อาศรมมิวสิก : ซิมโฟนีหมายเลข8 (บดินทร) ผลงานชิ้นใหม่ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร : บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในสายวิชาการประพันธ์ดนตรีซิมโฟนีของเมืองไทยที่เราอาจเรียกว่า “รุ่นใหม่นั้น” คงพอจะกล่าวได้ว่า ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นั้นอยู่บนแผนภูมิขั้นบนสุด เพราะนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกชาวไทยที่มีอยู่ไม่มากมายนี้ เกือบทุกคนเคยเป็นลูกศิษย์ในวิชาการประพันธ์ดนตรีของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ มาก่อน นับจวบมาจนถึงปัจจุบัน ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ก็ยังคงมีผลงานการประพันธ์ดนตรีออกมาอย่างไม่ห่างหายกันไปเสียทีเดียว และเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ทางวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) ได้นำผลงานซิมโฟนีบทใหม่ นั่นคือ ซิมโฟนีหมายเลข 8 ที่มีฉายาว่า “บดินทร” ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ออกแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การอำนวยเพลงโดย มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยการดนตรีคนปัจจุบันของวง บทเพลงนี้จัดเป็นผลงานดนตรีที่มีโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ทั้งภายในและภายนอกที่น่าจะต้องบันทึกไว้ในความทรงจำด้วยเหตุผลทางคุณค่าแห่งดุริยางคศิลป์อย่างแท้จริง

ในสายตาหรือความเห็นของบรรดาผู้รู้ “สายแข็ง” ทั้งหลายอาจมองว่าผลงานของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ยังอาจมีความเป็น “โรแมนติก” อยู่บ้าง ไม่ใช่ผลงานในแบบ “ล้ำยุค” ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่น่าอภิปรายอยู่ไม่น้อย เพราะดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่มีลักษณะความเป็นนามธรรมสูงอยู่ในตัวโดยธรรมชาติ แม้แต่ดนตรีในศตวรรษที่ 18 อย่างของโมซาร์ท (W.A.Mozart) หรือไฮเดิน (F.J.Haydn) ก็ยังถูกกล่าวหาว่า “ฟังไม่รู้เรื่อง” มาจนทุกวันนี้ ยิ่งหลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สายศิลปินสร้างสรรค์แต่งเพลงก็ก้าวหน้าพัฒนาไปถึงขั้น “ไร้บันไดเสียง” (Atonality) เปิดโอกาสในการใช้เสียงกระด้างหู, ระคายหูกันได้อย่างไม่จำกัด ในสายตา มุมมองของนักแต่งเพลงมันคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นหัวก้าวหน้า ทรงภูมิรู้แห่งทฤษฎี แต่ในมุมมองของผู้ฟังมันคือ “ดนตรีฟังยาก” ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความรู้สึก “ฟังไม่รู้เรื่อง” มากขึ้นเป็นทวีคูณ (จากข้อหาดนตรีคลาสสิกฟังยากที่แก้ไขลำบากอยู่แล้ว) ยิ่งฟังไม่รู้เรื่อง ก็ยิ่งไม่สามารถสร้างการสื่อสารได้ (ดนตรีและศิลปะเป็นเรื่องของการสื่อสารอย่างปฏิเสธไม่ได้) อาจมีเหตุผลที่อ้างกันว่าดนตรีแบบนี้ต้องใช้ระยะเวลา (บางทีข้ามหลายชั่วอายุคน) ในการพิสูจน์คุณค่าตัวเองเสมือนกับผลงานหลายชิ้นของดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งนั่นก็เป็นอนาคตที่ไม่มีใครมองเห็นหรือคาดเดาได้

และก็คงต้องปล่อยให้เป็นประเด็นที่ไร้บทสรุปและมืดมนกันต่อไป (ใครเล่าจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำตอบหรือบทสรุปได้กับเรื่องแบบนี้?)

