คอลัมน์ โลกสองวัย : หลักสูตร ‘ธรรมาภิบาลทางการแพทย์’

บอกกล่าวผู้ที่นิยมเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ ทุกวันนี้มีนับสิบนับร้อยหลักสูตร มีทั้งหลักสูตรไม่ต้องเสียค่าอบรม แต่ต้องเสียค่าอื่นๆ ที่ทางหลักสูตรไม่ได้จัดการให้ เช่น ค่าเดินทางไปดูงานต่างประเทศทั้งใกล้ทั้งไกล หลักสูตรที่ต้องเสียค่าอบรมเป็นเงินหมื่นเงินแสน รวมทั้งค่าเดินทางไปต่างประเทศ

หลักสูตรที่ขอแนะนำหลักสูตรนี้ รุ่นที่ 8 เป็นความร่วมกันระหว่างสถาบันพระปกเกล้า กับแพทยสภา ชื่อหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปพธ) รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2562

ที่ http://www.kpi.ac.th/course-ptp8-2019/

โครงการนี้ เป็นโครงการเกิดตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้วงการแพทย์ผ่านคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ.2553 ณ โรงพยาบาลศิริราช ในการแก้ปัญหาวงการแพทย์ว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร”

Advertisement

แพทยสภานำมาสร้างเป็นหลักสูตรโดยอาศัยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนโดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์

มีคำอธิบายว่า “เข้าใจ” เรียนรู้หลักธรรมาภิบาลและการเมืองการปกครองเข้มข้นจากสถาบันพระปกเกล้า และเรียนรู้ระบบการแพทย์ไทยจากแพทยสภา

“เข้าถึง” ดูงานโรงพยาบาลใน 4 เสาหลัก และหน่วยที่เกี่ยวข้องกว่า 20 แห่ง เข้าใจระบบการแพทย์ ต่อยอดในการบริหาร เห็นของจริง เรียนรู้จากปัญหาจริง และจากผู้ปฏิบัติงาน

Advertisement

“พัฒนา” ทำงานวิจัย 10 กลุ่ม เพื่อวางยุทธศาสตร์วงการแพทย์ และแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขประเทศอย่างยั่งยืน ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำไปใช้จำนวนมากในแผนพัฒนาหลายด้านของประเทศ

“เสียสละ” เรียนรู้การเสียสละให้สังคม ร่วมกันทำงานเพื่อคนอื่น จัดงานอาสาร่วมกับรุ่น 1-7 ในหลายโครงการ และเตรียมออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งที่ 8 ของ ปธพ.เอง (8-10 พฤษภาคม 2563) ที่จังหวัดสุโขทัย ด้วยการสนับสนุนของ ปธพ. 1-7 และมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์

งานวิจัยทั้ง 10 กลุ่ม ร่วมกันคิดแก้ปัญหาวงการแพทย์ ระหว่างแพทย์ และบุคคลนอกวงการแพทย์ นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการแพทยสภา เดือนพฤศจิกายน 2563

จากพระราชดำรัสได้รับการนำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขไทยด้วยการนำแพทย์ที่สำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิต จาก 21 สถาบันมาเรียนรู้ร่วมกันเป็นพี่น้อง “อ่อนน้อม” ต่อกัน ในบริบท 4 เสาหลัก คือ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัย 3.ทหาร ตำรวจ กรุงเทพมหานคร และ 4.เอกชน ที่มีจุดแข็งต่างกัน “ทุกคนมีดี” ต่างกัน ร่วมเรียนรู้ ดูข้อเท็จจริง จากองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มิใช่แพทย์ ทั้ง 5 ภาครัฐ และ 6 ภาคเอกชน จากการนำ “ธรรมาภิบาล” เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหา ด้วยการวิจัย และนำทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมแพทย์อาสา ให้เข้าใจความขาดแคลนจริงของพื้นที่ในต่างจังหวัด และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อปฏิรูประบบใหม่

ทั้งนี้ ต้องการนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนรู้ “มีเวลา” มีจิตอาสา และต้องการเข้าใจระบบแพทย์และระบบสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการ

กรอกใบสมัครด้วยตัวเองเพื่อแสดงความตั้งใจ สัดส่วนจะเป็นแพทย์ 70 คน (จากทุกส่วน) หน่วยราชการและภาครัฐจากการเชิญ 30 คน ภาคเอกชน 40 คน รวม 140 คน อายุระหว่าง 40-65 ปี ไม่อยู่ระหว่างเรียนหลักสูตรใด เปิดการศึกษาวันที่ 24 กันยายน (วันมหิดล) ที่โรงพยาบาลศิริราช

การเรียน วันศุกร์-วันเสาร์ เต็มวัน ช่วงเดือนตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563 ภาคเอกชนต้องผ่านการสัมภาษณ์วันที่ 21 สิงหาคม 2562 โดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับแพทยสภา

ค่าธรรมเนียมการศึกษา 75,000 บาท สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2141-9614, 0-2141-6994

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image