สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุนทรภู่ไม่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง

สุนทรภู่ไม่ใช่ชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จ.ระยอง) แต่เดินทางไปบ้านกร..ในฐานะพิเศษ (ผู้ปฏิบัติ “ราชการลับ” จากกรุงเทพฯ) จึงเข้านอกออกในไปมาหาสู่ “กรมการบ้าน” เรียก “ยกกระบัตร” ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่ราชการสมัยนั้น ส่วนเมียเป็น “ท่านผู้หญิง” มีกลอนดังนี้

แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ ล้วนเลี้ยงเป็ดหมูเนื้อดูเหลือเข็ญ

ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา

ขณะอยู่บ้านกร่ำเพื่อรอกำหนดกลับกรุงเทพฯ สุนทรภู่กับคณะที่ไปด้วยกันนั่งๆ นอนๆ อย่างหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยว เพราะไม่ใช่ถิ่นกำเนิด จึงไม่คุ้นเคยแม้มีผู้คนคับคั่งแต่ไม่รู้จัก จึงระกำใจรำพึงเป็นกลอนว่า

Advertisement

ถึงคนผู้อยู่เกลื่อนก็เหมือนเปลี่ยว สันโดษเดี่ยวด้วยว่าจิตผิดวิสัย

มาอยู่ย่านบ้านกร่ำระกำใจ ชวนกันไปชมทะเลทุกเวลา

ไม่เชื้อชอง

ถาวร สิกขโกศล นักปราชญ์ร่วมสมัยด้านเพลงดนตรีไทย เขียนบอกว่าสุนทรภู่เป็นเชื้อสายพราหมณ์เพชรบุรี ไม่มีเชื้อชอง ดังนี้

Advertisement

“มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าสุนทรภู่มีเชื้อสายชนเผ่าชองในระยอง เพราะในนิราศเมืองแกลงมีความตอนหนึ่งว่า

ด้วยเดือนเก้าเข้าวสาเป็นหน้าฝน จึงขัดสนสิ่งของต้องประสงค์

ครั้นแล้วลาฝ่าเท้าท่านบิตุรงค์ ไปบ้านพงค้อตั้งริมฝั่งคลอง

ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง

ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตกกระเด็น

เนื่องจากกลอนบาทที่สองพูดถึงบิดา ผู้อ่านบางคนจึงเข้าใจกลอนบาทที่สี่วรรคหน้าว่าวงศ์วานว่านเครือของบิดาสุนทรภู่เป็นเชื้อชอง ความจริงแล้วหมายถึง “หนุ่มสาวชาวบ้าน” ที่สุนทรภู่เห็นแล้วรำคาญจิต” นั้น “ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง” สุนทรภู่จึงไม่มีเชื้อชอง แต่เป็นเชื้อพราหมณ์ตามนิราศเพชรบุรี

[บทความเรื่อง “สุนทรภู่กับครูมีแขก ปรมาจารย์ของไทย” โดย ถาวร สิกขโกศล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558]

ชอง เป็นชื่อกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร นับถือศาสนาผี มีหลักแหล่งอยู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ตราด, จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี และต่อเนื่องเข้าไปในบางส่วนของเขตกัมพูชา

ต่อมากลุ่มชองค่อยๆ กลายตนเป็นไทย พูดภาษาไทย

กร่ำ เครื่องล่อปลาให้เข้าไปอยู่บริเวณที่คนต้องการจับปลา โดยใช้ไม้ปักตามชายฝั่งลำน้ำ เป็นรูปกลมบ้างรีบ้าง แล้วคลุมหรือสุมด้วยกิ่งไม้เพื่อล่อปลาหลงเข้าไป เมื่อจะจับก็เอาเฝือกหรืออวนล้อมแล้วเอาไม้สุมนั้นออก เครื่องล่อปลานั้นเรียก กร่ำ หรือ กล่ำ

แกลง (ในชื่อเมืองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง) น่าจะหมายถึงลมว่าว พัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ในช่วงฤดูหนาวแกลงเป็นคำกลายจากภาษาเขมรว่าแคลง แปลว่าว่าวชนิดหนึ่ง

พบในชื่อ “พิธีแคลง” หมายถึงพิธีเล่นว่าวขอลม เดือนอ้าย (เดือนที่ 1 หลังลอยกระทง ราวพฤศจิกายน-ธันวาคม) อยู่ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง)

อาจมีความหมายอื่นนอกเหนือจากนี้ แต่ผมไม่เคยได้ยิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image