อาศรมมิวสิก : สุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลง ‘พลเอก เปรม ติณสูลานนท์’ โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เวลา 09.09 นาฬิกา ได้ทราบข่าวว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ “สุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลง” ได้ถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากระบบหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยอายุ 98 ปี 9 เดือนพอดี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463

ผู้เขียนมีโอกาสพบ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อกลับมาจากต่างประเทศ ปลายปี พ.ศ.2528 ได้ทราบว่าท่านสนใจเรื่องการร้องเพลงและอยากเล่นดนตรีมาก อยากได้ครูไปสอนร้องเพลง แต่เนื่องจากท่านไม่ค่อยมีเวลา จึงยังไม่สามารถสนองความต้องการท่านได้

อีก 10 ปีต่อมา ผู้เขียนได้จัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำเร็จ จึงได้เชิญ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปฟังดนตรีบ่อยขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ได้เจอท่านและพูดคุยเรื่องดนตรีอีกครั้ง ในโอกาสการแสดงดนตรีดีๆ ก็จะกราบเรียนให้ท่านทราบ ส่วนใหญ่ท่านก็จะไปชมดนตรีเพราะความชอบส่วนตัว

วันหนึ่ง ปี พ.ศ. 2543 ท่านก็ตั้งคำถามขึ้นว่า “อายุปูนนี้แล้ว (80 ปี) จะเรียนดนตรีได้ไหม” ซึ่งท่านบอกว่าอยากเล่นเปียโน และที่บ้านก็มีเปียโนอยู่แล้ว ก็อยากได้ครูเปียโนไปสอนที่บ้าน (สี่เสา)

Advertisement

ต่อมา ผู้เขียนได้เจอกับ สิบโท ประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนจากกองทัพบก ไปเรียนดนตรีที่ประเทศอังกฤษและเพิ่งจะเรียนจบกลับมา ในวันนั้น สิบโท ประทีป เป็นผู้ควบคุมวงดุริยางค์เครื่องเป่าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เล่นเพลงลาวดวงเดือน ที่ได้เรียบเรียงเพลงขึ้นใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน รู้สึกแปลกและเสียงดีมาก จึงได้สอบถามว่า (คุณ) เป็นใคร อยู่ที่ไหน ก็ได้คำตอบว่า เป็นทหารอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบก แถมยังรายงานตัวว่า “อาจารย์จำผมไม่ได้หรือครับ ผมเคยไปยืมหนังสือของอาจารย์ก่อนไปเรียนที่อังกฤษ”

จากวันนั้น สิบโท ประทีป สุพรรณโรจน์ ก็ได้เข้าไปสอนดนตรีในบ้านสี่เสา และมีเพื่อนอีกคนหนึ่ง สิบตรี วิวัฒน์ คมศิลป์ ได้เข้าไปสอนเปียโนที่บ้านสี่เสาด้วย พร้อมได้จัดกิจกรรมดนตรีที่บ้านสี่เสา (วันอาทิตย์) นอกจากจะเป็นการฝึกซ้อมเปียโน การเล่นเปียโนจากศิลปินรับเชิญ นักดนตรีได้เข้าไปที่บ้านเป็นประจำ

ต่อมา พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เริ่มเรียนการแต่งเพลง โดยมีนักดนตรีจากกองทัพบกเป็นผู้คอยช่วยเหลือ เมื่อแต่งได้เป็นเพลงแล้ว (ทั้งทำนองและเนื้อร้อง) เพลงก็จะถูกนำไปเรียบเรียงเสียงเพื่อให้วงดุริยางค์ทหารบกเป็นผู้บรรเลง

Advertisement

บทเพลงของท่านถูกนำไปเล่นโดยศิลปินอื่น วงดนตรีอื่นๆ และตัวท่านเองก็หันมาร้องเพลงของตัวเองมากขึ้น ดูเหมือนว่าความสุขที่ได้แต่งเพลง ความสุขที่ได้ร้องเพลงของตัวเอง เป็นความสุขเท่าทวีคูณ การที่วงดนตรีกองดุริยางค์ทหารนำบทเพลงของท่านไปแสดง ศิลปินหลายคนได้นำเพลงของท่านไปแสดง นำบทเพลงไปเผยแพร่ ทำให้ผู้แต่งเพลงมีความสุขมาก วันหนึ่งท่านได้รำพึงว่า “ชีวิตที่เหลือมีอยู่ 2 อย่าง คือ พระเจ้าอยู่หัว และดนตรี”

