คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Good Sam พลังหมุนเวียนของ ‘น้ำใจ’

ภาพประกอบจาก Youtube Video / Netflix

นักคิด นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ มักจะพูดตรงกันอย่างหนึ่งเสมอว่า คนเราเกิดมาเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่สร้างคุณค่าให้กับทั้งตัวเองและคนรอบตัวได้ เป็นประโยคเชิงบวกที่อาจดู “ซ้ำซาก” แต่ในเนื้อแท้ก็มีผู้คนที่เชื่อในสิ่งนั้นจริงๆ และลงมือทำจนเห็นผลมาแล้ว

ในคำว่า “เป้าหมาย” นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการ “เปลี่ยนแปลง” ระดับโครงสร้าง หรือภาพใหญ่ แต่เป็นการ “ลงมือ” ในเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน โดยยึดหลัก “ความเห็นอกเห็นใจ” เป็นจุดตั้งต้น

เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง “Good Sam” ที่พยายามตั้งต้นกับคำถามง่ายๆ ชวนโรแมนติไซส์ว่า “ในโลกแบบที่เราอยู่กันทุกวันนี้ เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังว่าจะได้อะไรตอบแทนได้หรือไม่”

โดยภาพยนตร์เล่าเรื่อง “เงินปริศนา” จำนวนมากถึง 1 แสนดอลลาร์ถูกนำใส่ถุงไปวางไว้ให้ผู้คนในนิวยอร์ก ซึ่งก็ไม่รู้ที่มาว่าใครนำเงินนั้นมาวางไว้หน้าบ้านพวกเขาเหล่านั้น และทำไมเขาหรือเธอสมควรจะได้รับเงินก้อนนี้

Advertisement

ขณะเดียวกัน เงินจำนวนมากที่ไม่รู้ที่มานี้ กำลังถูกนักข่าวสาว “เคท แบรดลีย์“ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์” ผู้นิยมไล่ล่าออกรายงานข่าวประเภท Bummer beat ข่าวร้ายแรงแนวอาชญากรรม ตื่นเต้น หวือหวา เข้าไปขุดคุ้ย ด้วยความเชื่อว่า นี่อาจเป็นเงินที่ไม่โปร่งใส โยงใยแก๊งค้ายาเสพติดอยู่หรือไม่

จากเงิน 1 แสนดอลลาร์ปริศนาถุงแรก มีการนำถุงเงินแบบเดียวกันนี้ไปวางไว้ตามหน้าบ้านผู้คนอีกหลายคน จนสื่อเริ่มให้ความสนใจเกาะติดนำเสนอข่าว สัมภาษณ์ผู้โชคดีเหล่านี้ ขณะที่บรรดาผู้ได้รับเงินต่างรู้สึกว่านี่คือ “ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต” และทุกคนล้วนเชื่อว่าเงินก้อนนี้มอบให้พวกเขาเพื่อ “ส่งต่อน้ำใจ” หรือ “แบ่งปัน” คืนกลับให้ผู้คน สังคมรอบตัวพวกเขาเช่นกัน

Advertisement

ท่ามกลางข่าวที่ดูมีสีสันน่าตื่นตาเช่นนี้ ทั้งสังคมกำลังอยากรู้ว่า “ใคร” คือ บุคคลที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก” หรือ “Good Samaritan” ซึ่ง “เคท” ก็พยายามหาเบาะแสขุดคุ้ยจนเริ่มจะเห็นเค้าลางว่า บุคคลนั้นคือใคร และมีเหตุจูงใจอะไรที่เขามอบเงินจำนวนมากให้แก่ผู้คน

แต่เรื่องสำคัญหลังจากนั้น คือ หลังการนำเสนอข่าวเชิงบวกออกไปก็ทำให้มีผู้คนแบ่งปันน้ำใจให้กับสังคมตามมาอีกเป็นลูกโซ่ทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

“Good Sam” เป็นหนังฟีลกู้ดที่บอกเล่าเรื่องราวง่ายๆ แต่ก็จุดประกายให้คนดูได้ไม่น้อย ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีเงินทองทรัพย์สมบัติมากมายจึงจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่แค่มี “น้ำใจ” แม้แต่เพียงเล็กน้อยต่อเพื่อนมนุษย์ย่อมเกิดเป็นพลังส่งต่อจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งได้