ผู้เขียนอภิปรายประเด็นเรื่องเสียงกระด้างหรือสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยในการแต่งเพลง
ซิมโฟนีมายืดยาว ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้เขียนเชื่อว่าในระดับความรู้ทางทฤษฎีดนตรีแล้ว ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ก็มิได้เป็นรองใคร นักแต่งเพลงซิมโฟนีที่ยังมีชีวิตอยู่ผ่านประสบการณ์แต่งดนตรีซิมโฟนีมากว่า 3 ทศวรรษ มีหรือที่จะไม่มีความรู้ในระดับการแต่งเพลงแบบไร้บันไดเสียง ที่ไม่ทำไม่ใช่เพราะทำไม่ได้ แต่เป็นการจงใจเลือกที่จะไม่กระทำต่างหาก ศิลปินระดับนี้สามารถเลือกใช้และกำหนดองค์ประกอบทางการสร้างสรรค์ผลงานได้ประดุจช่างฝีมืออยู่แล้ว แต่ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ยังคงปรารถนาที่จะสื่อสารกับผู้ชม ผู้ฟัง ด้วยเสียงดนตรีที่ไม่ขัดกับธรรมชาติแห่งการรับรสทางดนตรีของมนุษยชาติ นั่นคือการใช้เสียงกระด้างที่พอเหมาะพอควร ไม่สร้างความตึงเครียดต่อความรู้สึกของผู้ฟังมากเกินไป และเสียงดนตรีที่จะต้องนำไปสื่อสัมพันธ์กับความหมายรอง หรือแม้แต่ในซิมโฟนีหมายเลข 8 บทนี้ที่ต้องนำภาษาแห่งดุริยางคศิลป์ไปสัมพันธ์กับงานวรรณศิลป์ของไทยในระดับร้อยกรองขั้นสูง

Advertisement

การนำดนตรีซิมโฟนีมาประกอบผสานเข้ากับวรรณศิลป์ร้อยกรองขั้นสูงของไทยในระดับการอ่านโคลงและคำฉันท์ คงจะเป็นสิ่งที่เราอาจไม่พบเจอได้ง่ายๆ ในชีวิตนี้ เพราะการประพันธ์คำฉันท์ต้องมีไวยากรณ์ จำนวนหน่วยพยางค์ที่กำกับอย่างแน่ชัดตายตัว ทั้งนี้ไหนยังจะต้องคำนึงถึงเรื่องเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยที่มีระดับเสียงคล้ายเสียงดนตรีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าระดับเสียงดนตรีไม่สอดคล้องกับเสียงวรรณยุกต์ก็อาจจะทำให้คำฉันท์มีความหมายผิดเพี้ยนไปจนอาจถึงกับน่าขบขันได้ทีเดียว (เช่นเดียวกับเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีของเก่าเดิมในวรรคสุดท้ายที่ว่า “ดุจจะถวายชัยชะนี้”!) นพ.ธำรงค์รัตน์ แก้วกาญจน์ เป็นผู้ประพันธ์ทั้งโคลงและฉันท์ได้อย่างไพเราะงดงามด้วยความหมายและความงามทางวรรณศิลป์อยู่แล้ว งานหนักขั้นต่อไปคงตกอยู่ที่ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ที่จะต้องเจอโจทย์ในด้านการผสานความงามของวรรณศิลป์ขั้นสูงของไทยเข้ากับดุริยางคศิลป์ขั้นสูงของทางตะวันตก ทั้งนี้จะต้องคงทั้งความงามและความหมายของศิลปะทั้งสองด้านให้ควบคู่กัน

และที่สำคัญคือความชัดเจนในการอ่านโคลงและคำฉันท์ ที่จะต้องไม่ให้เสียงของวงออเคสตราไปดังจนกลบ หากแต่จะต้องทำให้เสียงของวงออเคสตราไปส่งเสริมความหมายทางวรรณศิลป์ให้ชัดเจนขึ้น (แบบที่เราอาจเรียกวิธีการนี้ว่า “Word Painting”)

