คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : บทความ ‘หมอวราห์’

ภาพจากเว็บไซต์ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

ได้รับหนังสือที่มีความหมายชื่อ “ด้วยภาพที่รัก และอักษรา แปดสิบห้าปี วราวุธ สุมาวงศ์ 2562”

ผู้ส่งมาให้คือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์

หรือ หมอวราห์ วรเวช คุณหมอนักประพันธ์เพลงชั้นครู

คุณหมอยังแข็งแรง เคยกราบทักทายท่านบ้างเมื่อได้ไปฟังดนตรีที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

คุณหมอถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก คนหนึ่ง

คุณหมอจบวิชาการแพทย์ด้านสูตินรีเวช ทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พักหนึ่ง

จากนั้นย้ายมาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

และทำงานจนเกษียณอายุ

หลังเกษียณยังทำงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ทราบมาว่าบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอวราห์เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง

คุณหมอเป็นนักประพันธ์ที่่สร้างนักร้องหลายคนให้ดังทะลุฟ้ามาแล้ว

คนหนึ่งคือ พญ.พันทิวา สินรัชตานันท์ ขับร้องบทเพลง “เทพธิดาดอย”

“มวลเถาวัลย์ป่าใบเขียว คดลดเลี้ยวพันเกี่ยวคบไม้ใหญ่

ฝูงมัจฉาว่ายแหวกน้ำใส เวียนวนไปภายในสายวารี”

หลายคนคงจำกันได้

นอกจากนี้ ยังมีบทเพลงที่ประพันธ์แล้วได้ความนิยมและได้รับรางวัลอีกมากมาย

อาทิ บทเพลง “รักต้องห้าม” เป็นเพลงแรกของหมอวราห์ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ปี 2513

บทเพลง “พะวงรัก” เป็นบทเพลงที่ได้รับรางวัล “แผ่นเสียงทองคำ” ด้านการเรียบเรียงเสียงประสาน

นักร้อง คือ ศรวณี โพธิเทศ ก็ได้รับรางวัลขับร้องยอดเยี่ยมเพลงลูกกรุงหญิง

เรียกได้ว่าดังกันทั้งคนแต่งและคนร้อง

คุณหมอวราห์เป็นนักประพันธ์ที่ใช้ภาษาสวยงาม ปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกตามบทเพลง

ในหนังสือ “ด้วยภาพที่รัก และอักษราฯ” นี้ คุณหมอวราห์ได้เปิดเผยเคล็ดลับการประพันธ์เพลงเอาไว้ให้ศึกษา

เป็นการเปิดเผยเทคนิคการประพันธ์เพลงจากข้อเขียนของคุณหมอเอง

บทความดังกล่าวชื่อว่า “วราห์ วรเวช แต่งเพลงอย่างไร?”

บทความนี้อ่านแล้วมองเห็นกระบวนการสร้างสรรค์

คุณหมอวราห์บอกเล่าวิธีการแต่งเพลงของตัวเองให้ได้อ่าน

อ่านแล้วทราบว่า การประพันธ์เพลงนั้นต้องมีที่มา

ขอเรียก “ที่มา” ดังกล่าวว่า “แรงบันดาลใจ”

แรงบันดาลใจในการแต่งเนื้อเพลงต่างๆ นั้น หมอวราห์บอกว่า มาจากหลายทาง

บ้างก็มาจากการอ่านหนังสือ บ้างก็มาจากการสนทนา บ้างก็มาจากประสบการณ์

บ้างก็มาจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือมาจากจินตนาการของตัวเอง

สรุปว่าได้มาจากทุกทางที่ตัวเองมีโอกาสสัมผัส

สัมผัสแล้วรู้สึกสะดุดอารมณ์กับจุดใด จุดนั้นก็เป็นต้นกำเนิดของบทเพลง

ส่วนการประพันธ์เนื้อร้องนั้น มีทั้งรูปแบบ “ร้อยแก้ว” และ “ร้อยกรอง”

แต่การประพันธ์แบบร้อยกรองที่มีสัมผัส ฟังแล้วไพเราะ ผู้ขับร้องท่องจำได้ง่าย

หมอวราห์นั้นได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่ประพันธ์เนื้อร้องได้ไพเราะ มีสัมผัสนอก และสัมผัสใน

แต่หมอวราห์บอกว่า “เป็นคนแต่งกลอนไม่เป็น”

อานิสงส์ที่ทำให้หมอวราห์แต่งเนื้อร้องได้อย่างมีสัมผัสนั้นมาจากการอ่านหนังสือ

ช่วงที่อยู่บ้าน คุณพ่อของหมอวราห์ชอบสะสมหนังสือ ช่วงนั้นมีวรรณคดีมากมาย

มีสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน มีพระอภัยมณี มีรามเกียรติ์ มีอิเหนา

มีขุนช้างขุนแผน และอื่นๆ มากมาย

หมอวราห์ได้อ่านหนังสือเหล่านั้นตั้งแต่ต้นจนจบ อ่านเล่มละ 2-3 ครั้ง

บทกลอนของบรมครูจึงติดฝังอยู่ในหัวของคุณหมอมาตั้งแต่นั้น

นอกจากนี้ คุณหมอยังซาบซึ้งกับเนื้อเพลงของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และเนื้อเพลงของ สุรัฐ พุกกะเวส

ทั้งสองท่านถือเป็นดุริยกวี

ดังนั้น เมื่อหมอวราห์คัดลอกเนื้อเพลงที่ประทับใจอยู่เป็นประจำ เนื้อเพลงเหล่านั้นก็กลายเป็น “ต้นทุน” ในตอนที่หมอวราห์แต่งเนื้อร้อง

ขณะเดียวกัน การประพันธ์ทำนอง และเนื้อร้อง ผู้ประพันธ์จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องดนตรี

แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้สิ่งที่หมอวราห์ทิ้งท้ายไว้ในบทความไม่ได้

หมอวราห์ฝากไว้ว่า เพลงคือการสื่อสารมวลชนอย่างหนึ่ง

การสื่อสารสิ่งที่ดีงามย่อมทำให้เกิดความงดงามของวัฒนธรรม

และก่อประโยชน์ต่อสังคมและหมู่คณะ

ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา หลังจากเผยแพร่เนื้อเพลงออกไป

ต้องคำนึงว่าผู้ฟังเป็น “มวลชน” มีหลากหลาย มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มีทั้งชาย หญิง

การทำอะไรลงไปต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ติดตามมา

อย่าคิดแต่รายได้หรือผลกำไรหรือเอาใจตลาดเพียงอย่างเดียว

นี่คือคุณธรรมของผู้ผลิตเนื้อหา

ความจริงแล้วเป็นคุณธรรมของผู้ประกอบการวิชาชีพทุกวิชาชีพที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ

ต้องคำนึงถึงคนส่วนมาก คำนึงถึงสังคม

นี่แหละคุณธรรม

กราบขอบพระคุณศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ อีกครั้งสำหรับหนังสือดีๆ ที่ส่งมาให้อ่าน

แถมยังมีบทความที่ให้ทั้งความรู้และข้อคิด

โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรมที่ทุกวิชาชีพพึงมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image