คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : สแกน’โซเชียลคอมเมิร์ซ’แดนมังกร

จำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน และกำลังซื้อมหาศาลทำให้ตลาดจีนเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับสินค้า และบริการของไทย โดยแต่ละปีมีชาวจีนกว่า 150 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และมากถึง 1 ใน 3 มาเมืองไทย

ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเมืองไทย 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8-10% ต่อปี แม้ปีนี้จะดูไม่ดีนัก แต่ในจำนวนที่เดินทางมาไทย มีไม่น้อยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการจับจ่ายค่อนข้างสูง

ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 51,380 ล้านบาท

52% เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 29-39 ปี และมีแนวโน้มซื้อทัวร์ที่มีราคาแพงขึ้น เช่น เลือกพักในโรงแรม 4-5 ดาว และมักไปเที่ยวเป็นกลุ่มแบบส่วนตัว

Advertisement

ชาวจีน 1.4 พันล้าน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 829 ล้านคน และ 98.6% ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน

โดย 25% ของการใช้จ่ายอยู่บนออนไลน์ แต่ที่น่าสนใจกว่า คือชาวจีนนิยมหาข้อมูลและดูรีวิวสินค้ามากถึง 60-70% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 30%

การทำตลาดออนไลน์จึงสำคัญมาก

Advertisement

“ชฎากร ธนสุวรรณเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ให้บริการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในประเทศจีน กล่าวว่า โซเชียลมีเดีย และการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มาแรงมากในจีนทั้งต่อยอดไปยังโซเชียลคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความต้องการให้กับสินค้า และบริการต่างๆ ได้ เช่น มีการรีวิวสินค้าจากอินฟูลเอนเซอร์ที่มาพร้อมคูปองส่วนลดร้านค้า

“สื่อสังคมออนไลน์” ที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในจีน คือ WeChat มีผู้ใช้ 1,040 ล้านคน ที่มีฟีเจอร์ทั้งส่งข้อความ, วิดีโอคอลล์, สติ๊กเกอร์, ออฟฟิเชียลแอคเคาต์ รวมถึงการโพสต์บนไทม์ไลน์ ประมาณเดียวกับแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ที่คนไทยคุ้นเคยนั่นล่ะ

อันดับ 2 คือ แอพพลิเคชั่น Weibo มีผู้ใช้ 337 ล้าน ส่วนเสิร์ชเอ็นจิ้นยอดนิยม ได้แก่ Baidu และที่กำลังมาแรงมาก คือ “Redbook” แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์กลุ่มแฟชั่นและบิวตี้ มีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนแล้ว

ไม่เฉพาะประชากรในโลกออนไลน์จำนวนมหาศาลเท่านั้น “โซเชียลมีเดีย” ในจีนยังแตกต่างและซับซ้อนกว่าไทย

มีมากกว่า 30 แพลตฟอร์ม ใช้งานข้ามกันไปมา เช่น WeChat ให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มจึงซื้อสินค้าผ่านวีแชตได้หรือ weibo ที่เปรียบได้กับ “ทวิตเตอร์” ก็มีพาร์ทเนอร์จำนวนมาก เช่น ทีมอลล์ เป็นต้น

โดยมูลค่าตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในจีนสูงกว่าอเมริกา เพราะโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จับมือกันมากขึ้น เช่น อาลีบาบาร่วมกับ Weibo หรือ WeChat ร่วมกับ JD.com เพื่อสร้างระบบโฆษณาเจาะความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจนขึ้น เช่น มีการนำประวัติการซื้อบนอีคอมเมิร์ซมาวิเคราะห์กับเพจที่ผู้บริโภคติดตามบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ในจีน ด้วยว่า 5G ช่วยให้ทุกอย่างเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้

“ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง” จึงจะไม่ได้อยู่แต่ใน “มือถือและคอมพิวเตอร์” อีกต่อไป เช่น ก่อนไข่ในตู้เย็นจะหมด จอ LED บนตู้เย็นจะโชว์โฆษณาไข่ และสามารถสั่งซื้อไข่ผ่านอีคอมเมิร์ซส่งถึงบ้านได้ภายใน 30 นาที เป็นต้น