กิตตินันท์ ชินสำราญ ศิลปินนักร้องเดี่ยวเสียงเบส-บาริโทนดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานนี้ นอกจากจะต้องใช้เทคนิค ความสามารถในระดับสากลในการขับร้องเดี่ยวแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ในการอ่านโคลงและฉันท์ ซึ่งเป็นศิลปะการอ่านออกเสียงงานวรรณกรรมไทยขั้นสูงให้ชัดเจนสวยงาม ซึ่งนี่เราอาจเรียกกันว่า “กึ่งร่าย” (Recitative) ในอีกแขนงหนึ่งที่กิตตินันท์ได้ใช้ความสามารถด้านเสียงเฉพาะตัวและเฉพาะทาง ได้อย่างงดงามทั้งในการขับร้องและการอ่านคำประพันธ์ น้ำเสียงของเขาเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ พลังและบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่โดดเด่น ช่วยส่งเสริมความงามของงานวรรณศิลป์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เป็นที่สุด นี่ไม่ใช่เป็นการใช้แค่ความสามารถทางการขับร้องเพลงขั้นสูงแบบคลาสสิกตะวันตก (ที่เรียกว่า “Bel Canto”) เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเรียกร้องในสิ่งที่เป็นความหลากหลาย รอบตัว ด้านอื่นๆ ที่วิชาการขับร้องเพลงแบบตะวันตกไม่สามารถครอบคลุมถึง สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ และวงขับร้องประสานเสียงรวมจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็คือ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์สามารถเขียนแนวของวงขับร้องประสานเสียงให้สามารถขับร้อง-ถ่ายทอดบทวรรณกรรมที่เป็นภาษาไทยให้ออกเสียงถ้อยคำเนื้อความภาษาไทยได้ชัดเจน ไม่ทำให้ความอื้ออึงของวงออเคสตราและเสียงร้องของนักร้องจำนวนมากมาย มากลบความชัดเจนทางการออกเสียงภาษาไทย ทั้งหมดนี้คือความโดดเด่นของการผสานศิลปะทั้งวรรณศิลป์และดุริยางคศิลป์เข้าด้วยกันได้อย่างงดงาม และที่ทั้งน่าสังเกตและน่ากล่าวถึงก็คือใจความดนตรีหลักของท่อนสุดท้าย (Motif) 7 พยางค์ ที่อัญเชิญพระนาม “มหาวชิราลงกรณ” ซึ่งสอดรับกันทั้งในส่วนของการขับร้องและการบรรเลงดนตรี ที่ปรากฏขึ้นอย่างมีความหมายทางดนตรี ทำหน้าที่ตอกย้ำใจความหลักทางดนตรีซิมโฟนีได้อย่างโดดเด่นและสร้างความมีเอกภาพให้เกิดขึ้นตลอดทั้งท่อนสุดท้ายนี้