นายทหารจากกองดุริยางค์ทหารบกได้มีโอกาสรับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อวิชาดนตรีระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ พันตรี วิวัฒน์ คมศิลป์ และยังมีนักเปียโนที่มีความสามารถหลายคน ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อเปียโนในต่างประเทศ อาทิ เสกข์ ทองสุวรรณ ภูมิ พรหมชาติ เป็นต้น นักดนตรีเหล่านี้ก็ได้แสดงให้ท่านได้ชื่นชม

สำหรับกองดุริยางค์ทหารบกนั้น ได้จัดงานวันครบรอบวันเกิด (26 สิงหาคม) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา โดยนำบทเพลงที่ท่านแต่งไว้แล้ว (รวม 200 เพลง) แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามเรื่องราวของเพลง มอบให้นักร้องรับเชิญ นักดนตรีคนสำคัญ ศิลปินแห่งชาติ ได้ร่วมแสดง ส่วนใหญ่จะจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถจะพูดได้ว่า บทเพลงและดนตรีทำให้ชีวิต พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีความสุขยิ่ง

สุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลงได้บอกฝากไว้ว่า หากวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) มีนักเปียโนมาแสดงเมื่อใด ก็ขอให้บอกท่านด้วย เพราะท่านชอบฟังวงออเคสตรา (ทีพีโอ) เล่นกับเปียโนมาก เมื่อเชิญไปครั้งใด ท่านก็จะไปชมเกือบทุกครั้ง เมื่อท่านไปฟังวงทีพีโอบ่อยๆ ก็รู้สึกว่า อยากให้วง (ทีพีโอ) ได้เข้าไปแสดงในเมืองบ้าง เพื่อคนในเมืองจะได้ฟังดนตรีดีๆ อาทิ ที่สนามเสือป่า ท่านยกตัวอย่าง

หลังจากได้เจรจาต่อรองเรื่องระบบเสียง เรื่องความสวยงามของอาคารสถานที่ ในที่สุดก็ตกลงกันว่า จะจัดการแสดงของวงทีพีโอ ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวงจากกองดุริยางค์ทหารบก และวงเยาวชนจากยะลา ร่วมแสดงด้วย

การแสดงได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 รายการรักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย โดยมีท่าน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดงาน มีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานจัดงาน รวมทั้งทูตานุทูตและคนสำคัญทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมฟังการแสดงดนตรีในครั้งนั้น

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2556 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเพื่อหารายได้จัดตั้ง “กองทุนเปรมดนตรี” ที่ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี วันนั้นเป็นการแสดงของวงทีพีโอ ดาราคนสำคัญก็คือนักร้องรับเชิญ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และมีผู้ฟังกิตติมศักดิ์คือนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ปรากฏว่า วันนั้นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ฟัง “ป่วยอาหารเป็นพิษ” ไม่ได้ไปฟังเพลงตามนัด ท่านยังบ่นว่า “ไหนว่านายกอยากฟังผมร้องเพลง ป่วยมาฟังไม่ได้ ก็ต้องไปฟังผมร้องที่บ้าน”

วันหนึ่ง เมื่อนักร้อง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงทีพีโอ เตรียมตัวที่จะขับร้องเพลงเพื่อฉลองวันเกิด พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยมีวงทีพีโอบรรเลงประกอบ ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ระหว่างที่นั่งอยู่ในห้องรับรอง ท่านสุภาพบุรุษได้ถามคุณหญิงว่า “คุณหญิงร้องเพลงเสียงดี ต้องดื่มอะไรเป็นพิเศษไหม” คุณหญิงได้ตอบว่า “ไม่ดื่มน้ำเย็น ไม่ดื่มน้ำแข็ง แต่ดื่มน้ำอุณหภูมิเดียวกับอุณหภูมิที่อยู่ในห้อง”

