คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เมืองอนาคต

แวะเวียนไปสถาบันพระปกเกล้าทีไรได้ “ของดี” กลับมาเสริมแต่งเติมปัญญาทุกครั้ง

ล่าสุดไปหารือกันเรื่อง “รางวัลพระปกเกล้า” ที่มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น

โดดเด่น “ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมและโปร่งใส” ก็ได้

โดดเด่น “ด้านส่งเสริมการสร้างสมานฉันท์” ก็ได้

Advertisement

โดดเด่น “ด้านส่งเสริมการสร้างเครือข่าย” ก็ได้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่ทำได้เข้ามาตรฐานก็มารับใบประกาศเกียรติคุณหรือโล่ดีเด่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดพลาดใบประกาศและโล่ ก็จะได้รับข้อสรุปในการประเมิน

Advertisement

องค์กรใดนำเอาข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาองค์กร อีกไม่กี่ปีถ้าสมัครเข้ามาประกวดอีก

โอกาสจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ และโล่รางวัลก็อยู่แค่เอื้อม

คอลัมน์นี้เคยบอกไปแล้ว ตอนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครมาเยอะ

และปิดรับสมัครพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดกันแล้ว

คาดว่ากันยายนจะได้ผล แล้วรับรางวัลกันในเดือนตุลาคม

ขอวกกลับมาเรื่อง “ของดี” ที่ได้มา

“ของดี” ที่ว่าคือหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “SMART CITY GUIDE BOOK”

หรือ “เมืองอัจฉริยะ” ที่กำลังฮิตในมวลหมู่ “ท้องถิ่น” ของไทย

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ศ.ดร.เอกชัย สุมาลี และ ชัยวุฒิ ตันไชย

เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ที่เป็นแนวคิดพัฒนาเมืองในปัจจุบัน

แนวคิดนี้ไม่ได้นิยมเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เป็นที่นิยมของสากลด้วย

ข้อสงสัยก็คือว่า แล้วเมืองที่จะพัฒนานั้น จะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร ใครเป็นคนขับเคลื่อน

กระบวนการและวิธีการขับเคลื่อนจะมีขั้นตอนเช่นไร

นี่คือเป้าหมายของการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

เนื้อหาที่ปรากฏ เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

ดึงเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่งของไทย มาร่วมพัฒนาองค์ความรู้

ผลจากการวิจัยได้พัฒนากลายเป็นเนื้อหาที่อ่านง่าย

อธิบายเมืองอัจฉริยะให้รับทราบ

เริ่มจากนิยาม “เมืองอัจฉริยะ” คือ เมืองที่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตในเมืองๆ นั้นดีขึ้น

ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลงอย่างยั่งยืน

แล้วชวนมองเมืองอัจฉริยะในมิติต่างๆ เช่น ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง ด้านธุรกิจและลงทุน

พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศให้ได้สัมผัส

ทั้ง ลอนดอน บาร์เซโลนา อินซอน

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับภาพรวมและระบบย่อยของการทำงานของเมืองอัจฉริยะ

สุดท้ายคือแนะนำ 8 ขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย

หนึ่ง เริ่มต้นการพัฒนา หัวใจสำคัญคือมีความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่จะทำ

สอง วิจัยและสำรวจ การทำความเข้าใจต้องเข้าใจทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

จำเป็นต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ผ่านการวิจัย

สาม กำหนดเป้าหมายการพัฒนา เอาให้ชัดเจนในทุกมิติที่จะทำ

พร้อมกันนั้นน่าจะแบ่งระยะเวลาของเป้าหมายให้ชัดเจน

สี่ ระบุสิ่งที่ต้องทำในการเป็นเมืองอัจฉริยะ คือ การระบุวิธีการและขั้นตอนการดำเนินการสู่ความสำเร็จ

ห้า วางแผนเชิงยุทธศาสตร์

หก พัฒนาแผนการลงทุน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้งานสำเร็จ

การพัฒนาเมืองไม่ใช่ทำวันสองวันเสร็จ การลงทุนกับการพัฒนานี้ก็จำเป็นต้องใช้เงิน

ดังนั้น เมื่อมีแผนงาน ก็ต้องมีแผนเงิน เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ไม่ติดขัด

เจ็ด บริหารจัดการความเสี่ยง หรือหาแนวทางรับมือกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้อุปสรรคกระทบกับความสำเร็จในการพัฒนา

และแปด กำหนดตัวชี้วัดและกระบวนการประเมินผล

ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด หรือไม่ก็นำไปสู่การปรับแผนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดิมได้สำเร็จ

นี่เป็นแค่ภาพรวม แต่รายละเอียดของเนื้อหานั้น อยู่ในหนังสือชื่อ “SMART CITY GUIDE BOOK”

ก่อนหน้านี้ใครที่ติดตามความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับเทคโนโลยี คงได้ยินชื่อ สมาร์ท ซิตี้ มาแล้ว

รัฐบาลชุดที่แล้วก็พยายามผลักดันให้เกิด สมาร์ท ซิตี้ เป็นเมืองนำร่อง

เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา

ทั้งแนวคิดที่นำมา และความตั้งใจในการพัฒนา ยังคงวนเวียนอยู่ในกลุ่มผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารกระทรวง

ขณะที่ความสำเร็จในการพัฒนาควรจะมีภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วย

การมีโอกาสได้ทำความเข้าใจกับ สมาร์ท ซิตี้ จึงเป็นเรื่องดี

การได้ทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกับสมาร์ท ซิตี้ ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน

นี่แหละ “ของดี” ที่บอกว่าได้รับมาจากสถาบันพระปกเกล้าครั้งนี้

“ของดี” ที่เป็นความรู้เพิ่มเติม “ของดี” ที่สร้างความเข้าใจมากขึ้น

ได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสมาร์ท ซิตี้

เป็นเมืองในอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เรามากขึ้นทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image