Advertisement

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือบทเพลงในท่อนที่ 5 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายและเป็นจุดสูงสุดของบทเพลง มีอัตราความยาวครึ่งหนึ่งของบทเพลงทั้งหมด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าบทเพลงใน 4 ท่อนแรกที่บรรเลงด้วยวงออเคสตราล้วนๆ จึงทำหน้าที่เสมือนบทนำ (Prelude) ที่พาเข้าสู่ความอลังการแห่งการร่ายและขับประสานในตอนจบ แม้กระนั้นบทนำทั้ง 4 ท่อนก็ได้ทำหน้าที่ทางดนตรีได้อย่างมีความหมายสมบูรณ์ชัดเจนในตัวเอง นับแต่การเปิดการบรรเลงแนวทำนองหลัก (Main Theme) ขึ้นมาในทันที ผสานด้วยใจความบางส่วนจากเพลงไทยโบราณขับไม้บัณเฑาะว์ซึ่งทำหน้าที่เสมือนตัวแทนแห่งยุคสุโขทัย การเลือกใช้ใจความดนตรีจากเพลงขับไม้นี้ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์สามารถปรับประยุกต์ด้วยวิธีการดนตรีแบบซิมโฟนีตะวันตกได้อย่างมีรสนิยม กล่าวคือหากหยิบยกแนวทำนองเดิมๆ มาใช้ชัดๆ ก็อาจฟังดูเคอะเขินและให้รสชาติที่อาจจะแปร่งหูไม่ลงรูปลงรอยกับลักษณะภาษาซิมโฟนีสากล ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์จึงทำการปรับแต่งใจความดนตรีขับไม้นี้เล็กน้อย ลบเหลี่ยม, ลบมุม, อำพรางโฉม เมื่อนำมาบรรจุกับใจความหลักของซิมโฟนีที่แต่งขึ้นใหม่มันจึงผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันทางดนตรีได้อย่างลงรอยกัน ผู้เขียนเชื่อว่าหากผู้ฟังไม่ได้ตั้งใจ, ตั้งสมาธิในการฟังให้ดีก็อาจจะไม่สังเกตเห็นถึงใจความทำนองเพลงขับไม้ที่ถูกอำพรางโฉมนี้ด้วยซ้ำไป ทั้งแนวทำนองหลักที่เขียนขึ้นใหม่และแนวทำนองขับไม้ (ที่ถูกแปลงโฉม) ทำหน้าที่ทางดนตรีซิมโฟนีได้อย่างชัดเจนเหมาะสม

อีกทั้งมีความแยบยลและแนบเนียนเพื่อมิให้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเกินไป แต่ถ้าผู้ฟังได้ใช้สมาธิจดจ่อก็สามารถจับสังเกต ติดตามความเคลื่อนไหวในการพัฒนาพลิกแพลง “ใจความหลักทางดนตรี” ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้โดยตลอด

บทเพลงปิดลงอย่างสมบูรณ์ด้วยตรรกะโครงสร้างของดนตรีซิมโฟนีนั่นคือการหวนย้อนมาปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่ด้วยใจความหลักทั้ง 3 ส่วนคือ โมทิฟ “มหาวชิราลงกรณ” โดยกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (แตร), โมทิฟขับไม้ (กลุ่มเครื่องสาย) ในลีลาแบบเพลงมาร์ชและโมทิฟหลักของบทเพลง (ที่เขียนขึ้นใหม่) นี่ต้องนับว่าไม่ใช่งานซิมโฟนีประกอบการอ่านคำประพันธ์ทางวรรณศิลป์ไทยและการขับร้องประสานเสียงอันยิ่งใหญ่ที่สร้างภาพเพียงลักษณะภายนอก หากแต่เนื้อในแล้ว ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างบรรจุแน่นด้วยเนื้อหาและวิธีการทางดนตรีซิมโฟนีภายในที่แยบยลในตัวเองอย่างน่าวิเคราะห์และน่าค้นหา สมควรแก่วิชาความรู้และประสบการณ์ทางการเขียนดนตรีซิมโฟนีมาโดยตลอดกว่า 3 ทศวรรษ และสมควรแก่สถานะปรมาจารย์ทางวิชาการประพันธ์ดนตรีของบ้านเราที่มีลูกศิษย์อยู่ไม่น้อย

สำหรับบทเพลงในครึ่งแรกของรายการนี้เป็นงานดนตรีคลาสสิกในศตวรรษที่ 18 ของดุริยกวีเอกแห่งยุคสมัยทั้งคู่คือ ซิมโฟนีหมายเลข 35 (มีฉายาว่า “Haffner”) ของโมซาร์ท และทรัมเป็ตคอนแชร์โตบทฮิตสุดยอดตลอดกาลของไฮเดิน ซึ่งซิมโฟนีของโมซาร์ทนั้นบรรเลงได้ดี เรียบร้อยพอสมควร แต่อาจไม่ถึงกับโดดเด่นในรายละเอียดมากนัก ผู้เขียนขอมองด้วยความเห็นใจจากจุดยืนของวงที่ว่าการฝึกซ้อมเพลงซิมโฟนีบทใหม่ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ก็นับเป็นงานที่หนักหนามากอยู่แล้ว และเป็นความรับผิดชอบอย่างสูงสำหรับมิเชล ทิลคิน วาทยกรต่างแดน ทั้งด้วยระยะเวลาและสถานะของวง RBSO จึงอาจทำให้รายละเอียดของซิมโฟนีของโมซาร์ทไม่โดดเด่น ชัดเจนดังที่ผู้ฟังซึ่งมีมาตรฐานสูงคาดหวัง แต่ก็ไม่ถึงกับน่านำมากล่าวตำหนิใดๆ เลย

