สุจิตต์ วงษ์เทศ : กรุงสุโขทัย, กรุงทวารวดี วิชาการก้าวหน้าของกรมศิลปากร

หนังสือดีเยี่ยมของกรมศิลปากร (ซ้าย) ปกหน้า (ขวา) ปกรอง หนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562

อักษรไทยเป็นวิวัฒนาการ ไม่เป็นอภินิหาร

จากการประดิษฐ์ และวังหลวงของเมืองสุโขทัย อยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือไม่อยู่ตรงเนินปราสาท หน้าวัดมหาธาตุ

สิ่งมหัศจรรย์ทางวิชาการก้าวหน้าเป็นสากล พบในหนังสือของกรมศิลปากรสุโขทัยเมืองพระร่วง โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (“ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร”) มีผลงานวิชาการเยี่ยมยอดทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นที่ยอมรับกว้างขวางจากนักวิชาการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

เนื้อหาอย่างนี้ต้องเร่งซื้อเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยอ่านทีหลังอย่างสุขุมละเอียดอ่อนขืนชักช้าจะหาซื้อลำบาก

Advertisement

อักษรไทย

“—-ตัวอักษรไทยซึ่งโดยธรรมชาติเป็นวิวัฒนาการสืบทอดต่อกันมายาวนานนั้น ก็ล้วนเป็นความคิดประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างง่ายดายโดยพ่อขุนรามคำแหงเองทั้งสิ้น” [หน้า 40]

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ชี้ว่ามีเหตุจากความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้น

“เรื่องราวของพ่อขุนรามคำแหงเมื่อได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมานานเข้า จึงเกิดเป็นเรื่องตำนานเหลือเชื่อเพื่อเป็นการเสริมสร้างพระอัจฉริยภาพของพระองค์”

Advertisement

วังหลวงเมืองสุโขทัย

พระราชวังที่ประทับของกษัตริย์กรุงสุโขทัย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บอกว่าน่าจะอยู่ในเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้ศาลตาผาแดง โดยมีพระตำหนักเป็นเรือนไม้ [หน้า 29]

ส่วนบริเวณเรียกเนินปราสาท (อยู่หน้าวัดมหาธาตุ) ที่กรมศิลปากรอธิบายว่าเป็นวังของเมืองสุโขทัย แต่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นศาลาหลวงของวัดมหาธาตุ

“เนินปราสาท ฐานของอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ทราบประโยชน์ใช้สอยแน่นอน ตั้งอยู่ภายในวัดมหาธาตุส่วนหน้า กลางเมืองเก่าสุโขทัย มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เรียกว่า “สันนิบาตศาลา” พบที่เมืองโปลนนารุวะ เมืองหลวงเก่าของประเทศศรีลังกา ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยคล้ายศาลาการเปรียญของไทยในปัจจุบัน” [หน้า 39]

ทวารวดี อยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี)

“ทวารวดี” คือ เมืองละโว้ (เมืองลพบุรี) ที่ต่อมาได้สืบเนื่องเป็นกรุงศรีอยุธยา

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บอกตรงไปตรงมาในหนังสือ สุโขทัยเมืองพระร่วง กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2531) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2562 จะยกข้อความช่วงนั้นมาดังนี้

“กรุงศรีอยุธยา ที่สืบเนื่องต่อมาจากรัฐโบราณทวารวดี หรือที่ต่อมาคือเมืองละโว้หรือลพบุรี” [บทคัดย่อ หน้า 7]

“กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติการสืบเนื่องมาจากบ้านเมืองเก่าแก่แต่สมัยโบราณ เช่น เมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งแต่ดั้งเดิมชื่อว่าเมืองทวารวดี” [หน้า 50]

“ทวารวดี” คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ตรงตามจดหมายเหตุจีนบอกไว้ 2 ฉบับ และตรงกับข้อเขียนสันนิษฐานของ มานิต วัลลิโภดม (เมื่อ พ.ศ.2515)

เหล่านี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) เพราะ เมืองศรีเทพ เป็นต้นทางเครือข่ายเมืองละโว้ ซึ่งอยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน คือ ลุ่มน้ำป่าสัก-บางขาม แล้วยังสอดคล้องกับการตรวจสอบ

อักษรจีนในเอกสารโบราณของ ปัญชลิต โชติกเสถียร (สุพรรณบุรี)

ที่สําคัญคือตรงเผงกับนามทางการของกรุงศรีอยุธยา (มาจากเมืองละโว้) ยืนยันความเป็นมาจากทวารวดี ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

หลักฐาน

หลักฐานเกี่ยวกับทวารวดี มีสําคัญๆ ดังนี้

1. “ทวารวดี” ในคัมภีร์อินเดียไม่เป็นพุทธ แต่เป็นพรามหณ์-ฮินดู มาจากชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะว่า “ทวารกา” ที่พระกฤษณะสถาปนาขึ้นเอง

พระกฤษณะเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ (พระนารายณ์) มีในนารายณ์สิบปาง

2. พระกฤษณะ พบเทวรูปสลักหินลอยตัว 3 องค์ ในเมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ขนาดสูงใหญ่เท่าคนหรือใหญ่กว่าคน ซึ่งเคลื่อนย้ายไม่สะดวก จึงยังพบอยู่ที่แหล่งเดิม

ประติมากรรมขนาดมหึมารูปพระกฤษณะย่อมน่าเชื่อมากกว่าเหรียญเงินมีจารึกคําว่า “ทวารวดี” พบที่เมืองโบราณนครปฐม ซึ่งหยิบติดมือไปจากเมืองไหนก็ได้ เพราะไม่พบแหล่งผลิตที่นครปฐม

กรมศิลปากร อย่าเอียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร บางแห่งมีเจตนาดี จัดแสดงแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโบราณศิลปวัตถุ พบในไทยที่มีอายุเรือน พ.ศ.1000

แต่ด่วนสรุปว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดี แล้วลําเอียงว่ารัฐทวารวดีมีศูนย์กลางทางการเมืองอยู่นครปฐม เสมือนมีอคติต่อแนวคิดต่าง

อย่างนี้ไม่ควรทําในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะเท่ากับปิดหูปิดตาประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษาให้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านที่มีแนวโน้มหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว จึงไม่อัพเดตข้อมูลวิชาการเสมอหน้าสากล

ถ้าอยากให้ทวารวดีเป็นชื่อมหาอาณาจักร มีศูนย์กลางอยู่นครปฐม ก็ควรจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของตนเอง ไม่มีใครว่าอะไร และผมจะยินดีด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image