ในฐานแนวคิดของหนังเรื่องนี้ที่เชื่อว่า เมื่อคนหนึ่งแบ่งปัน ผู้ที่ได้รับก็ย่อมแบ่งปันส่งต่อให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ คือการให้ไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่นานมานี้มีข่าวนักธุรกิจสาวที่ทำธุรกิจเครื่องสำอาง จัดอาหารมาหลายร้อยชุดเอาใส่รถมาแจกคนเร่ร่อนที่บริเวณสถานีหัวลำโพงนับร้อยคน เป็นข่าวเล็กๆ ไม่ได้โด่งดังบนหน้าสื่อ แต่อย่างน้อยเราก็ได้สัมผัสถึงน้ำใจที่มีต่อกัน

และหากเราจะมองในแง่ดีกว่านั้น อาจมีใครก็ตามที่เห็นข่าวสั้นๆ ชิ้นนี้แล้วสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้แก่พวกเขา อาจเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังนั่งร่างความฝันในหัวหวังจะสร้างโมเดลธุรกิจประเภท “Social Enterprise” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อแก้ปัญหาปากท้องความยากจนของคนจนในเมืองใหญ่ หรือเป็นใครก็ตามที่อยากจะลุกมาช่วยเหลือแบ่งปันอาหารให้ผู้คนเช่นเดียวกัน ไปจนถึงการช่วยเหลือมีน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ใช้ทุนรอนอะไรให้แก่ผู้คนเร่ร่อนเหล่านี้

ในภาพยนตร์ Good Sam “เคท แบรดลีย์” ผู้สื่อข่าวที่กระหายจะลงพื้นที่รายงานแต่ข่าวเบรกกิ้งนิวส์ดังๆ ที่มีความตื่นเต้น มีความเสี่ยง และท้าทายวิชาชีพของตัวเอง ได้เรียนรู้เช่นกันว่า ในอีกแง่มุมข่าว อาจมีข่าวบางประเภทที่น่าเหลือเชื่อ ข่าวที่สังคมมอบน้ำใจให้แก่กันและกันที่เธอมองว่าเป็นข่าวเบาๆ นั้น หากแท้จริงแล้วมันเป็นข่าวที่จุดประกายพลังบวกให้สังคมได้ คำว่า “ข่าวที่ดี” จึงมีได้หลายมิติ

แต่หนังก็ไม่ได้ยัดเยียดความดีงามอย่างน่าเหลือเชื่อนั้นจนเกินไปนัก เมื่อด้านหนึ่งหนังก็เล่าถึงการ “ฉกฉวย” การ “สร้างภาพ” ความดีบางอย่างในฐานะ “ผู้ให้” ขึ้นมา แต่ที่ตลกร้ายคือ แม้จะสร้างภาพความดี แต่ก็กลับมีผู้คนได้ประโยชน์จากสิ่งดีๆ แบบนั้นเช่นกัน เพียงแต่เจตนาของผู้ให้นั้นหวังผลตอบแทนอยู่ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องจริงของสังคมที่เราก็ปฏิเสธโครงสร้างนี้ไม่ได้เช่นกัน

“Good Sam” สร้างจากหนังสือที่เขียนโดย “ดีท มีเซิร์ฟ” ออกฉายทาง “เน็ตฟลิกซ์” เรื่องราวพูดชัดเจนถึงความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และบทบาทของ “สื่อสารมวลชน” ที่มีผลต่อการสร้างการรับรู้ และการวาดมุมมองต่อสังคมในทิศทางใดก็ได้

ภาพรวมอาจจะดูเป็นหนัง “ความดีอันไร้เดียงสา” สำหรับโลกใบนี้ที่บางครั้งเรื่องราวข่าวสารที่เราได้เห็นตามสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดียมันช่างดูโหดร้ายมากกว่าเรื่องดีงาม

แต่หนังก็มีความพยายามมากพอในระดับที่มอบคุณค่าการเล่าเรื่อง “น้ำใจของเพื่อนมนุษย์” ที่ทำได้ง่ายๆ

“Good Sam” เป็นภาพยนตร์เบาๆ ฟีลกู้ด ที่แม้จะไม่ได้พูดเรื่องหนักหรือสะท้อนปัญหาสังคมระดับโครงสร้างอย่างลึกซึ้ง แต่สารจากหนังเรื่องนี้บอกเราว่า ไม่จำเป็นว่าเราต้องเกิดมาเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่เพียงแค่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและคนรอบตัวด้วยน้ำใจเล็กๆ ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกวันในชีวิตประจำวันก็เป็น “พลัง หมุนเวียน” ที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมภาพใหญ่ได้ไม่แพ้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image