สุจิตต์ วงษ์เทศ : ใครๆ ก็ไม่อยากดู พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

เมืองหนองหานหลวง มาจากไหน? เมื่อไร? ทำไม? ไม่มีอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ส่วนที่มีในมหาวิทยาลัยไม่ง่ายและไม่สนุก เพราะมีขั้นตอนไม่สะดวก ทั้งๆ เรื่องราวของหนองหานหลวงสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ เต็มไปด้วยฉากแฟนตาซี (ภาพ) หนองหานหลวง จ.สกลนคร ไม่ทราบปีที่ถ่าย (ภาพจากมูลนิธิเล็ก-วิริยะพันธุ์ http://lek-prapai.org/home/view.php?id=750)

ไทยเข้าห้าง ฝรั่งเข้ามิวเซียม เป็นพฤติกรรมทั่วไปที่มีผู้เปรียบเทียบจากการสังเกตนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และตามท้องถิ่นทั้งเมืองหลัก เมืองรอง

ถ้าจริงตามนี้ พิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียม (ไม่ว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่น) ไม่ใช่จุดขายในตลาดการท่องเที่ยวไทย

ฝรั่งเข้ามิวเซียม หมายถึง ต้องเป็นมิวเซียมในมาตรฐานสากลที่คนทั่วโลกรับรู้และรับรอง ซึ่งไม่ใช่ห้องจัดแสดงของเก่าเหมือนพิพิธภัณฑ์ในไทย

ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ไทย (ถ้าสภาพการจัดแสดงเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้) ไม่ใช่จุดขายนักท่องเที่ยวฝรั่งหรือนานาชาติ เรื่องนี้พิสูจน์ได้นานมากแล้ว ใครๆ ก็รู้

Advertisement

โทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 ถ่ายทอดสดการประชุมสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2562 ผมดู ส.ส. พรรคเพื่อไทยจากสกลนคร มีคำถามติดตามความคืบหน้าการสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ บ้านดอนธงชัย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร (พื้นที่ต่อเนื่องอยู่ไม่ไกลนักจากแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง อุดรธานี)

รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ตอบกระทู้ว่าอธิบดีกรมศิลปากรกำลังดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จในไม่เกิน 5 ปี (นับจากปีนี้) โดยไม่ได้พูดถึงเนื้อหาที่จะจัดแสดงว่ามีอย่างไร? เพียงพาดพิงโบราณวัตถุที่พบบางประเภทในท้องที่เท่านั้น ราวกับว่าจะทำพิพิธภัณฑ์เป็นห้องเก็บของเก่าเหมือนทำไว้ในที่อื่นๆ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นควรสนองคนท้องถิ่นเป็นสำคัญสุด โดยมุ่งจัดแสดงข้อมูลหลักๆ อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

Advertisement

1.ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บอกเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นนั้นอย่างสั้นๆ ง่ายๆ เช่น ชื่อบ้านนามเมือง เช่น สว่างแดนดิน และสกลนคร แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร? ฯลฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นอื่นๆ อย่างไร? เพื่อกระตุ้นความรักความเข้าใจท้องถิ่นของตนและของคนอื่น เป็นความรู้พื้นฐานความเป็นมนุษย์

2.ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น บอกให้รู้สมบัติวัฒนธรรมที่ตกทอดในท้องถิ่นนั้นมีอะไร? เช่น งานช่างฝีมือ, นิทาน, ร้องรำทำเพลง ฯลฯ เหมือนหรือต่างจากท้องถิ่นอื่นอย่างไร? เป็นต้น เพื่อกระตุ้นพลังสร้างสรรค์ต่อไปข้างหน้า

ใครๆ ก็ไม่อยากดู แต่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นควรมีขึ้นสนองคนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ (ไม่ใช่สนองนักท่องเที่ยวอย่างที่ชอบอ้างหนาหูจนหนวกหู) ถ้าทำตามนี้ก็สอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาชุมชนและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ทั้งๆ ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง (ไม่ใช่ดีแต่พูด good but mouth)

มหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างหนัก เพราะหลายแห่งลงทุน จ้างผู้รับเหมา จัดพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยด้วยทุนสูง แต่ได้ผลไม่สูง และไม่มีคนเข้าชม แม้อาจารย์และนักศึกษาก็ไม่เข้าใกล้ จึงไม่พบกิจกรรมแบ่งปันข้อมูลความรู้เพื่อสาธารณะและเพื่อนักศึกษาเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image