สุจิตต์ วงษ์เทศ : อำนาจทางวัฒนธรรม ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านวัฒนธรรม ไม่คืบหน้าตามเจตนารมณ์กฎหมายที่ตราไว้ราว 20 ปีมาแล้ว เรื่องถ่ายโอนภารกิจของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับหน้าที่ดูแลโบราณสถานโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลอดจนประเพณีและภูมิปัญญาต่างๆ ในท้องถิ่น

[พระราชบัญญัติกหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542]

เหตุไม่คืบหน้าเพราะอะไร? คนข้างนอกไม่รู้ แต่คนข้างในรู้หรือไม่? ไม่แน่ ส่วนที่แน่ๆ คือ อำนาจนิยม ไม่นิยมกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นด้านวัฒนธรรม สังคมไทยควรทำนานแล้วเพื่อกระตุ้นท้องถิ่นลองผิดลองถูกแล้วพัฒนาสม่ำเสมอ ถ้าทำตามร่างกฎหมายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ป่านนี้ อปท. เก่งกล้าสามารถฉลาดเฉลียวรู้เท่าทันโลกและกรมศิลปากรไปนานแล้ว

Advertisement

จนเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้อ่าน ‘สุทธิพงษ์ จุลเจริญ’ กระตุกปมกระจายอำนาจ ถึงเวลาท้องถิ่นดูแลพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’? เป็นชื่อบทรายงานประชาชื่น พิมพ์ในมติชนรายวัน (ฉบับวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2562 หน้า 13)

ก่อนดูแลพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’ ควรสำรวจความพร้อมของท้องถิ่นว่ามีขนาดไหน? ถึงเวลาจริงไหม? หรือต้องใช้เวลาอีกนาน?

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

ท้องถิ่นหลายแห่งสร้างอาคารขนาดย่อมพร้อมเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

Advertisement

แต่ยังไม่เป็น เพราะยังไม่ได้จัดแสดง มีทั้งอาคารร้างว่างเปล่าและอาคารเก็บโบราณวัตถุเตรียมจัดแสดง (บางแห่งสร้างแล้ว 20 ปี บางแห่ง 10 ปี) แต่ยังไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น ด้วยเหตุต่างๆ จำแนกอย่างน้อย 3 พวก

พวกแรก เร่งรัดใช้งบที่มีมาก ลงรากฐานและสร้างอาคารไว้ก่อน แล้วขึ้นป้ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ฯลฯ

แต่ยังไม่คิดจะทำ เพราะคิดไม่ออก และไม่มีคนคิดว่าเริ่มทำอะไร? ยังไง? เลยไปไม่เป็น และไปต่อไม่ได้

พวกหลัง สร้างอาคารพร้อมแผนงานทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่หน้าตาแผนงานก๊อบปี้จากพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร คือมีแต่ของเก่าโดยไม่มี “สตอรี่” ความเป็นมาเกี่ยวกับท้องถิ่น และหาคนรู้งานแบบนั้นมาทำต่อไม่ได้

ครั้นจะทำเองก็ไม่รู้เริ่มตรงไหน? ยังไง? เลยกลายเป็นที่เก็บลังบรรจุโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้สอยฝุ่นจับเขรอะวางอีเหละเขละขละ

พวกรอ ท้องถิ่นถูกเจ้าหน้าที่บางคนของกรมศิลปากร บอกว่ากำลังเสนอสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่นั่น

อปท. ที่นั่นตื่นเต้นเร้าใจคุยโม้ทั้งวันทั้งคืน แต่รอแล้วรออีกรวมๆ แล้วเกือบ 10 ปี ขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เอกสารโครงการเสนอสร้างก็ไม่เคยเห็นสำเนา มีแต่เขาบอกมา แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้

มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเคยทำแผงนิทรรศการมอบให้จัดแสดงกลางแจ้งไปพลางก่อนชั่วคราว (ระหว่างรอกรมศิลปากร) ฝ่าย อปท. ก็รับไปกองในห้องเก็บของ ไม่เคยจัดแสดงสู่สาธารณะ (เพราะรอลมๆ แล้งๆ จากกรมศิลปากร)

จึงไม่มีอะไรแสดงทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ทั้งๆ มีมากอย่างมั่งคั่งเป็นที่รู้ทั่วไปในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

ท้องถิ่นนั้นๆ มาจากไหน?

ท้องถิ่นทุกแห่งมี “สตอรี่” เรื่องราวความเป็นมาของตนเองบางแห่งเรียบเรียงไว้ดีเยี่ยม มีภาพถ่ายประกอบสวยงาม พิมพ์ง่ายๆ จากเครื่องพรินต์สำนักงาน แล้วทเล่มลลองแจกสำหรับผู้ต้องการ (ซึ่งไม่ค่อยมี)

แต่ท้องถิ่นส่วนมากไม่มีเอกสารอะไรเลย มีแต่ใบสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

อปท. ควรผลักดันสนับสนุนเป็นเบื้องต้นการจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บอกความเป็นมาภูมิสังคมชื่อบ้านนามเมือง เริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงตำบล, อำเภอ, จังหวัด เพราะเป็นเนื้อหาหลักของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ส่วนของเก่าโบราณวัตถุเป็นสิ่งประกอบการจัดแสดง

เนื้อหาที่ต้องมีไว้ ได้แก่ คนไทยและความเป็นไทยมาจากคนไม่ไทยและความไม่ไทยหลายเผ่าพันธุ์ เพราะเชื้อชาติไทยแท้ไม่มีในโลก

ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็เท่ากับโกดังเก็บของเก่าที่วางบนเฟอร์นิเจอร์สวยงามเท่านั้น (เหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ)

เศรษฐีมีทรัพย์มหาศาลกว้านซื้อของเก่าสะสมในคฤหาสน์ จัดแสดงแสงสีส่องไฟไลต์ติ้งบรรเจิด แต่ไม่มี “สตอรี่” ก็มีค่าแค่ร้านขายของเก่าอีลีตเท่านั้น ไม่เป็นพิพิธภัณฑ์ในความหมายสากล

เงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกึ๋นด้วย ถึงจะดูแลพิพิธภัณฑ์ได้สมบูรณ์ (กึ๋น อยู่ในกบาลหัว ไม่ได้อยู่หว่างขา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image