คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Handmaid’s Tale ประเทศ ‘ดิสโทเปีย’ อันชวนขนลุก

ภาพประกอบจาก Youtube/HULU

ซีรีส์ดราม่าเรื่องดังจากสหรัฐอเมริกาเรื่อง “The Handmaid’s Tale” กำลังจะออกฉายซีซั่น 3 วันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งตัวซีรีส์นั้นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามนับตั้งแต่ซีซั่น 1 ที่กวาดรางวัลและเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างมาก ขณะที่ซีซั่นที่ 2 ซึ่งฉายไปเมื่อปีก่อนได้ทิ้งปมเรื่องราวไว้ให้ชวนติดตาม

“The Handmaid’s Tale” เป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราว “ดิสโทเปีย” สังคมที่ไม่พึงประสงค์ ปกครองด้วยระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยพล็อตเรื่องนั้นน่าสนใจมาก เมื่อสหรัฐอเมริกาถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มหัวรุนแรงเคร่งศาสนาที่อ้าง “ความหวังดี” และ “ความศรัทธา” ที่จะรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไปจนถึงการอ้างความต้องการเห็นโลกที่น่าอยู่ขึ้น แต่กลับเลือกใช้วิธีการ “จัดระเบียบ” ประเทศชาติใหม่อย่างสุดโต่ง ปกครองประเทศโดยใช้กฎหมายแบบหลักศาสนาที่มีความฟาสซิสม์เข้มข้น พร้อมตั้งชื่อสหรัฐอเมริกาใหม่ว่าเป็น “สาธารณรัฐกีเลียด”

ตัวเรื่องพัฒนามาจากนิยายที่ตีพิมพ์ในชื่อเดียวกันเมื่อปี 1985 เขียนโดยนักเขียนหญิงชาวแคนาดา “มาร์กาเร็ต แอทวู้ด” ซึ่งนิยายยังได้รับรางวัล Booker Prize ด้วย

Advertisement

โดยตัวนิยายนั้น แอทวู้ดเล่าว่าได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากเรื่องราวทางการเมืองและนโยบายสาธารณะของสหรัฐที่มีความอนุรักษนิยมสูงในช่วงทศวรรษที่ 80 สมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน อาทิ การต่อต้านกฎหมายทำแท้ง และส่งเสริมการวางแผนครอบครัวมีบุตรตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันยุคนั้นยังเป็นช่วงที่กลุ่มการเมืองคริสเตียนฝ่ายขวาเติบโตสูงด้วย

แอทวู้ดใช้จินตนาการต่อยอดสร้างสังคมดิสโทเปียขึ้นมา โดยวางโครงเรื่องจากนโยบายสาธารณะที่มีความอนุรักษนิยมเชื่อมต่อกับแนวคิดอาณานิคมเพียวริตัน ในศตวรรษที่ 17 (กลุ่มเพียวริตันเป็นกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนที่สนับสนุนความเชื่อทางปรัชญาและการกระทำพิธีทางศาสนาที่บริสุทธิ์และมีความเคร่งครัดสูงมาก) และวางคาแร็กเตอร์ให้ตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงมีกลิ่นอายเฟมินิสต์ในยุคเคลื่อนไหวช่วงทศวรรษ 70

ผ่านมา 32 ปี เรื่องราวจากในนิยายถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ออกอากาศตอนแรกเมื่อปี 2017 และตัวแอทวู้ดยังเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้อำนวยการสร้าง

Advertisement

ขณะที่ตัวนิยายอิงกับการเมืองและนโยบายสหรัฐในยุค 80 มาในเวอร์ชั่นซีรีส์ ก็ราวกับจะอิงกับสถานการณ์สหรัฐในจังหวะที่ผู้คนยังประหวั่นพรั่นพรึงว่าการเมืองและประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงจะไปในทิศทางไหน หลังการเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือนแรกของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนส่วนหนึ่งกับนโยบายกีดกันแรงงานต่างชาติ ไปจนถึงนโยบายกีดกันพลเมืองจากประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ด้วยการอ้างตั้งแต่ความมั่นคงในประเทศจากภัยการก่อการร้าย ไปจนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจยาวนานหลายปี

ความที่ตอนออกฉายครั้งแรกตัวซีรีส์ได้แรงโหนมากับการเมืองในโลกจริงของสหรัฐด้วยส่วนหนึ่ง ส่งให้ “The Handmaid’s Tale” เจิดจ้าบนเวทีรางวัล โดยซีรีส์ 10 ตอนแรก หรือซีซั่นที่ 1 ได้รับคำวิจารณ์ออกมาบวกอย่างมาก จึงไม่ยากที่ The Handmaid’s Tale สามารถกวาด “รางวัลเอ็มมี” (Emmy Award) ในฐานะรางวัลสำคัญของวงการโทรทัศน์มากถึง 8 รางวัล

