สุจิตต์ วงษ์เทศ : กึ่งดิบกึ่งดี ลูกผีลูกคน การศึกษาไทย ในโลกอนาคต

อำนาจนิยมในการศึกษาไทย ดูจากกิจกรรมรับน้องใหม่ (จากเพจ ANTI SOTUS ภาพจาก มติชนออนไลน์)

“เรามีระบบการศึกษาที่ลอกเลียนระบบการศึกษามวลชนแบบตะวันตกทุกอย่าง

แต่เนื้อหาข้างในด้านการเรียนการสอน กลับย้อนกลับไปเหมือนการศึกษาในสมัยโบราณ”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกในข้อเขียนเรื่อง “วัฒนธรรมเมสติโซ่ในเอเชียอาคเนย์” (มติชนสุดสัปดาห์ 26 ก.ค.-1 ส.ค. 2562 หน้า 30-31)

การศึกษาในสมัยโบราณของไทยคงมีหลายแบบ แต่แบบที่เป็นต้นทางของการศึกษาไทย ได้แก่ การศึกษาในวัดของพระสงฆ์เรียนบาลี-นักธรรม มีศูนย์กลางอยู่ที่ครูอาจารย์สาธยายวิชาความรู้ภาษาบาลีและธรรมะต่างๆ ในชาดก ส่วนผู้เรียนคือศิษย์คอยจดและจำคำสอนสาธยายนั้น แล้วท่องจำให้เหมือนครูอาจารย์ทุกถ้อยคำ ห้ามคิดต่างและห้ามจำครูอาจารย์คนอื่น หรือสำนักอื่น

Advertisement

ใครจำเหมือนครูอาจารย์มากที่สุด คนนั้นได้รับยกย่องว่าเก่งสุด ส่วนใครคิดต่างจากครูต้องถูกลงโทษว่าแหกคอก นอกครู เสียผู้เสียคน

ทั้งหมดแสดงลักษณะอำนาจนิยมอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน การศึกษาส่วนมากของไทยแม้จัดการเรียนการสอนแบบตะวันตก แต่ยังสืบทอดประเพณีการศึกษาของพระสงฆ์ไทยสมัยโบราณ ได้แก่ ท่องจำตามครูสอน และห้ามเถียง ห้ามอ่านและอ้างอิงหนังสืออื่นที่คิดต่าง โดยเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์ที่ลงท้ายด้วยคำว่าไทย เช่น ดนตรีไทย, นาฏศิลป์ไทย, ภาษาไทย, วรรณคดีไทย, ประวัติศาสตร์ไทย, โบราณคดีไทย ฯลฯ

Advertisement

มหาวิทยาลัยไทยเกือบทุกแห่งยังอนุรักษ์การศึกษาแบบนี้อย่างแข็งแกร่ง แสดงออกทางอำนาจนิยมด้วยกิจกรรมรับน้องใหม่ ฉะนั้น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในไทย ยังอีกไกล หรือไม่มีโอกาสเกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image