะอันดับ 4 (เสี่ยวมี่) อันดับ 5 (วีโว่) และอันดับ 6 (ออปโป้) ล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์จีนทั้งสิ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่เห็นผลในทันทีหรือส่งผลโดยตรงกับประเทศไทย แต่ไม่มากก็น้อยย่อมส่งผลกระทบต่อการทำตลาด เพราะสร้างความวิตกกังวลในหมู่ผู้บริโภคเป็นวงกว้างมากทีเดียว ทั้งในกลุ่มผู้ใช้งานเดิม และผู้ที่กำลังต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่

ทั้งที่ก่อนจะเกิดเรื่อง “หัวเว่ย” นับเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับลูกค้ากระเป๋าหนักในบ้านเราด้วยตัวผลิตภัณฑ์เรือธงรุ่นใหม่ล่าสุด “Huawei P30 Series” ที่มีจุดเด่นเรื่องกล้องถ่ายรูปที่ซูมได้มากถึง 50 เท่า ร่วมด้วยช่วยกันกับแรงหนุนจากโปรโมชั่นของค่ายมือถือทุกเจ้าที่ช่วยผลักดันยอดขายกันเต็มที่

ในเบื้องต้น “หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)” ได้ออกมาแสดงความมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบกับผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน โดยระบุว่าบริษัทจะยังคงให้บริการอัพเดตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย และบริการหลังการขายแก่ผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตของหัวเว่ยที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดต่อไป ครอบคลุมถึงโมเดลที่ได้จำหน่ายออกไปแล้ว และที่ยังรอการจัดจำหน่ายอยู่ในสต๊อกทั่วโลก

และย้ำด้วยว่าจะยังมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มของซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยและยั่งยืนเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดสู่ผู้ใช้ทั่วโลก

“หัวเว่ย” ไม่ได้มีสมาร์ทโฟนเพียงแบรนด์เดียว แต่มี “ออเนอร์” (Honor) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ลูกด้วย

ต้นปีที่ผ่านมา “ริชาร์ด หยู” กรรมการบริหาร และซีอีโอ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทผ่านการกำหนดเป้าหมาย 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.หัวเว่ยจะขึ้นแท่นครองตำแหน่ง

ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ 2.ออเนอร์ (Honor) สมาร์ทโฟนแบรนด์ลูกของ “หัวเว่ย” จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน และอันดับ 4 ของโลก

และ 3.บริษัทจะให้การสนับสนุน “ออเนอร์” ในการพัฒนาคิดค้นผลิตภัณฑ์ และเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ช่องทางการจัดจำหน่าย และกลยุทธ์ค้าปลีก ขณะที่ยังคงยึดหลักการบริการแบบกลยุทธ์แบรนด์คู่ หรือ Dual-Brand Strategy ระหว่างออเนอร์และหัวเว่ย

ยิ่งสถานการณ์ดังกล่าวทอดยาวออกไปเท่าใด เป้าหมายที่ต้องการขึ้นเป็นที่หนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลก รวมถึงในประเทศไทยภายในปีหน้าย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ยากขึ้น

“เบน วูด” นักวิเคราะห์จาก CCS Insight กล่าวถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนว่า กำลังพัฒนาไปสู่การเป็น “สงครามทางเทคโนโลยี” เริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐเริ่มโจมตีจีนด้วยการเรียกร้องชาติพันธมิตรทั่วโลกไม่ให้ใช้อุปกรณ์ “หัวเว่ย” ในการพัฒนาเครือข่าย 5G

นักวิเคราะห์จาก CCS Insight มองว่าเป็นการส่งสัญญาณการให้ “เลือกข้าง” ระหว่างการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และพันธมิตรกับจีน

ด้าน “ริชาร์ด วินด์เซอร์” นักวิเคราะห์ จากไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ 20 บริษัทแรกของโลก หากวัดกันที่มูลค่าทางการตลาดจะพบว่าเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันและจีนในสัดส่วนเกือบเท่าๆ กัน จึงไม่น่าแปลกใจหากสหรัฐจะใช้ความพยายามอย่างหนักในการสกัดกั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศและบีบีซี รายงานว่า หลังจากสหรัฐเพิ่ม “หัวเว่ย” เข้าไปอยู่ในรายชื่อที่บริษัทอเมริกันไม่สามารถทำธุรกิจด้วยได้ว่า “เหริน เจิ้งเฟย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” ได้กล่าวถึงโครงการของหัวเว่ยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ 5G ว่า “จะไม่มีทางสะดุดด้วยเรื่องนี้ เพราะพัฒนาการด้านเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยไปไกลกว่าที่สหรัฐฯจะคาดคิดมากนัก”

ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” ซึ่งเป็นอดีตทหารประจำกองทัพปลดแอกประชาชนจีนและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ย้ำด้วยว่า “ในระยะ 2-3 ปีนี้ ไม่มีทางที่ใครจะตามทันด้วย”

จาก “เทรดวอร์” ลุกลามบานปลายกลายมาเป็น “เทควอร์” ได้ก็ด้วยเหตุที่ว่าสถานะการเป็น “มหาอำนาจของโลกด้านเทคโนโลยี” มีความสำคัญยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image