คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : ค่าแรง 400 รู้แล้วจะหนาว

มีคนบอกว่าปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ต้องใช้ทฤษฎีจับแพะชนแกะ

หัวข้อชวนคุยวันนี้ยังอยู่ในซีรีส์ค่าแรง 400 บาท หนังชีวิตเรื่องยาวทั้งของลูกจ้างและนายจ้าง

สืบเนื่องจากนโยบายหาเสียงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท สาเหตุที่ต้องตื่นเต้นเพราะได้พัฒนากลายเป็น 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เรียบร้อยแล้ว

โดยรอบนี้ ถ้าต้องทำเพื่อไม่ให้เสียคำพูด ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันวันละ 325 บาท จะถูกปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท มีคนคำนวณแล้วว่าขึ้นประมาณ 23%

Advertisement

คำถามเด้งขึ้นมาทันที เชื่อว่าหลายคนคิดตรงกันแน่นอน บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์จะขึ้นราคาหรือเปล่าเนี่ย ต้องแพงขึ้นแน่ๆ เลย

เรื่องนี้ไปทำการบ้านมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ มี 2 ข้อคิดเห็นจากดีเวลอปเปอร์และนักวิจัยอสังหาริมทรัพย์ชื่อเสียงโด่งดังของเมืองไทย

เรามาเริ่มกันที่ “ป้ามด-ดุษฎี ตันเจริญ” เอ็มดีหญิง ค่ายมั่นคงเคหะการ ใช้ตัวย่อในตลาดหุ้นว่า MK เจ้าของหมู่บ้านชวนชื่นที่เจอได้ทุกหัวระแหง

ทาง MK มองว่า นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็น 400-425 บาท เพิ่มขึ้น 80-100 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 25-30% นั้น

ถอดสูตรต้นทุนพัฒนาโครงการออกมา ปกติ การก่อสร้างมีสัดส่วนค่าแรงอยู่ที่ 30% บวกกับค่าวัสดุอยู่ที่ 70%

แปลว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ต้นทุนการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นมา 30% ของ 30% งงมะ

สมมุติ ต้นทุน 1 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 3 แสนบาท ในจำนวน 3 แสนบาท แบ่งเป็นค่าแรง 30% หรือ 9 หมื่นบาท กับค่าวัสดุ 70% หรือ 2.1 แสนบาท

เพราะฉะนั้น ถ้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30% จะทำให้ต้นทุนค่าแรง 9 หมื่นบาท มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% กลายเป็น 9 หมื่น +2.7 หมื่นบาท = 1.17 แสนบาท

หรือทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 3.27 แสนบาท นั่นเอง

ถ้าบ้านราคา 1 ล้าน มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 5 แสนบาท ค่าแรง 30% จะเท่ากับ 1.5 แสนบาท ถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 ต้นทุนเพิ่ม 30% หรือ 4.5 หมื่นบาท

ค่าก่อสร้างในภาพรวมก็จะกลายเป็น 5.45 แสนบาทนั่นไง

บังเอิญว่าคุณป้าไม่ได้บอกมาซะด้วยสิว่าค่าวัสดุเอย ค่าเสาเข็ม ค่าถมดิน ค่าขนส่งอีกต่างหาก ล้วนแต่ใช้แรงงานคนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงอยู่ในราคาวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วน 70% ของต้นทุนรับเหมาก่อสร้าง

กระโดดข้ามมาคำตอบสุดท้าย ค่าแรง 400 รอบนี้น่าจะทำให้บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์มีโอกาสแพงขึ้น 5-10%

อันนี้ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เป็นแนวโน้มที่บ้านจะแพงขึ้นได้ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวทำอะไรเลย เช่น หันมาใช้ระบบสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น จบงวดก่อสร้างให้สั้นที่สุด เคยสร้าง 6 เดือน เหลือ 5 เดือน หรือ 4 เดือนได้หรือเปล่า

ถัดมา “ดร.โสภณ พรโชคชัย” บอสใหญ่สำนักวิจัย AREA-เอเยนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เพิ่งคุยกันมาสดๆ ร้อนๆ

ถามว่าปรับค่าแรงรอบนี้บ้านจะแพงขึ้นรึเปล่า ดอกเตอร์ปาดปากก่อนตอบคำถามเป็นฉากๆ ตัวเลขสมมุตินะครับ บ้านราคา 3 ล้าน แบ่งเป็นต้นทุนที่ดิน 2 ล้าน ค่าสร้างอาคาร 1 ล้านบาท

ในต้นทุนอาคาร 1 ล้าน แยกเป็นค่าแรง 3 แสนบาท กับค่าวัสดุ 7 แสนบาท ถ้าปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้นทุนเพิ่ม 20%

คำนวณได้ว่า ค่าแรง 3 แสนบาท ต้นทุนเพิ่ม 20% เพิ่ม 6 หมื่นบาท กลายเป็น 3.6 แสนบาท จากนั้น ก็หยิบเครื่องคิดเลขมากดคำนวณดู คูณโน่นหารนี่ เบ็ดเสร็จทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 2.3% เท่านั้น

