คอลัมน์ โลกสองวัย : จากธุรกิจ ‘ไอที’ มาทำร้านกาแฟ

ทุกวันนี้ “ร้านกาแฟ” มีทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะริมถนน ในปั๊มน้ำมัน หรือในโรงพยาบาล

เมื่อเข้าไป “นอน” (ต้องว่า “นอน”) ในโรงพยาบาล ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เข้ารับการอบรมในหลายหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงระยะสั้น จึงมีการกระจายข่าวไปยังเพื่อนบางหลักสูตร

หลักสูตรหนึ่ง คือหลักสูตร “มหานคร” รุ่น 4 ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรุงเทพมหานคร

มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็ค แคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมรับการอบรมด้วย

Advertisement

วันแรกที่เปิดการอบรม คุณพี่ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เจ้าของกาแฟยี่ห้อแบล็ค แคนยอน แสดงน้ำใจด้วยการยกชุดกาแฟ เครื่องดื่มชาเขียว และกาแฟร้อนเย็นพร้อมขนมอาหารว่างมาให้ผู้เข้ารับการอบรมสดชื่นในเช้าวันนั้น และคลายง่วงช่วงบ่าย

แล้วตั้งแต่นั้น ทุกวันที่มีการอบรมทั้งเช้าทั้งบ่าย คุณพี่ประวิทย์ให้พนักงานนำชุดชงกาแฟชุดใหญ่มาตั้งโต๊ะให้พวกเราได้ดื่มกาแฟเป็นสภากาแฟก่อนเข้าห้องรับการอบรมและระหว่างการอบรม

ไม่เพียงเท่านั้น แม้มีการเดินทางไปอบรมนอกสถานที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ความที่คุณพี่มีร้าน “แบล็ค แคนยอน” หลายจังหวัด และในปั๊มหลายแห่ง คุณพี่จะแจ้งล่วงหน้าว่าให้ผู้เข้ารับการอบรมแวะรับกาแฟและของว่างระหว่างทางผ่านได้ก่อนจะเดินทางไปถึงสถานที่เข้ารับการอบรม

แน่นอน แม้แต่ในสถานที่ห้องรับการอบรม อุปกรณ์ชงกาแฟทั้งร้อนทั้งเย็นพร้อมบุคลากรไม่มีพลาด

ครั้งหนึ่ง เราต้องข้ามไปรับฟังบรรยายเรื่องเขตเศรษฐกิจที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นครเวียงจันทน์ อย่าคิดว่าหน้าห้องอบรมจะไม่มีอุปกรณ์ชงน้ำชากาแฟและเจ้าหน้าที่มารอรับอยู่นะครับ

“ขณะนี้ ผมขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย แล้วขอขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในลาว ต่อไปปีหน้าจะเป็นเมียนมา ย่างกุ้ง พี่ๆ เดินทางไปเมียนมา อย่าลืมแวะอุดหนุนนะคร้าบ” คุณพี่ประวิทย์เชิญชวน

คุณพี่ประวิทย์เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีก่อน ผมอยากเปิดร้านกาแฟ ก็มองหา แล้วมาสนใจแบล็ค แคนยอน ตอนนั้นมีสาขาแรกที่เชียงใหม่ ซึ่งยังไม่มีระบบการขยายงาน แต่มีการเสิร์ฟกาแฟที่อร่อยจึงติดต่อเจ้าของร้านเดิม คืดคุณสิงโต แล้วซื้อกิจการมาพัฒนาเป็นแฟรนไชส์ เพิ่มรายการอาหาร ทั้งไทย ตะวันออกและตะวันตก เป็นการซื้อกิจการบริษัทที่ 8 ในกลุ่มโปร์-ลายน์ ซึ่งแตกต่างจากกิจการเดิมคนละเรื่อง

แท้ที่จริงคุณพี่ประวิทย์เข้ามาในธุรกิจอาหารเพียงอยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง แต่เมื่อกิจการที่ซื้อมาเป็นร้านอาหาร ทำให้คุณพี่ต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องธุรกิจอาหารไปด้วย

เดิมคุณพี่ประวิทย์ จิตนราพงศ์ ทำธุรกิจด้านไอทีชื่อบริษัท โปร์-ลายน์ มีบริษัทในการดูแลธุรกิจนี้ถึง 7 บริษัท ซึ่งลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม คือธุรกิจไอทีผู้ค้าต้องเข้าหาลูกค้า และผู้ที่ลูกค้าต้องการพบคือผู้บริหาร ส่วนธุรกิจร้านอาหาร ลูกค้าต้องเข้าหาผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นลูกค้าทุกระดับ นับเป็นโชคดีของพี่เขาที่มองว่า

“สิ่งที่เหมือนกัน คิดว่าที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จคือการรู้ว่าลูกค้าทั้งสองธุรกิจเหมือนกันตรงเป็นธุรกิจบริการ เอาหัวใจบริการมาใช้ได้เหมือนกัน ต่างกันตรงผลิตภัณฑ์เท่านั้น”

คุณประวิทย์บอกถึงความแตกต่างที่ไม่แตกต่าง และธุรกิจไอทีหนักกว่าร้านอาหารด้วยมีมูลค่าการลงทุนสูง และต้องออกไปหาลูกค้า แต่ธุรกิจร้านอาหาร ลูกค้าเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหา ทั้งมีแนวโน้มที่ขยายตัวขึ้น เพียงลงทุนสูงในระยะแรก มีเงินสดเข้ามาทุกวัน ทั้งอาหารไม่ว่าเศรษฐกิจจะซบเซา แต่มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง ปีละ 20-25 % เพราะคนไทยขึ้นชื่อว่านักบริโภค

คุณประวิทย์บอกว่า ปัจจุบันคนไทยมีสถิติดื่มกาแฟประมาณวันละ 1 ถ้วย ขณะที่สิงคโปร์ดื่มวันละ 3-4 ถ้วย ในอเมริกาวันละ 5-6 ถ้วย ดังนั้น แบล็ค แคนยอนมีโอกาสขยายตัวได้มาก

การขยายตัวของแบล็ค แคนยอน เมื่อคุณประวิทย์เข้ามาจัดระบบครั้งแรกที่ขยายสาขา ปี 2537 เข้ามาบริหารเอง 6 สาขา รวมทั้งสาขาในวชิรพยาบาลที่ข้าพเจ้าเข้าไปนอนพักร้อนเนื่องจากเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image