คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : บทสวด ‘ดับทุกข์’

กลางเดือนกรกฎาคมนอกจากรัฐบาลใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสัญญาว่าจะมีแน่แล้ว

ยังมีวันสำคัญทางพุทธศาสนาถึง 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชา 16 กรกฎาคม และ วันเข้าพรรษา 17 กรกฎาคม

ความสำคัญของวันดังกล่าวคงไม่ต้องเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนล้วนทราบดี

ห้วงเวลาดังกล่าว เชื่อว่าชาวพุทธคงมีโอกาสทำบุญทำทาน เวียนเทียน เพื่อความจรรโลง

Advertisement

ตามหลักทำดี เว้นชั่ว จิตใจผ่องแผ้ว

ส่วนอีกหลายคนที่อาจไม่มีโอกาสทำบุญทำทาน พระท่านแนะนำว่าให้ปฏิบัติธรรม

ถือศีล นั่งสมาธิ ระลึกถึงเกิดและดับนี่แหละ ได้บุญได้กุศลอักโขนัก

Advertisement

หลายคนคงนิยมสวดมนต์ บางคนยึดบทสวดทำวัตร บางคนยึดบทสวดพาหุง

สำหรับวันนี้อยากแนะนำบทสวดที่เรียกว่า “บทสวดอิทัปปัจจยตา”

เนื้อความของบทสวดนี้หากได้ท่องจนขึ้นใจ เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตมีหลักในการดำรงอยู่

บทสวดเริ่มจาก ภาษาบาลีแล้วตามด้วยคำแปล

อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ แปลว่า เมื่อสิ่งนี้ “มี” สิ่งนี้ ย่อมมี

อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ เมื่อสิ่งนี้ “ไม่มี” สิ่งนี้ ย่อมไม่มี

อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

หลักการตามเนื้อหาตอนเริ่มต้นของบทสวดก็ช่วยเตือนสติให้มากแล้ว ยังมีเนื้อหาที่สามารถนำไปสู่ทางหลุดพ้น

นั่นคือ อวิชชาปัจจะยา สังขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

สังขาระปัจจะยา วิญญานัง เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส เพราะสฬายตนเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

ผัสสะปัจจะยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เวทะนายะปัจจะยา ตัณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

อุปาทานะปัจจะยา ภะโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

ภะวะปัจจะยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม

เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ

การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ ฯ

พิจารณาตามบทสวดทำให้มองเห็นเหตุของการเกิด การตาย และกองทุกข์

เนื้อหาบทสวดต่อไปได้ชี้แนะถึงทางดับทุกข์ ความว่า

อวิชชายะ เตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ

สังขาระนิโรธา วิญาณะนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

วิญญาณะนิโรธา นามรูปะนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

นามะรูปะนิโรธา สะฬายะตะนะนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

สะฬายะตะนะนิโรธา ผัสสะนิโรโธ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

ผัสสะนิโรธา เวทนานิโรโธ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เวทนานิโรธา ตัณหานิโรโธ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

ตัณหานิโรธา อุปาทานะนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

อุปาทานะนิโรธา ภะวะนิโรโธ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

ชาตินิโรธา ชะรามะระณัง เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา นิรุชฌันติ

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจจึงดับ

เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหติ

การดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ ฯ

พระผู้ชี้แนะบทสวดนี้คือ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง ปทุมธานี เจ้าสำนัก “พุทธวจน”

เป็นบทสวดของพระพุทธเจ้าที่เต็มไปด้วยหลักธรรม และหนทางสู่ทางพ้นทุกข์

เมื่อเรามีศีล นั่งสมาธิ กำหนด “วิญญาณ” ในขันธ์ 5 ตรึงไว้อยู่กับ “ลมหายใจ” ซึ่งเป็น “รูป” ในขันธ์ 5

เราก็มีโอกาสยุติการสร้าง “ภพ” ใน เวทนา สัญญา และสังขาร

คงเหลือแต่ “ภพ” ใน “รูป” คือลมหายใจ ซึ่งถ้าปล่อยวางได้ก็เข้าสู่บทสวดมนต์ตรงที่ว่า “ภะวะนิโรธา ชาตินิโรโธ”

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

ชาติคือการเกิด เมื่อดับลง ชรามรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจก็ไม่เกิดขึ้น

หลักปฏิบัติเป็นเช่นนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นทฤษฎี

แต่จะสามารถปฏิบัติกันจนสำเร็จได้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับความเพียร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image