คอลัมน์ โลกสองวัย : ระบบโรงพยาบาลของรัฐกับเอกชน

ระบบโรงพยาบาลของรัฐ มีทั้งที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพ มหานคร สังกัดมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ หรือสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หมายถึงโรงพยาบาลที่มีเตียง หรือให้คนไข้นอนรักษาค้างคืน มีทั้งห้องรวมใหญ่ นับสิบเตียง แบ่งออกเป็นห้องผู้ป่วยชาย และผู้ป่วยหญิง กับผู้ป่วยเด็ก

เมื่อก่อนเรียกว่าห้องอนาถา ผู้ป่วยเรียกว่า “ผู้ป่วยอนาถา” คือไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าห้อง และค่าอื่นๆ อาจมีค่าใช้จ่ายบ้างไม่มากนัก ไม่ต้องมีญาติมาเฝ้า เพียงเปิดให้เยี่ยมเป็นเวลา จำกัดจำนวนการเยี่ยมครั้งละ 2 คน มากกว่านั้นจะรบกวนผู้ป่วยเตียงข้างเคียง

ส่วนห้องเดี่ยว คือห้องพิเศษ สำหรับคนไข้ที่ป่วยมีอาการไม่หนักนัก ต้องมีญาติเฝ้าไข้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการระดับหนึ่ง เรียกว่าคนไข้พิเศษ

ภายหลัง เมื่อใดไม่ทราบ คำว่า “คนไข้อนาถา” เป็นคำที่ส่อถึงการดูถูกเหยียดหยาม จึงมีการปรับ เปลี่ยนเป็น “คนไข้สามัญ” แต่ “คนไข้พิเศษ” และห้องพิเศษ ไม่มีการปรับเปลี่ยนเรียกเป็นอย่างอื่น มีแต่เรียกยกย่องกันเองว่า “ห้อง V.I.P.” หากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีห้องประเภทนี้ ซึ่งต้องใหญ่กว่าปกติ และมีแบ่งเป็นสัดส่วน ส่วนของคนไข้พัก กับส่วนรับแขกและญาติเฝ้าไข้พัก มีส่วนของการประกอบอาหารด้วย

Advertisement

สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีห้องสามัญ มีแต่ห้องพิเศษ ประเภทนอน 4 คน นอน 2 คน และนอนเดี่ยว กับพิเศษ V.I.P.

ปัจจุบันมีระบบประกันหลายรูปแบบ ตั้งแต่ประกันสังคม รวมทั้งประกันสุขภาพ ดังนั้น ผู้เอาประกันเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจึงมักเข้าโรงพยาบาลเอกชน และอยู่ห้องพิเศษ (ธรรมดา) ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มส่วนหนึ่ง

รายละเอียดเรื่องการเข้าป่วยในโรงพยาบาล ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ไม่ค่อยสันทัด ด้วยเหตุเข้าทำงานขณะรัฐบาลมีระบบประกันสังคมไว้แล้ว จึงใช้การประกันสังคมเป็นผู้ดูแลค่ารักษา เว้นแต่เมื่อต้องเข้านอนโรงพยาบาล ซึ่งมักใช้ห้องพิเศษ ประกันสังคมจ่ายให้ส่วนหนึ่ง ไม่มากนัก ตัวผู้ป่วยต้องจ่ายเองค่อนข้างมากสักหน่อย หากอยู่เพียงสองสามคืนไม่เกินสัปดาห์ยังไม่สู้กระไร แต่หากเกินเลยเป็นเดือนก็จ่ายมาก ลำบากอยู่เหมือนกัน

เช่นการป่วยครั้งนี้ การเข้านอนโรงพยาบาลแทบว่าไม่จำเป็น หากเจ็บป่วยเป็นแผลผ่าตัดธรรมดา นอนโรงพยาบาลเพียงสองสามคืนออกไปทำแผลที่คลินิก หรือสถานพยาบาลในสำนักงานก็ได้

แต่เนื่องจากเป็นเบาหวาน และแผลอักเสบ หายยาก ต้องทำแผลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ทั้งยังต้องเจาะเลือดปลายนิ้วดูปริมาณน้ำตาล กับต้องวัดความดันทุก 4-5 ชั่วโมง เว้นเวลานอน จึงไม่สะดวกนัก ต้องนอนที่โรงพยาบาลให้พยาบาลเจาะเลือดปลายนิ้วกับวัดความดัน

ที่สำคัญคือในระยะแรก การทำความสะอาดร่างกายไม่สู้สะดวก ต้องให้พยาบาลจัดการให้ช่วงสายวันละครั้ง แม้จะเคยให้พยาบาลชำระร่างกายด้วยการ “เช็ดทั่วตัว” กระนั้นยังเขินเหมือนกัน เพียงแต่ว่าทุกวันนี้อายุมาก ประกอบกับผ่าตัดต่อมลูกหมากออกไปแล้ว จึงไม่รู้สึกรู้สาทางกายสักเท่าใด อาจมีบ้างทางจิตใจ และ “ทำใจได้” เสียแล้ว แต่ใช้บริการพยาบาลเพียงสองสามวันเท่านั้น

จากนั้น ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) สามารถใช้ “วอล์คเกอร์” พยุงตัวเองเข้าห้องน้ำได้ จึงปฏิบัติด้วยตัวเอง ซึ่งสะดวกกว่า จะใช้ช่วงเวลาไหนก็ได้ตามใจแป๊ะ

ข้อสังเกตของการ “แอดมิด” โรงพยาบาลรัฐ กับโรงพยาบาลเอกชน ห้องพิเศษเหมือนกัน แต่ของรัฐแพทย์มาดูอาการมีเพียงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนไข้โดยเฉพาะ เช่นเมื่อมีการผ่าตัด หมอทีมผ่าตัดจะมาเป็นผู้ดูแล วันละครั้ง ช่วงเช้า ซึ่งทุกวันนี้ การติดตามดูผลทั้งผลการเจาะเลือดและความดัน รวมถึงการถ่ายภาพแผลจากกล้องโทรศัพท์มือถือ พยาบาลจะรายงานทางระบบคอมพิวเตอร์ไปยังแพทย์ทุกคนอยู่แล้ว

ไม่ต้องมีหมอหลายสาขาตรวจให้มากหมอมากความเหมือนเอกชน ราคาจึงแตกต่างกันตรงนี้ส่วนหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image