บทเพลงทรัมเป็ตคอนแชร์โตของไฮเดินในครั้งนี้บรรเลงเดี่ยวโดย “มานู เมลเลอร์ต” (Manu Mellaerts)ศิลปินเดี่ยวชาวเบลเยียมที่สูงด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ สำหรับคอนแชร์โตบทนี้นั้นถ้าจะว่ากันในยุคปัจจุบัน อาจนับเป็นคอนแชร์โตที่ไม่ยากเย็นจนถึงขั้นที่เรียกว่า “หิน” อีกต่อไป (แบบในอดีต) มาตรฐานการเล่นทรัมเป็ตทุกวันนี้สูงขึ้นมากมายทั้งในระดับประเทศไทยและยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงในระดับนานาชาติ บทเพลงนี้จึงแทบจะกลายสถานะเป็น “คอนแชร์โตนักเรียน” กลายๆ ไปเสียแล้ว ฝีมือและประสบการณ์อันคร่ำหวอดในวงการมาหลายสิบปีอย่างมานู เมลเลอร์ต จึงบรรเลงมันได้อย่างแสนจะคล่องแคล่ว ลื่นไหลและฟังดูง่ายดาย แสดงความงดงามของตัวบทเพลงได้อย่างหมดจด ไม่มีอะไรที่น่าติติงกับมือระดับชั้นครูอย่างเขา ณ ที่นี้ความท้าทายของบทเพลงจึงกลายเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับบริบทของยุคสมัยและพัฒนาการทางวิชาชีพเฉพาะทาง

เราจะปฏิเสธความสามารถของวาทยกรต่างด้าวอย่าง มิเชล ทิลคิน ในครั้งนี้ได้หรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมการแสดงบทเพลงซิมโฟนีสัญชาติไทยในรอบปฐมทัศน์ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เขาแสดงให้เห็นว่าผลงานดนตรีที่ดีน่าจะและควรจะต้องมีความเป็นสากลในตัว (และเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ในขณะเดียวกัน) ต้องสามารถเดินทางข้ามพรมแดนในทางเชื้อชาติกำเนิดใดๆ ทั้งปวง อีกทั้งสามารถสื่อสารข้ามปราการทั้งรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายนี้ได้ ไม่นำพาเราไปสู่บทสรุปที่อาจจะฟังดูคับแคบเกินไป โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบัน บทสรุปที่ว่านั้นก็คือวาทยกรชาติใดก็จะมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในดนตรีของประเทศชาติตัวเอง เมื่อตัวบทดี, สื่อสารชัดเจนในตัวเอง ศิลปินก็สามารถถ่ายทอดเนื้อความ, ถ่ายทอดเนื้อหานั้นสู่ผู้ฟังได้อย่างน่าประทับใจโดยไม่ผูกพันกับข้อจำกัดหรือข้ออ้างใดๆ

หากเราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือซิมโฟนีขนาดใหญ่ที่มีอัตราส่วนของความเป็นไทยอยู่ในตัว (ไม่จำเป็นต้องบอกว่ากี่เปอร์เซ็นต์) แต่ได้รับการควบคุมการแสดงและถ่ายทอดความหมายในรอบปฐมทัศน์โดยวาทยกรข้ามทวีปแล้วการแสดงในครั้งนี้คือประสบการณ์ที่น่าเรียนรู้ทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image