คอลัมน์ โลกสองวัย : ขอยืนยันในเจตนาบริสุทธิ์อันแท้จริง

การอาสาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิใช่ว่าจะผิดถูกอย่างไรก็ได้ เพราะการสื่อสารมวลชน เป็นวิชาชีพที่ต้องตั้งมั่นบนความถูกต้องและเที่ยงตรง

ฉะนั้น งานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ จึงต้องมีผู้ปฏิบัติงานในหลายหน้าที่ ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ไปถึงผู้ช่วยหัวหน้าข่าว ผู้เรียบเรียงข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว บรรณาธิการ ผู้พิสูจน์อักษร บรรณาธิกร (เมื่อก่อนมีผู้เรียงพิมพ์) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ก่อนพิมพ์ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา สุดท้ายคือผู้จัดจำหน่ายที่นำหนังสือพิมพ์ออกไปส่งให้ผู้จำหน่ายก่อนสู่สายตาผู้อ่าน

ผู้อ่านจะไม่รับรู้ว่า งานที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ต้องผ่านการตรวจตรามากี่ครั้งกี่หน เพราะผู้อ่านต้องการความถูกต้องเป็นประการสำคัญ

ความถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหากความใดที่ไม่ถูกต้อง ความนั้นจะสร้างความเข้าใจผิด และไขว้เขวให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านได้ง่ายดาย

Advertisement

ขณะที่ผู้อ่านมีจำนวนไม่น้อย ทั้งยังมีความรู้มีประสบการณ์แตกต่างกัน

ผู้อ่านหลายคนอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยความละเอียด เมื่อมีแม้คำหรือประโยคถูกผิด อาจใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสินได้ว่า คำนั้นคำนี้ ประโยคนั้นประโยคนี้ถูกหรือผิด หรือควรเป็นอย่างไร ผิดหรือไม่ แล้วที่ถูกเป็นอย่างไร

ในหน้าหนังสือพิมพ์จึงต้องมีพื้นที่ของผู้อ่านติดต่อกับบรรณาธิการโดยตรงในรูปจดหมายจากผู้อ่าน หรือผู้อ่านบางคนอาจจะติดต่อกับผู้เขียนโดยตรง หากมีชื่อผู้เขียน ไม่ว่าเป็นนามปากกา หรือเป็นชื่อจริง หรือบางครั้งดูเหมือนจะเป็นชื่อจริง แต่เป็นนามปากกา ผู้เขียนอาจเขียนจดหมายไปถึงผู้นั้นโดยตรง และจะได้รับตำตอบจากบรรณาธิการโดยตรงผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจากผู้เขียนนั้นๆ

Advertisement

ดังข้าพเจ้า (ผู้เขียน) คอลัมน์ “โลกสองวัย” มีผู้อ่านทรงคุณวุฒิอ่านและเขียนติติง ชี้แนะผิดถูกเป็นประจำ ใช้นามว่า “ผู้อ่านประจำ” นับเป็นความโชคดีของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ที่มีผู้สนใจเอาใจใส่ชี้ผิดชี้ถูก โดยเฉพาะติดตามอ่านข้อเขียนของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เสมอมามิได้ขาด ทั้งของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) หรือผู้เขียนบางคน ท่าน “ผู้อ่านประจำ” กรุณาชี้ผิดชี้ถูกด้วยความรอบคอบของท่านตลอดมา

เช่นครั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ท่าน “ผู้อ่านประจำ” กรุณาเขียนจดหมายชี้ผิดจากงานเขียนของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ที่ลงตีพิมพ์ในวันพุธที่ 19 มิ.ย.62 ขึ้นต้นจดหมายว่า

“หมู่นี้คุณพี่เขียนอะไรแปลกๆ (แล้วยกเรื่องที่เขียนในวันที่ 19 มิ.ย.62) เรื่องข้าวผัดอเมริกัน ตอน ท้ายชมว่าอาหารรสชาติดี แต่บอกว่า GOOD TEST อ่านแล้วงง มันน่าจะเป็น GOOD TASTE นะขอรับ หรือว่าคุณพี่ต้องการจะสื่อว่าเป็นการทดสอบที่ดี” (ครับ ถูกแล้วว่าคือรสชาติดี ไม่ใช่ “ทดสอบที่ดี” อย่างที่คุณพี่ “ผู้อ่านประจำ” เข้าใจ-ถูกต้องแล้วครับ)

ส่วนเรื่องของคุณพี่ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เขียนเรื่องประชาธิปัตย์ 86 ปี ยังไม่ตาย เขียนคำว่า การปกครองในระบอบ…แล้วลงท้ายว่า “ประชุม” สอบถามและตรวจสอบแล้ว เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเขียนต้นฉบับผิดเอง แล้วเลยผิดไหลเลื่อนไปจนหนังสือพิมพ์ถึงมือคุณพี่ “ผู้อ่านประจำ” และผู้อ่านทั่วประเทศ

มิได้มีเจตนาเป็นอื่น เป็นความสัตย์ โปรดอย่าเข้าใจเป็นอื่น และโปรดเข้าใจตามนี้ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ดังกราบเรียนแต่ต้นแล้วว่า งานหนังสือพิมพ์เป็นงานวันต่อวัน คำใด หรือข้อความใดที่สำคัญอย่างยิ่ง บรรณาธิการกำชับแล้วกำชับอีก ยังมีผิดออกไปจนได้

ทั้งนี้ หากเป็นคำหรือความสำคัญที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) กล่าวนั้น และพบความผิดก่อนจะต้องแก้ไขทันที รับรองไม่ปล่อยออกไปให้เป็นที่เข้าใจผิดของท่านผู้อ่านแม้แต่น้อย

เพราะไม่เป็นแต่เรื่องความผิดพลาดเท่านั้น ยังเป็นความผิดที่เราจะไม่ให้อภัยตัวเอง และอาจมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย โปรดเข้าใจตามนี้อีกครั้ง – ขอบคุณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image