สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท้องถิ่นถูกกดทับ จากอำนาจส่วนกลาง

โปร่งตะเคียนไม่เคยมีในโลก ยกเว้นอำนาจส่วนกลางบังคับให้มีอย่างเพี้ยนๆ (ดังเห็นป้ายในภาพนี้) ป้ายเก่าของทางหลวงเขียน บ. โปร่งตะเคียน ป้ายใหม่เขียน โรงเรียนโป่งตะเคียน ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (ภาพเมื่อบ่ายวันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2562)

อำนาจส่วนกลางมีเหนือท้องถิ่น พบพยานสำคัญทั่วประเทศจากชื่อบ้านนามเมืองที่ถูกทำให้วิปริต

เปือย เป็นคำลาว ตรงกับต้นตะแบก ไม้เนื้อแกร่งแข็ง มักเรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่น บ้านเปือย หมายถึงชุมชนมีต้นเปือย (ตะแบก) ขึ้นหนาแน่นกว่าที่อื่นใกล้เคียง

แต่คนมีอำนาจส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่น ไม่รู้จักและไม่เข้าใจภาษาถิ่น แล้วเหยียดว่าชาวบ้านพูดผิด ไม่มี ล กล้ำ เลยมีคำสั่งทำป้ายชื่อหมู่บ้านว่า บ้านเปลือย

จารุบุตร เรืองสุวรรณ (อดีตนักปราชญ์อีสานที่ถึงแก่อนิจกรรมนานแล้ว) แบ่งปันข้อมูลเรื่องนี้นานมาก แต่ไม่สำเร็จ เพราะระบบการศึกษาไทยเหยียดท้องถิ่น จนทุกวันนี้มุ่งลดอำนาจท้องถิ่น เลยพบชื่อ บ้านเปลือย ทั่วไปในอีสาน โดยเฉพาะป้ายหมู่บ้านริมถนนร้อยเอ็ด, มหาสารคาม

Advertisement

ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียง “สงคราม” แต่มี “สังคม” ด้วย ได้แก่ ชื่อบ้านนามเมืองอย่าง บ้านเปือย บอกความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สังคมที่ชุมชนหนาแน่นด้วยต้นเปือย คือต้นตะแบก

โป่งตะเคียน

โป่งตะเคียน เป็นชื่อชุมชนเรียกบ้านโป่งตะเคียน ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

อำนาจส่วนกลางเขียนป้ายหมู่บ้านและป้ายริมถนนว่า บ้านโปร่งตะเคียน โดยเหมาเอาเองว่าชาวบ้านไม่ออกเสียง ร ดังนั้นคำชาวบ้านว่า “โป่ง” คือ “โปร่ง”

Advertisement

แต่หลักฐานวิชาการแล้ว ชาวบ้านถูกต้อง ส่วน ทางการบกพร่อง ขอบคุณสูงยิ่งต่อครูโรงเรียนโป่งตะเคียนไม่เพี้ยนตามหน่วยงานของรัฐที่ดูแลป้ายริมถนนทางหลวงชนบท ผมเพิ่งไปเห็นโดยบังเอิญเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

โป่งตะเคียน หมายถึง บริเวณดินโป่ง มีต้นตะเคียนขึ้นปกคลุมเป็นดง

โป่ง หมายถึง ดินสีขาวปนแดง มีรสเค็ม เรียกดินโป่ง ถ้าเอาดินบริเวณนี้ไปต้มน้ำจะได้เกลือสินเธาว์ (สีขาวที่ปนในดินเป็นคราบเกลือจากใต้ดิน พบทั่วไปในอีสาน) สัตว์ป่าชอบกินดินโป่ง ดังนั้นบริเวณมีดินโป่งจะชุกชุมด้วยสัตว์ป่าไปแทะกิน

ตะเคียน เป็นชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่เนื้อแกร่งแข็ง ใช้เลื่อยเป็นกระดาน และขุดทำเรือ (เพราะเป็นไม้เนื้อแกร่ง ผุยาก) เชื่อว่ามีผีสิงเป็นเพศหญิง เรียกนางตะเคียน

หน่วยงานทางการเจ้าของป้าย บ. โปร่งตะเคียน กรุณาทำความเข้าใจเสียใหม่ทางภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แล้วเร่งแก้ไขด้วย อย่า ด้าน มากกว่านี้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image