คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ปฏิรูปที่มีหวัง

หลายคนคงผิดหวังกับคำว่า “ปฏิรูป” เพราะ 5 ปีในห้วงเวลาที่เรียกร้องกลับมีแค่ความพยายาม

เคยเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองในที่สุดผลที่ออกมาก็ไม่ใช่

อยากให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แค่ปฏิรูปตำรวจก็ทำไม่สำเร็จ

นี่ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ ทั้งปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม

Advertisement

5 ปีที่ผ่านมายังถามหาถึงรูปธรรม

เรียกได้ว่าหมดหวังไปตามๆ กัน

แต่วันก่อนมีโอกาสได้พูดคุยกับประธานคณะกรรมการอัยการคนใหม่

Advertisement

นั่นคือ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง

ฟังแล้วพอมองเห็นความหวังหากไทยยังต้องการปฏิรูป

มองเห็นว่าความพยายามจะปฏิรูปคนอื่นนั้น ความสำเร็จยังห่างไกล

แต่หากจะปฏิรูปตัวเองโอกาสที่จะพัฒนาก็พอมองเห็น

นายอรรถพลเปิดแนวทางการพัฒนาองค์กรอัยการหลายอย่างผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ

เริ่มปักธงเป้าหมายของอัยการว่า ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

จากนั้นจำแนกภารกิจออกเป็น 3 ประการใหญ่ๆ

หนึ่ง อำนวยความยุติธรรม หมายถึง ดำเนินคดีอาญาทั่วโลกทำเหมือนกันหมด

สอง รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ข้อนี้ไม่ใช่อัยการจะทำหน้าที่เข้าข้างรัฐอย่างเดียว แต่ต้องไปดูที่ภารกิจ

สาม ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

เพราะเมื่อปักธงไปที่ประชาชนเป็นหลัก การรักษาผลประโยชน์ของรัฐก็ต้องคำนึงถึงประชาชนด้วย

ส่วนผลประโยชน์ของรัฐที่ต้องรักษา คือผลประโยชน์ของแผ่นดิน

ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการก็จะมีการปฏิรูป

จากเดิมที่ว่าความคนเดียว แบบหัวเดียวกระเทียมลีบ

ต่อไปจะเติมอัยการเข้าไปเป็นคณะแล้วช่วยกันว่าความ

เพราะหลายคดีที่เป็นคดีใหญ่ ฝ่ายจำเลยมีทีมทนายความมาก จึงไม่ควรปล่อยให้อัยการ 1 คนไปยืนสู้โดยลำพัง

ดังนั้น ต่อไปในการว่าความ อัยการคนหนึ่งทำหน้าที่อยู่หน้าบัลลังก์จะ “ว่าความด้วยปาก”

ส่วนทีมอัยการที่ไปด้วยจะคอยแนะนำด้วยการเขียนบอกประเด็น

เรียกว่า “ว่าความด้วยมือ”

ด้วยการอำนวยความยุติธรรม มีแนวทางเร่งรัดสะสางคดี

ความยุติธรรมต้องเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วไม่ใช่ล่าช้า

ต่อไปอัยการจะปรับปรุงโครงสร้างบริการงานบุคคล กรณีชี้ขาดความเห็นแย้ง จะดึงรองอัยการสูงสุดมาช่วยเพิ่มขึ้น

แม้สุดท้ายการชี้ขาดจะอยู่ที่อัยการสูงสุด แต่เมื่อคดีผ่านการกลั่นกรองมาจากรองอัยการสูงสุด

เวลาอัยการสูงสุดพิจารณาย่อมจะเร็วขึ้น

นี่ก็เป็นไอเดียการทำงานเป็นทีม

ยังมีข้อเสนอปรับปรุงเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการพิจารณาของอัยการ

นั่นคือ จะให้การสั่งคดีของอัยการทำเป็นองค์คณะ 3 คน ประกอบด้วย หัวหน้าองค์คณะ 1 คน และอีก 2 คน อยู่ในองค์คณะนั้น

ทั้งนี้ 1 ใน 2 คนที่เป็นองค์คณะ อาจจะต้องเป็นอัยการอาวุโส คือ เคยผ่านตำเเหน่งบริหารระดับสูงมาแล้ว

และในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่ถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท องค์คณะอัยการ 3 คนควรมีอำนาจสั่งคดีได้โดยไม่ต้องเสนออัยการจังหวัดหรืออัยการพิเศษฝ่ายพิจารณา

วกมาถึงการลงโทษอัยการที่ผิดวินัย หากใครกระทำผิดก็ต้องว่าไปตามนั้น

เพียงแต่สิ่งที่ต้องตอกย้ำให้ขึ้นใจอัยการทุกคน คือ คุณธรรม และจริยธรรม

ทุกการกระทำที่ลงมือทำไป อย่าคิดว่าจะเป็นความลับ

วันหนึ่งสิ่งที่เคยทำก็จะเปิดเผยออกมา เเต่ถ้ามีคุณธรรมและจริยธรรมก็สามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อครหา

หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่นายอรรถพลวางไว้ องค์กรอัยการย่อมมีพัฒนาการ

การยึดเป้าหมายประชาชนเป็นศูนย์กลางอาจจะเป็นเป้าหมายที่ทุกยุคสมัยต้องกระทำ

แต่การดำเนินการเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายนั้น ขึ้นอยู่กับยุคสมัยแต่ละยุคสมัย

กระทั่งเวลาผ่านพ้นไปการตอบสนองต่อความยุติธรรมดีขึ้น

นั่นก็เท่ากับว่าการปฏิรูปเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว

การปฏิรูปที่เริ่มต้นจากตัวเองไม่ต้องรอคอยใคร และเชื่อว่าทุกองค์กรสามารถเริ่มต้นปฏิรูปตัวเองได้

ลักษณะคล้ายๆ กับการปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ย่อมดีกว่าไปหวังให้คนอื่นปรับเปลี่ยน

ในห้วงเวลาที่การปฏิรูปที่เคยวาดฝันไว้ยังไม่มีความหวัง

ถ้าหน่วยงานทุกหน่วยงานพร้อมใจกันปฏิรูปตัวเอง

มีเป้าหมาย มีวิธีการบรรลุเป้าหมาย และมีกำหนดเวลาการวัดประเมิน

องค์กรแต่ละแห่งน่าจะได้รับความศรัทธาจากประชาชนมากขึ้น

องค์กรทางการเมือง องค์กรทางธุรกิจ องค์กรทางสังคม

หากแต่ละองค์กรตั้งใจจะปฏิรูปตัวเองเพื่อประชาชน

ประชาชนย่อมได้ประโยชน์ตั้งแต่วันแรกที่องค์กรนั้นๆ ลงมือทำ

และหากองค์กรแต่ละแห่งสามารถปฏิรูปตัวเองได้ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้คนในองค์กร

ทำให้รู้ว่าการปฏิรูปตัวเองนั้นมีโอกาสสำเร็จมากกว่ารอให้คนอื่นมาปฏิรูป

ถ้าอยากสัมฤทธิผลในการงาน อยากประสบความสำเร็จในชีวิต

อย่ารอใครให้เสียเวลา

เริ่มต้นพัฒนาและปฏิรูปตัวเองในวันนี้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็รออยู่เบื้องหน้าแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image