“วิดีโอคอนเทนต์” เป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงมากในจีนเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมา “ชาวจีน” ใช้เวลาดูวิดีโอเพิ่มขึ้นถึง 7%

“5G เริ่มใช้ในจีนแล้ว ต่อไปโฆษณาจะไม่ใช่การขายแบบยัดเยียด แต่จะเป็นการเสนอขายแบบถูกที่ถูกเวลา และตรงความต้องการจริงของผู้บริโภค”

มากไปกว่านั้น ในปัจจุบัน จีนยังมีจำนวน “อินฟลูเอนเซอร์” 2-3 ล้านคน สร้างยอดขายบนออนไลน์รวมกันมากกว่า 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า

80% ของแฟนคลับที่ติดตาม “อินฟลูเอนเซอร์” เหล่านั้น เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 23-38 ปีที่มีกำลังซื้อสูงทำให้การทำการตลาดผ่าน “อินฟลูเอนเซอร์” มีความสำคัญ (มาก)

“อินฟลูเอนเซอร์” ระดับท็อปๆ ที่มีผู้ติดตาม 10-100 ล้านคน ค่าจ้างสูงมาก เช่น ซุปเปอร์สตาร์หญิงเบอร์ 1 “ฟ่าน ปิงปิง” ที่มีผู้ติดตามบน Weibo 62 ล้านคน เคยสร้างสถิติค่าจ้างโพสต์ (ผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า) สูงถึง 40 ล้านบาทต่อโพสต์

ในกลุ่ม “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ไม่ได้เป็นดารา หรือคนดังมาก่อน แต่มีผู้ติดตามหลายสิบล้านคิดค่าจ้างโพสต์สูงหลักสิบล้านบาท เช่น Becky Li อินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่น ที่เขียนบล็อกว่า “สีฟ้า” กำลังจะมา จากนั้นรถยนต์ “มินิ” มีรุ่นลิมิเต็ดสีฟ้าออกมาทำตลาด 100 คัน ปรากฏว่ามีการจองซื้อหมดภายใน 5 นาที

ดารานักร้องไทยก็ได้รับความนิยมจากแฟนคลับในจีนเช่นกัน ถ้ามีผู้ติดตามบน Weibo หลักสิบล้านขึ้นไปจะมีค่าจ้างต่อโพสต์อยู่ที่ 1 ล้านบาท

การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์”ไม่ควรมองแค่จำนวนผู้ติดตามเท่านั้น แต่ควรเลือกให้เหมาะกับกลยุทธ์การตลาด และคอนเทนต์ที่สินค้า และแบรนด์ต้องการนำเสนอ รวมถึงการมีส่วนร่วม ความใส่ใจในการตอบคอมเมนต์ และพูดคุยกับแฟนคลับด้วย

และไม่ใช่ทุกธุรกิจจะเหมาะกับการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” กรณีของธุรกิจ “เอสเอ็มอี” ผู้บริหาร “เอวีจี ไทยแลนด์” แนะนำว่าควรเน้นไปยังการทำ “คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง” มากกว่า เพราะเนื้อหาอยู่ได้นาน และสามารถค้นหาได้ด้วย

สำหรับสินค้าที่ขายดีใน “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ของจีนมักมีราคาไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร, เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง โดย “Tmall และ Taobao” ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เปิดเผยว่าสินค้าไทยที่ขายดี คือกลุ่มสกินแคร์และเครื่องสำอาง, ผลไม้อบแห้ง และข้าว มียอดการซื้อขายรวมประมาณ 2 ล้านครั้ง/เดือน

และ 46% ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนมีการซื้อของออนไลน์เฉลี่ยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

การรู้จักเข้าใจพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคชาวจีนจึงสำคัญหากแบรนด์ต่างๆ ต้องการผลักดันสินค้า และบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image