สุจิตต์ วงษ์เทศ : เสาตะลุง เพนียดช้าง อยุธยา

ช้างในเชิงเทินเพนียด หัวเสารูปดอกบัวทรงมัณฑ์ อยุธยา สมัย ร.5 พ.ศ. 2448 [จากหนังสือ Postcards of OLD SIAM Singapore 2005. P. 86

เพนียดคล้องช้าง อยุธยา หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมีมากและหลากหลาย เพราะกิจกรรมยังมีสืบมาถึงแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 มีภาพถ่ายเก่าไม่น้อย

นักโบราณคดีในกรมศิลปากรเองยังรู้ไม่ทั่วเหมือนกันทุกคน แม้รู้บ้างก็รู้ไม่ถึงว่าหัวเสาตะลุงต่างกันระหว่างที่ปักในกำแพงเชิงเทินกับนอกกำแพง เพราะบูรณะคราวก่อน กรมศิลปากรจึงทำหัวเสาดอกบัว (ทรงมัณฑ์) ไว้นอกกำแพงเชิงเทินดังที่รื้อทิ้งไป

จึงเกินกำลังชาวบ้านอยุธยาที่จะให้รู้ความต่างของหัวเสาเหล่านั้น

ดังนั้น ก่อนบูรณะเพนียดคล้องช้าง กรมศิลปากรควรแบ่งปันข้อมูลความรู้สู่สาธารณะให้รู้ทั่วกัน ทั้งคนในอยุธยาและคนทั่วประเทศ จนถึงคนทั่วโลกยิ่งวิเศษ ซึ่งทำได้ไม่ยากโดยผ่านสื่อโซเชียล

Advertisement

แต่กรมศิลปากรไม่ได้ทำ หรือทำแบบเจ้าขุนมูลนาย (แล้วก่อปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มาหลายครั้งหลายกรณี) ดังนั้นที่ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งพูดตรงๆ จึงสำคัญมาก กรมศิลปากรต้องนอบน้อมรับไว้แก้ไขดัดแปลงตนเอง ดังนี้

“การบูรณะจะมาอ้างภาพถ่ายเก่า ชาวบ้านไม่รู้หรอก เพราะเกิดไม่ทัน ทำไมไม่มาทำความเข้าใจกันก่อน”

“เวลาที่จะทำบุญที่เพนียดคล้องช้าง ต้องทำหนังสือขออนุญาตไปที่กรมศิลป์ แต่พอกรมศิลป์เข้ามาบูรณะเพนียด ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติ ของคนไทย ไม่มาสอบถามทำประชาพิจารณ์”

Advertisement

ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต. สวนพริก อ. เมืองฯ จ. พระนครศรีอยุธยา ตอบโต้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ตำหนิชาวบ้าน

[รายงานประชาชื่น วิวาทะบูรณะ “เพนียด” ถึง “คนเลี้ยงช้าง” โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร ใน มติชน ฉบับวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2562 หน้า 13]

ชาวกรุงเก่าเฝ้าดูคล้องช้างนอกเชิงเทินเพนียด ตะลุงเสาตัด สมัย ร.5 [ภาพถ่ายจากหนังสือ กรุงเก่าเมื่อกาลก่อน ภาพถ่าย 100 ปีพระนครศรีอยุธยา ของ อรรถดา คอมันตร์ บริษัทสยาม เรเนซองส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554]

ช้าง

เพนียดคล้องช้าง เกี่ยวข้องโดยตรงกับช้างซึ่งเป็นสัตว์ได้รับความสนใจยกย่องจากคนทั่วโลก ใครๆ ก็รู้ กรมศิลปากรนั่นแหละรู้ดี เพราะบูรณะเพนียดขายการท่องเที่ยวทั่วโลกมานานแล้ว

แต่การศึกษาเกี่ยวกับช้างมีอย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ ทางชีววิทยา กับทางวัฒนธรรม

ทางชีววิทยาโดยหน่วยงานอื่นมีความก้าวหน้าเห็นประจักษ์ชัดอยู่แล้ว แต่ทางวัฒนธรรมก้าวหน้าไม่มากที่ทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพราะยังมีอีกหลายด้านยังขาดการวิจัยค้นคว้า หรือทำกันในวงแคบๆ รู้ในวงจำกัด เช่น

ผีช้าง เป็นความเชื่อพื้นเมืองอุษาคเนย์ ต้องศึกษาอีกมาก

เทวดาช้าง เป็นความเชื่ออินเดียที่รู้จักทั่วกันในชื่อพระคเนศหรือพิฆเนศ แต่ยังมีอีกในนามเทพกรรมหรือเทพปะกำ เกี่ยวข้องกับเชือกคล้องช้างที่เรียกเชือกปะกำหรือไม่? อย่างไร?

เชือกบาศก์ เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในพิธีกรรมราชสำนักโบราณ พบในโองการแช่งน้ำ, ครอบครู-ไหว้ครูนาฏศิลป์และดนตรีไทย เกี่ยวข้องกับเชือกปะกำคล้องช้างหรือไม่?

ค้าช้าง มีการฝึกช้างใช้งานแล้วส่งขายอินเดีย, ลังกา ตั้งแต่สมัยแรกการค้าโลก เรือน พ.ศ. 1000 หลังสุดสมัย ร.2 ส่งพระสงฆ์ไปลังกาโดยอาศัยเรือของพ่อค้าช้างจากเมืองตรังข้ามทะเลสมุทรไปอินเดียใต้ ยังศึกษาไม่มาก

หนังตะลุง

หนังตะลุง เป็นหนังตัวเล็ก (ย่อส่วนหนังใหญ่) มีก้านไม้ไผ่เสียบตัวหนังใช้ปักท่อนกล้วยที่วางราบหลังจอหนัง

เป็นมหรสพชาวบ้าน (หนังใหญ่เป็นการละเล่นในพิธีกรรมของชาววัง) มีทั่วไปตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งลุ่มน้ำโขงอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้

ตะลุง แปลว่า เสา ได้จากคำว่าเสาตะลุงสำหรับผูกช้าง เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมร โดยเฉพาะของชาวกุย (หรือ กูย, กวย) แถบลุ่มน้ำมูล ถึงจำปาสักในลาว

[คำว่า กุย (ในชื่อ อ. กุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ ไม่น่าจะหมายถึงชาวกุย) เป็นคำเขมร (อ่านว่า โก็ย) แปลว่า นอ เช่น นอแรด เป็นสินค้าส่งขายนานาชาติ อย่างน้อยมีค้านอแรดกว้างขวางตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image