ที่สำคัญ พ่อแม่พี่น้อง สถิติย้อนหลัง 5 ปี ราคาวัสดุก่อสร้างแทบไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหน เพราะแข่งขันสูงเหลือเกิน ไทยแข่งกับไทยไม่พอ มีพี่จีนเข้ามาตีข่มขย่มตลาดเป็นว่าเล่นอีกต่างหาก ผู้ผลิตอยากขึ้นราคาใจจะขาดก็ทำไม่ได้ หรือทำได้ยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม “ดร.โสภณ” ออกตัวตั้งแต่แรกว่ามีบทบาทเป็นรองประธานองค์การนายจ้างด้วย เพราะฉะนั้น ยกสองมือโหวตให้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

หลักการคือควรปรับทุกปี ล้อไปตามดัชนีเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อก็คือค่าครองชีพ รายได้ต่ำกว่าค่าครองชีพ ลูกจ้างก็มีค่าเท่ากับเจ๊งสิครับ

คำถามว่าบ้านจะแพงขึ้นหรือเปล่า ดูเหมือนข้อมูลมาจากแม่น้ำคนละสาย เอายังไงดีหว่า

เนี่ยเลย บุคคลที่ 3 “พี่แหม่ม-สมถวิล ลีลาสุวัฒน์” เรียกตัวเองอย่างเหนียมๆ ว่าเป็น content creater แต่ความจริงพี่แหม่มเป็นกูรูคอนเทนต์อสังหาริมทรัพย์ของวงการ เป็นผู้ช่วย บก.ข่าวประชาชาติธุรกิจ และเป็น boss ของผู้เขียน

พี่แหม่มเปิดประเด็นเข็มขัดสั้น (คาดไม่ถึง) เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย จ่ายค่าแรงไปแล้ว เงินไปไหน ไปกับใคร ก้อนใหญ่แค่ไหน แล้วทำไมเศรษฐกิจบ้านเราถึงได้ดูฝืดเคือง บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยทำไมวังเวงมองไม่เห็นเดือนเห็นตะวันสักที

โยนลูกมาขนาดนี้ก็ต้องโพนทะนาต่อ ก่อนหน้านี้ได้ชวนคุยไปแล้วว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย เป็นค่าจ้างตำแหน่ง “กรรมกรแบกหาม” ซึ่งกลายเป็นตำแหน่งงานที่คนไทยรังเกียจเดียดฉันท์ ไม่ทำ เพราะเป็นงานหนัก และสกปรก

ตำแหน่งงาน “กรรมกรแบกหาม” จึงกลายเป็นถูกจับจองโดยแรงงานต่างด้าวเกือบ 100% ในปัจจุบัน

ขยักต่อมา ไหน ลองคำนวณดูซิ ประเทศไทยตอนนี้พึ่งแรงงานต่างด้าวกี่คน ข้อมูลจาก “น้องกอล์ฟ ประชาชาติ” แจ้งว่า กระทรวงแรงงานเผยแพร่แรงงานต่างด้าวจดทะเบียนถูกกฎหมายไทย มีจำนวน 3.09 ล้านคน let?s say ซะว่ามี 3.1 ล้านคน

งานนี้ถ้าย่องไปถามเอกชน เขาคงป้องปากกระซิบมาว่าของจริง ถ้ารวมแบบถูกมั่งไม่ถูกมั่งน่าจะปาเข้าไป 4-5 ล้านคน

ลองจับตัวเลขมาชนกัน แรงงานต่างด้าว 3-4 ล้านคน ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เท่ากับนายจ้างควักจ่ายให้ทุกวัน วันละ 900-1,200 ล้านบาท

คำนวณยกเดือน คูณด้วย 30 วัน เราจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 27,000-36,000 ล้านบาท

คำนวณยกปี คูณด้วย 12 เดือน เราจ่ายค่าแรงขั้นต่ำปีละ 324,000-432,000 ล้านบาท

อ่านว่าปีละ สามแสนกว่าล้านบาท ไปจนถึงปีละสี่แสนกว่าล้านบาท

วงเงินมหาศาลขนาดนี้ แล้วทำไมเศรษฐกิจประเทศ

ไทยถึงไม่สะพัดล่ะ ทำไมโต้รุ่งวังเวง ฟุตปาธมีแต่พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่มือสมัครเล่น มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ เงินหายไปไหน มนุษย์เงินเดือนถูกเลย์ออฟจนจะหมดออฟฟิศกันหมดแล้ว

ถ้าเงินค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 3-4 แสนล้านบาท หากมีการนำมาหมุนเวียนใช้ในระบบเศรษฐกิจ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ดูหนัง เดินห้าง ซื้อเสื้อผ้า มอเตอร์ไซค์ จ่ายค่าเทอมลูก เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ จะหมุนได้อีกตั้งกี่รอบ กลายเป็นมูลค่า 2-3-4 ล้านล้านบาท

แต่ภาพเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะค่าแรงขั้นต่ำในเมืองไทย เรากำลังสร้างเศรษฐกิจสะพัดให้กับเพื่อนบ้านอยู่…แน่ๆ เลย

คิดแล้วตกใจ จบดื้อๆ เลยดีกว่า

ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำพอใช้ทฤษฎีจับแพะชนแกะ รู้แล้วถึงกับหนาว นายกฯลุงตู่รู้หรือยัง โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image