ขณะที่ในซีซั่นที่ 2 ออกฉายเมื่อปี 2018 ถือว่าตัวซีรีส์มีเนื้อหาเรื่องราวที่ยังคงเป็นกระจกสะท้อนสังคมสหรัฐได้ดี ซึ่งเมื่อปีที่แล้วความเคลื่อนไหวของกระแส “#MeToo” ในสหรัฐเป็นประเด็นโด่งดังสากลเมื่อเหล่าผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศออกมาเคลื่อนไหว โดยมีกระแสสังคมออกมาสนับสนุนอย่างมากมาย

เรื่องราวใน “The Handmaid’s Tale” เสนอให้เห็นความบ้าคลั่งของการสร้างชาติใหม่ผ่านกลุ่มอนุรักษนิยมคลั่งศาสนาสุดโต่ง ที่มีการบังคับกดขี่ แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มหน้าที่ และชนชั้นต่างๆ บังคับแม้กระทั่งรูปแบบของเสื้อผ้าที่สวมใส่เพื่อแยกตามบทบาทหน้าที่ในสังคม มีการกดขี่และวางสถานะผู้หญิงให้ต่ำกว่าผู้ชายในทุกกรณี

การเปลี่ยนการปกครองประเทศที่อ้างว่าต้องการ “จัดระเบียบ” ให้น่าอยู่ แต่กลับลงโทษประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง ใครมีดินสอ ปากกา ถือเป็นความผิด ใครอ่านหนังสือแล้วถูกจับได้จะถูกตัดนิ้ว มีการออกแบบการปกครองที่มีบทลงโทษโหดร้ายสารพัดแบบ ทั้งยังปิดกั้นทุกอย่างถอดป้ายถนนหนทางทิ้ง ไม่มีอินเตอร์เน็ต ยกเว้นระดับผู้บัญชาการในเขตต่างๆ มีสิทธิเข้าถึงชีวิตและไลฟ์สไตล์แบบเดิมได้

โดยเนื้อเรื่องหลักจะโฟกัสไปที่ตัวนางเอก ซึ่งถูกคัดเลือกเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่เป็น “สาวใช้” ในชุดสีแดงเรียกว่า “Handmaid” มาทำหน้าที่จิปาถะ แต่หน้าที่หลักคือ “ให้กำเนิดทารก” โดยพวกแฮนด์เมดจะถูกส่งตัวไปประจำอยู่ในแต่ละบ้านพักของบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาล และผู้บัญชาการแต่ละเขตพื้นที่

แนวคิดนี้เป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ จึงออกแบบวิธีการเพิ่มจำนวนประชากร โดยเลือกกลุ่มผู้หญิงมาเป็น “ทาสสืบพันธุ์” ให้กลุ่มชนชั้นปกครอง ผ่านวาทกรรมว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการถือกำเนิด ทั้งที่จริงแทบไม่ต่างจากการที่ผู้หญิงเหล่านี้กำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเรื่องราวจะเล่าผ่านตัวนางเอกที่ต่อสู้หาทางรอดต่างๆ นานา

สำหรับใครที่ได้อ่านเวอร์ชั่นนิยายมาก่อนหน้าแล้ว (มีฉบับแปลภาษาไทยวางจำหน่าย) และชื่นชอบเรื่องราวในหนังสือ ยิ่งต้องไม่พลาด The Handmaid’s Tale เวอร์ชั่นซีรีส์ เนื่องจากตัวซีรีส์ออกฉายมาได้สองซีซั่นแล้ว (2017-2018) ซึ่งใน “ซีซั่น 1” เรื่องราวจะจบพร้อมในตัวนิยาย ขณะที่ใน “ซีซั่น 2” ได้เล่าเรื่องต่อขยายออกมาจากนิยาย

ล่าสุด “ซีซั่น 3” กำลังจะออกฉายต้นเดือนมิถุนายนนี้

แนวคิดสำคัญจากเรื่องราวใน The Handmaid’s Tale นับตั้งแต่ตัวนิยายที่สะท้อนการเมืองและนโยบายสาธารณะ และค่านิยมบางอย่างของรัฐบาลสหรัฐยุค 80

มาในตัวซีรีส์ก็มีแง่มุมที่พูดถึงแนวคิดทางสังคมและการเมืองอันหลากหลายของผู้คนในปัจจุบัน

แม้เนื้อหาจะเป็นซีรีส์ดราม่าที่มีความหม่นเครียด หลายฉากมีความหดหู่ แต่ “สมคุณค่า” ต่อการใช้เวลารับชม เพราะแม้จะเป็นเรื่องราวปรุงแต่งใน “โลกดิสโทเปีย” แต่ก็มีแง่มุมที่เป็นกระจกสะท้อนบางอย่างต่อการมองสังคม มองโลกทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image