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2558 กองดุริยางค์ทหารบก ซึ่งมีหัวหน้ากองครองยศเป็น “พันเอก” ได้เปลี่ยนฐานะยกขึ้นเป็นกรมดุริยางค์ทหารบก โดยมีท่านเจ้ากรมครองยศเป็น “พลตรี” อยู่ในกองทัพไทย ซึ่งได้ยกฐานะของนักดนตรีและนักร้อง ผู้ทำหน้าที่เป็น “พนักงานประโคม” หรือบรรเลงให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่กินเลี้ยง ซึ่งจะเรียกกันติดปากว่า “วงหัสดนตรี” เป็นวงดนตรีเพื่อความหรรษาของผู้ใหญ่

ฐานะดนตรีของกรมดุริยางค์เปลี่ยนสภาพไปเป็นเครื่องมือของทหารที่เป็นพลังละมุน (Soft Power) ใช้ในการสมานความรู้สึกระหว่างคนในกองทัพด้วยกัน ระหว่างกองทัพกับประชาชน ใช้ในรูปแบบที่เรียกว่า ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน ทำให้ดนตรีเปลี่ยนบทบาทจากความบันเทิง เป็นการใช้ดนตรีในมิติและรูปแบบใหม่ คือ นอกจากใช้เพื่อความบันเทิงแล้ว ยังใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาสังคมในเวลาเดียวกันด้วย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2559 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงาน “คอนเสิร์ตวันเกิดป๋า” ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร โดยเชิญศิลปินนักเปียโนรุ่นใหญ่ที่มีอยู่ในประเทศไทยมาร่วมแสดง ซึ่งก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ท่านมีความสุขมาก เพราะมีนักเปียโนคนเก่งทั้งหลายมาแสดงให้ท่านได้ชม

เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2561 ได้จัดงาน “คอนเสิร์ตวันเกิดป๋า” เป็นครั้งที่ 11 โดยการนำบทเพลงของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นำมาเรียบเรียงให้กับวงดนตรีที่หลากหลายและมีศิลปินชั้นนำร่วมในการแสดง มีเพลงเอก อาทิ เพลงป่ารักน้ำ เพลินตาเพลินใจ ใต้แสงจันทร์ กลิ่นนาง เธอคือดวงเดือน เป็นต้น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ผู้เขียนได้เข้าเยี่ยมท่านเป็นการส่วนตัวที่บ้านพักสี่เสา เป็นการเยี่ยมรวบยอดจากวันปีใหม่และวันสงกรานต์เข้าด้วยกัน วันนั้นมีวงหัสดนตรีของกรมดุริยางค์แสดงให้ท่านชม ทุกคนก็เตรียมเพื่อจัดงานคอนเสิร์ตวันเกิดป๋า ครั้งที่ 12 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ วงดนตรีก็อยากให้ท่านได้ซ้อมร้องเพลง “เธอคือดวงเดือน” ท่านก็พูดว่า “อาจารย์มาเยี่ยมก็จะร้องเพลงให้อาจารย์ฟัง”

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลง ท่านพูดถึงเรื่องสุขภาพอยู่เสมอๆ พูดถึงการดูแลรักษาตัวเองว่า ตัวเราเป็นหมอที่ดูแลสุขภาพเราดีที่สุด ท่านจะบอกว่า เสียงเพลงและดนตรีทำให้ท่านมีความสุข การแต่งเพลง การร้องเพลง และการฟังดนตรี จึงเป็นยาอายุวัฒนะของชีวิต

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สุภาพบุรุษผู้รักเสียงเพลง เป็นตัวอย่างชีวิตของผู้สูงอายุที่ดี มีชีวิตที่งาม ชีวิตที่ไม่เป็นภาระ ชีวิตที่สร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะ ท่านมีชีวิตที่สะอาด มีรสนิยม ประณีต แต่งตัวงาม เนี้ยบ ไม่ยึดติด นิ่งสุขุมลึก มีความจำที่สุดยอด และเป็นชีวิตที่มีแต่ให้ ท่านจึงเป็นสามัญชน คนสาธารณะที่มีบารมี จึงมีคนเคารพรัก สำหรับผู้เขียนแล้ว ท่านเป็นคุณลุงที่มีชีวิตงาม น่ารัก และมีชีวิตที่พิเศษมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image