คอลัมน์ โลกสองวัย : เมื่อต้องเป็นคนไข้ ‘แอดมิต’

การเข้า “แอดมิต” ในโรงพยาบาลย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ หากเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องให้แพทย์และพยาบาลดูแลตลอดเวลา หรือต้องตรวจอาการเจ็บไขได้ป่วยเป็นระยะวันละสามสี่ครั้ง ห้องสามัญ เตียงรวม ไม่ต้องมีญาติเฝ้าไข้ หากเป็นห้องพิเศษ “เดี่ยว” ต้องมีญาติเฝ้าไข้ตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ต้องการผู้ดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเวลากลางคืน

กรณีของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ซึ่งป่วยเพียงเป็นแผล ต้องชำระแผลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น กระนั้น เมื่ออยู่ห้องพิเศษ “เดี่ยว” มิได้ยกเว้นว่า “อยู่คนเดียว” ได้ ทั้งที่มีสติสัมปชัญญะดี ต้องมีญาติอยู่ด้วยแทบว่าตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นเวลาออกไปรับประทานอาหาร หรือขออนุญาตไปทำธุระพิเศษ และต้องเปลี่ยนชุดคนไข้

อีกกรณีหนึ่ง คือต้อง “เจาะเลือด” ปลายนิ้วมือดูผลเลือดจาก “เบาหวาน” วันละ 4 เวลา ตั้งแต่ตื่นนอนเช้า สาย บ่าย และก่อนนอน เพื่อดูผลเลือดว่ามีปริมาณน้ำตาลในเม็ดเลือดเกินกว่า 150 ลดหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่ควบคุมเบาหวานด้วยยาและอาหาร กับวัดความดันว่าสูงเกินกว่าปกติหรือไม่

ทั้งที่รู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวาน ต้องตรวจวัดทุก 2 เดือน ทั้งของหมออายุรแพทย์ตรวจเป็นประจำ หมอควบคุมตรวจเบาหวานโดยตรง และหมอโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อระยะแรก หมอทั้งสามท่านต่างให้ยาลดเบาหวานกันทุกคน

Advertisement

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ต้องมาแยกยาเบาหวานของแต่ละหมอ ปรากฏว่าสองสามครั้งแรก มียาเบาหวานมากเกินกว่ากำหนดสองสามเดือน ต้องเรียนหมอว่าท่านนั้นให้ยาแล้ว ท่านนี้ให้ยาแล้ว จึงลดปริมาณลงไปได้

ทุกวันนี้ ระบบโรงพยาบาลทุกแห่ง ใช้ระบบคอมพิวเตอร์กับทุกหน่วยงาน ขณะที่คนไข้คนเดียวกัน เมื่อเข้ารับการตรวจรักษา ประวัติคนไข้คนนั้นจะขึ้นบนจอในทุกเรื่องตั้งแต่นัดหมอคนนั้น หมอคนนี้ ตลอดจนรายงานการตรวจรักษาและการสั่งยา แต่อาจจะเป็นเพราะเมื่อเข้าตรวจรักษากับแพทย์คนไหน อาจจะมียาเป็นพิเศษ หรือต้องสั่งยาเพิ่มเติมที่ต้องสั่งเป็นประจำ ขณะที่หมอตรวจโรคที่ดูแลเป็นประจำ ต้องการลดยาบางตัวลงบ้าง จึงต้องสั่งใหม่

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลและต้อง “แอดมิต” หมอที่สั่งต้องเป็นผู้ดูแลสั่งยาทั้งหมดที่คนไข้คนนั้นได้รับ อาจมียาบางตัวที่หมอไม่ได้สั่งพยาบาลจัดให้ก็ได้

Advertisement

การเจาะเลือดมีสองส่วน คือการเจาะประจำวันที่ปลายนิ้ว เช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน ในระยะแรก และเจาะใหญ่เพื่อไปตรวจผลเลือดรวมในร่างกายว่ามีตัวเลขเท่าใด ซึ่งหลายวันจะเจาะดูผลสักทีหนึ่ง ขณะที่การวัดความดันยังคงเป็นปกติ ซึ่งความดันของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) สูงขึ้นเล็กน้อยขณะตื่นนอนเช้ามืด แต่บางวันก็สูงมากถึงกว่า 170 และลดลงมาหลังจากรับประทานยาและเป็นช่วงเวลาบ่ายถึงค่ำ ก่อนนอน บางวันลดลงเหลือร้อยเศษ (ตัวบน) ส่วนตัวล่างเป็นปกติ ไม่ถึง 80 นับว่าการควบคุมความดันด้วยยาน่าจะเป็นผลดี แต่คงรับประทานยาต่อไป

การต้องนอนพักในโรงพยาบาล ไม่แต่เพียงเดินด้วยวอล์กเกอร์ ไปเข้าห้องน้ำ ทั้งวัน ประมาณ 4 ครั้ง ทั้งคืนอีก 2-3 ครั้ง กิจกรรมการเดินอื่นแทบไม่เกิดขึ้น ทั้งลูกสาวและภริยาและลูกชายที่มาอยู่เป็นเพื่อน ต้องให้ออกกำลังกายยกขาแข็ง แขน ตามคำแนะนำของแพทย์ มิฉะนั้นแข้งขาจะอ่อนแรง กล้ามเนื้อจะหย่อนยาน จึงต้องปฏิบัติตามวันละสามสี่ครั้ง บางวันขี้เกียจบ้างทำไม่ถึงก็มี

อาหารทุกมื้อของโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่นำใส่ชามถ้วยสแตนเลสวางในถาดมาให้วันละ 3 มื้อ เช้าหลัง 7 โมงเช้าเล็กน้อย เที่ยง ช่วง 11 โมงครึ่ง และเย็นมาให้ก่อน 5 โมงเย็น มาเก็บถาดหลังจากนั้นประมาณ 45 นาที

อาหารโรงพยาบาลของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เป็นอาหารควบคุม คือเบาหวานและ “โซเดียม” (เกลือ หรือเค็ม) มีนมกล่องให้มื้อเช้าที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวต้มหมู ข้ามต้มกุ้ง โจ๊ก และข้าวต้มเปล่า กับผลไม้ 1 อย่าง มื้อกลางวัน มีข้าวเปล่า กับข้าวสองอย่าง บางมือเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ หมูบะช่อ หรือหมูชิ้น มีปริมาณตามกำหนด (ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น) เพิ่มไข่ขาวก้อนหนึ่ง บางมื้อเป็นแกงส้ม แกงเผ็ด กับขาไก่ทอด หรือปลาทอด อย่างละ 2 ชิ้น

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) อายุมากแล้ว จึงรับประทานข้าวเพียงมื้อละครึ่งถ้วย ส่วนกับข้าวบางมื้อที่เป็นผักผัดอาจรับประทานหมด เช่นเดียวกับผลไม้มีเงาะ แอปเบิล แตงโม มะละกอ แคนตาลูป สลับกันพอไม่ให้เบื่อ

อาหารแต่ละมื้อของคนไข้พิเศษและคนไข้สามัญน่าจะเหมือนกัน ด้วยมาจากครัวเดียวกัน เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image